บริหารองค์กรแบบผัว ๆ เมีย ๆ

ภาพประกอบเรือง-บทความ (ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ)
คอลัมน์ : SD TALK
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

หัวเรื่องนี้มาจากผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่งถามผมนอกรอบใน Inhouse Training ที่บริษัทแห่งหนึ่ง จะว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำความอึดอัดใจให้กับทั้งคนทำงาน HR ฝ่ายบริหาร รวมไปจนถึงคนที่แต่งงานกันแล้วทำงานอยู่หน่วยงานเดียวกันพอสมควรเลยนะครับ

แรก ๆ เข้ามาทำงานต่างคน ต่างยังโสดสนิท และต่างก็สอดส่ายสายตาหาคู่คิดที่มากกว่าเพื่อนสนิท อันเป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ แต่เมื่อข้ามเส้น Friend Zone มาเป็นคู่วิวาห์แต่งงานกัน ในบางองค์กรจะมีกฎกติกาเอาไว้ว่า จะต้องแยกออกจากกัน หมายถึงไม่ให้ทำงานหน่วยงานเดียวกัน

เหตุผลของฝ่ายบริหารที่กำหนดนโยบายแบบนี้ก็ฟังได้นะครับคือ

1. วันนี้ยังรักกันอยู่ ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก แถมข้อดีคืองานราบรื่นช่วยกันทำงานทำให้ทั้งองค์กร และตัวพนักงานก้าวหน้าไปด้วยกัน แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันล่ะ บรรยากาศในหน่วยงานนั้นคงมาคุ (คนรุ่นใหม่เข้าใจคำคำนี้มั้ยเนี่ย) หรือถ้าถึงขั้นไม่อยากมองหน้ากัน อีกฝ่ายหนึ่งขาดงานไป จะทำให้งานในหน่วยงานมีปัญหามาก หรือน้อยก็ว่ากันไป

2. ยิ่งถ้าคนหนึ่งเป็นหัวหน้า และอีกคนเป็นลูกน้อง จะบังคับบัญชากันยังไงล่ะครับ ถ้าหัวหน้า (สามีหรือภรรยา) สั่งงาน แต่ลูกน้อง (สามีหรือภรรยา) เถียง ไม่ยอมทำตามที่หัวหน้าสั่งล่ะ นึกภาพจินตนาการต่อกันเอาเองนะครับ ว่าจะมีดราม่าอะไรต่อจากนั้น

3. จากข้อ 2 ถ้าคนที่เป็นลูกน้องทำงานผิดพลาด หัวหน้าจะกล้าตักเตือนไหม และลูกน้องคนอื่น ๆ จะมองว่าหัวหน้า (ที่เป็นสามีหรือภรรยา) เข้าข้างลูกน้อง (ที่เป็นสามีหรือภรรยา) น่ะสิครับ

4. ถ้าหน่วยงานนั้นเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ หรือทรัพย์สินล่ะ จะสุ่มเสี่ยงกับการร่วมกันทุจริตหรือไม่

อันที่จริงยังมีอีกหลายเหตุผลนะครับ แต่ยกมาเป็นน้ำจิ้มพอให้เห็นภาพ ว่านี่อาจเป็นสาเหตุทำให้ในบางองค์กร ถึงต้องมีกฎกติกาแยกการทำงานของคนที่แต่งงานกัน ไม่ให้ทำงานในหน่วยงานเดียวกัน ถ้าองค์กรไหนเป็นองค์กรใหญ่สามารถจะมีหน่วยงาน และตำแหน่งงานรองรับการโยกย้ายไปได้ คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก

แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดกลางถึงเล็กล่ะจะทำยังไง ?

เพราะคงไม่มีหน่วยงาน หรือตำแหน่งรองรับได้เหมือนกับองค์กรขนาดใหญ่นี่ครับ นี่ยังไม่รวมถึงวันนี้การใช้ชีวิตคู่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นระหว่างเพศชาย และหญิงแล้วนะครับ ปัจจุบันมีการเปิดกว้างไปถึงการใช้ชีวิตคู่ที่เป็นเพศเดียวกัน หรือการสมรสเท่าเทียมแล้วอีกต่างหาก

ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือถึงแม้จะเป็นองค์กรใหญ่ที่มีหน่วยงาน และตำแหน่งรองรับการโยกย้ายก็ตามทีเถอะ ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วถ้าเกิดพนักงานไม่ได้แต่งงานกันล่ะ คืออยู่ด้วยกันเฉย ๆ ไม่ได้จัดงานแต่งงาน ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะย้ายฝ่ายหนึ่งให้ไปทำงานในอีกหน่วยงานหนึ่งได้หรือไม่

ถ้าบริษัทยืนยันจะย้ายจะเอาเหตุผลอะไรไปย้ายเขา และบริษัทจะพิสูจน์เรื่องส่วนตัวของเขาเหล่านี้ได้ยังไง นี่มันสิทธิส่วนบุคคลของเขานะ

ปัญหาเหล่านี้เมื่อมองทั้งสองมุม ผมก็เข้าใจทั้งเหตุผลของฝั่งองค์กร และฝั่งพนักงาน คงต้องแก้ปัญหากันแบบ Case by Case แก้ปัญหาตามข้อเท็จจริงของแต่ละกรณี ด้วยการสื่อสารเชิงบวกทั้งสองฝ่าย จุดลงตัวที่ดีที่สุดของแต่ละ Case อยู่ตรงไหน คงต้องคิดให้ดี และหวังว่าผู้บริหารในบริษัทเจ้าของคำถามจะหา Solution ที่ดีได้นะครับ