โลกการทำงานปี 2567 ชูสวัสดิการดึงดูด-กระแสบูมเมอแรง

โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะโลกหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ต่างต้องปรับตัว ตั้งแต่ระดับบุคคลจนไปถึงองค์กร มีงานตำแหน่งใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และการให้สวัสดิการหรือผลประโยชน์ของพนักงานมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ เข้าใจดีขึ้นถึงความสำคัญของการสนับสนุนพนักงานของตนนอกเหนือจากการให้เงินเดือน โดยจะเห็นเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นดังนี้

ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

การจัดทำดัชนีการทำงานแบบยืดหยุ่น (The Flexible Working Index) ล่าสุดโดย Flexa Careers แพลตฟอร์มหางานระดับโลกที่สำรวจการค้นหางาน 2.7 ล้านตำแหน่ง ของ 30,000 คน เพื่อทำนายแนวโน้มด้านการทำงานสำหรับปี 2567

พบว่า 400% ของจำนวนงานที่เพิ่มในแพลตฟอร์มประกาศรับสมัครงาน เป็นตำแหน่งงานที่มีข้อเสนอการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์, 9 วันต่อปักษ์ หรือแม้แต่ทำงานครึ่งวันในวันศุกร์ และ Flexa Careers ยังคาดการณ์ว่า ปี 2567 เป็นปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับรูปแบบ Work From Anywhere (ทำงานที่ไหนก็ได้)

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่นำร่องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ มาตั้งแต่ปี 2565 และได้ผลลัพธ์ว่า รายได้และประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยรายงาน The Flexible Working Index ยังเสริมด้วยว่า บริษัทที่เสนอวันหยุดสุดสัปดาห์สามวันสามารถสร้าง “ความไว้วางใจ และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพนักงาน ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะติดอยู่กับองค์กรในระยะยาว”

อย่างไรก็ตาม Flexa Careers ได้เห็นการเติบโตของความนิยมการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยถูกใช้เป็นคีย์เวิร์ดค้นหาเพิ่มขึ้น 68% นับตั้งแต่เปิดตัวตัวกรองนี้บนแพลตฟอร์มประกาศรับสมัครงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

นอกจากนั้น รายงานของ World Economic Forum ระบุว่า องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร 4 Day Week Global ทำโครงการร่วมกับนายจ้างในไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อวิจัยการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ พบว่าพนักงานมีสุขภาพดีขึ้น มีระดับความเครียดลดลง เหนื่อยน้อยลง มีความสุขมากขึ้น และการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์และทำให้คุณภาพอากาศที่ดีขึ้น

5 สายงานสุดปัง

JobsDB by SEEK เผย 5 สายงานสุดปัง ถูกดึงตัวมากสุดปี 2567 แนะผู้ประกอบการมัดใจผู้สมัครด้วยค่าตอบแทน-สมดุลระหว่างชีวิตและงาน โดย “ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลสำรวจจาก Global Talent Survey ที่มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 90,547 คน จาก 160 ประเทศ ส่วนตลาดแรงงานไทยมีจำนวนผู้ร่วมตอบแบบสำรวจชุดนี้ ทั้งหมด 2,636 คน พบว่า ตำแหน่งงานที่ได้รับข้อเสนองานทุกสัปดาห์ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

อันดับ 1 ดิจิทัล การจัดการ และวิเคราะห์ข้อมูล และ AI 37%

อันดับ 2 สื่อ ศิลปะ และการออกแบบ 36%

อันดับ 3 การบริการและการต้อนรับ 34%

อันดับ 4 บริการทางการเงิน 30%

อันดับ 5 บริการด้านสุขภาพและสังคม 30%

“ดวงพร” กล่าวว่า 5 สายงานนี้เป็นอาชีพที่มาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทุกธุรกิจต้องการบุคลากรที่เข้าใจงาน และพร้อมเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าทั้ง 5 สายงานมีจุดเชื่อมโยงกัน คือ ทักษะด้านการวางแผน การดำเนินการ และการสื่อสาร เกี่ยวข้องกับปัจจัยสำคัญในชีวิตด้านการเงิน สุขภาพ และสังคม คาดว่าในปี 2567 จะพบธุรกิจใหม่ ๆ เหล่านี้ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น

