SCGC ผนึกพันธมิตรมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

คอลัมน์ : SD TALK

ไม่นานผ่านมาเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สานต่อความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์

ล่าสุดลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการและสัญญาบริการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Decarbonization) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการใช้งานในอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ในอนาคต

“ดร.สุรชา อุดมศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า SCGC มุ่งพัฒนา Green Innovation & Solution เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยแนวคิด Low-waste, Low-carbon โดยร่วมมือกับองค์กรและสถาบันวิจัยพัฒนาชั้นนำระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นหน่วยงานเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุด สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุในระดับโมเลกุล และอะตอมได้ ซึ่ง SCGC นำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้วิเคราะห์โครงสร้างผลึกของพอลิเมอร์ในระดับนาโนเมตร จึงช่วยให้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์เร็วยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนา SMXTM Technology, การพัฒนาเม็ดพลาสติก PE คุณภาพสูงสำหรับผลิตท่อทนแรงดันสูง เป็นต้น

นวัตกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกทางหนึ่งด้วย

“ตลอดระยะเวลาความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่ผ่านมา SCGC ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มป้อนตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการรับรองการจดสิทธิบัตร และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนกว่า 10 ฉบับ อาทิ Industrial & Engineering Chemistry Research, ELSEVIER, ACS Applied Polymer Materials เป็นต้น”

“รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า สถาบันมีพันธกิจในการวิจัย ให้บริการ ส่งเสริม และถ่ายทอดการเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และการใช้ประโยชน์ จนนำไปสู่การยกระดับงานวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเหตุนี้สถาบันจึงให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือทางวิชาการมาโดยตลอด

สำหรับการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง SCGC และสถาบันมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ โดยใช้เทคโนโลยีซินโครตรอนและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของทั้งสองหน่วยงาน

“นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และทดสอบ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย โดยใช้แสงชินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการ การฝึกอบรม และความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิศวกรรม

รวมถึงดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร และอีกความร่วมมือคือ การลงนามสัญญาบริการวิจัยระหว่างบริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในกลุ่มธุรกิจ SCGC กับสถาบันสามารถสนับสนุนงานวิจัยโครงสร้างพอลิเมอร์ด้วยแสงซินโครตรอนให้มีความต่อเนื่อง”

จนนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป