ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ

คอลัมน์ : SD Talk

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติปลุกพลังผู้ให้ทั่วประเทศ ชวนบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยกับโครงการ “ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ” ตลอดปี 2567 โดยเพิ่มจำนวนครั้งการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้มีโลหิตสำรองเพียงพอสม่ำเสมอสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

“รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ” ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี 2567 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดโครงการ “ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ Give Blood, Give Lives, Give Forever” ซึ่งเป็นโครงการหลักประจำปี 2567 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการบริจาคโลหิตให้แก่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ

โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ และเหล่ากาชาดจังหวัดต่าง ๆ ในการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้บริจาคโลหิตมีการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพิ่มมากขึ้น หรืออย่างน้อยบริจาคโลหิตเพิ่มปีละ 2-3 ครั้ง รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ให้มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

จากสถิติความถี่การบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2566 จากจำนวนผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด 1,606,743 คน พบว่ามีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง มีปริมาณมากถึง 1,057,894 คน คิดเป็นร้อยละ 65.84 ในขณะที่ผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง มีจำนวนเพียง 73,770 คน คิดเป็นร้อยละ 4.59

และยังมีผู้บริจาคโลหิตปีละ 2 ครั้ง จำนวน 313,029 คน คิดเป็นร้อยละ 19.48 บริจาคโลหิตปีละ 3 ครั้ง จำนวน 156,052 คน คิดเป็นร้อยละ 9.71 โดยส่วนผู้บริจาคโลหิตมากกว่า 4 ครั้ง (รวมกับบริจาคส่วนประกอบโลหิตอื่น ๆ) จำนวน 5,998 คน คิดเป็นร้อยละ 0.37

ดังนั้น หากมีผู้บริจาคโลหิตบริจาคทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้งเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีโลหิตที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอตลอดปี

ทั้งนี้ โลหิตยังคงเป็นยารักษาโรคที่ยังไม่มีนวัตกรรมใด ๆ มาทดแทน จึงจำเป็นต้องมีการรับบริจาคโลหิตจากเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งโลหิตสำหรับใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยโลหิตที่ได้รับบริจาคร้อยละ 23 นำไปใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด

อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ในรายที่เป็นชนิดรุนแรงต้องได้รับโลหิตในการรักษาเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ยูนิต หากไม่ได้รับโลหิต ผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

อีกร้อยละ 77 นำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น

โลหิตจึงมีความสำคัญอย่างมาก และต้องมีโลหิตสำรองไว้ระหว่างการผ่าตัด 2-3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง 5-10 ยูนิต ถ้าโลหิตไม่เพียงพอต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้ จึงต้องรณรงค์ให้ผู้บริจาคโลหิตเพิ่มความถี่ในการบริจาคโลหิต จากปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง จากปีละ 2 ครั้ง เพิ่มเป็นปีละ 3 ครั้ง จากปีละ 3 ครั้ง เพิ่มเป็น 4 ครั้งต่อปี จะทำให้โลหิตมีปริมาณเพียงพอสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยได้

ฉะนั้น ผู้สนใจสามารถบริจาคโลหิตทั่วประเทศได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์, หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Station) ได้แก่ สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค) เดอะมอลล์ สาขาบางแค, สาขาบางกะปิ, สาขางามวงศ์วาน, สาขาท่าพระ, ศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรียม และบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง),

ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี, ชลบุรี, ราชบุรี, นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครสวรรค์, พิษณุโลก, เชียงใหม่, นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง), สงขลา, ภูเก็ต และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