สวัสดิการสุดเจ๋ง

หลายบริษัทพยายามแข่งขันกันเพื่อดึงตัวพนักงาน โดยการให้สวัสดิการที่มีเอกลักษณ์ เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดึงดูดผู้มีความสามารถ และทำให้สถานที่ทำงานเป็นสวรรค์อย่างแท้จริง โดยการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ เช่น วิลลิส ทาวเวอร์ วัตสัน เผยว่า พนักงานร้อยละ 78 มีแนวโน้มที่จะอยู่กับบริษัทมากขึ้นหากสวัสดิการของบริษัทดีตรงใจ

เมอร์เซอร์ พบว่า นายจ้างร้อยละ 61 ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจว่าสิทธิประโยชน์ใดที่พนักงานของตนเองต้องการ และความยืดหยุ่นในการทำงานจากระยะไกลอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกัน โดย 50% ของพนักงานกล่าวว่า

การไม่มีสิทธิพิเศษนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจลาออกจากองค์กร และตามการสำรวจของ Forbes พบว่า การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต และการให้ประกันสัตว์เลี้ยง เป็นสวัสดิการที่ได้รับการชื่นชมและคาดหวังจากพนักงานในปัจจุบัน

ตัวอย่างสวัสดิการพนักงานที่น่าสนใจ มีดังนี้ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด แบรนด์เครื่องสำอางของไทย ให้เวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่น พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ ให้ซื้อหนังสือฟรีเดือนละ 1 เล่ม รับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฟรีทุกเดือน ฟิตเนสฟรี กิจกรรม Tuesday Donut พักเบรกจิบชาและทานขนมยามบ่าย ถือเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนจะได้พักเบรกจากการทำงาน ค่าแนะนำเพื่อนสมัครงานสูงสุด 15,000 บาท วันหยุดพิเศษในเดือนเกิด เป็นต้น

ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ให้การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ที่ช่วยให้บุคลากรของเราทำงานและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปพร้อม ๆ กัน หรือที่เรียกว่า Work-life Balance เป็นโมเดลการทำงานแบบ 2-2-1 ที่แบ่งได้เป็น 2 วันทำงานที่สำนักงาน 2 วันทำงานที่ไหนก็ได้ และอีก 1 วันสำหรับการติดต่อพูดคุย สื่อสารและการเรียนรู้

ซึ่งโมเดลนี้ช่วยเติมความมีชีวิตชีวาให้กับวัฒนธรรมการทำงานของยูนิลีเวอร์ และมีโปรแกรมช่วยเหลือด้านจิตใจให้กับพนักงาน (Employee Assistance Program หรือ EAP) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นการให้บริการความช่วยเหลือครอบครัวของพนักงานด้วย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานและส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษา แนะนำหลักการใช้ชีวิต แนวทางการดูแลการเงิน และการฝึกความยืดหยุ่นในด้านต่าง ๆ

Google ผู้นำด้านบริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน โดยให้ค่าตอบแทนที่ดี แต่สิ่งที่โดดเด่นจริง ๆ คือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น อาหาร 3 มื้อต่อวันที่ร้านอาหารคุณภาพสูง สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีมาก และสิ่งต่าง ๆ อีก เช่น การพูดคุยงานนอกสถานที่

LINE MAN Wongnai ให้การทำงานแบบชั่วโมงยืดหยุ่น สามารถทำงานที่บ้านได้ ให้คอมพิวเตอร์ MacBook สำหรับพนักงานทุกคน มีโครงการ Weflex เบิกค่าใช้จ่ายไปทำกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์ 30,000 บาท/ปี มีโบนัสรายสัปดาห์ มีอาหารกลางวันฟรี มีกาแฟจาก Barista ฟรีทุกวัน มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดื่มฟรีหลัง 5 โมงเย็น

กระแสบูมเมอแรง

กระแสบูมเมอแรงคือการที่พนักงานที่ลาออกไปแล้วกลับมาทำงานที่บริษัทเก่า โดยบทความบน Harvard Business Publishing ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า ปัจจุบันมากกว่า 1 ใน 4 ของการจ้างงานใหม่ทั้งหมด แท้จริงแล้วเป็นพนักงานบูมเมอแรง ซึ่งคือคนทำงานที่กลับมาหานายจ้างเก่าหลังจากออกไปทำงานที่อื่น

ปรากฏการณ์นี้อาจแสดงถึงภัยคุกคามต่อความพยายามในการรักษาพนักงานไว้ เนื่องจากพนักงานใหม่อาจมีแนวโน้มที่จะกลับไปหานายจ้างคนก่อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังแสดงถึงโอกาสด้วย เนื่องจากพนักงานเก่าอาจเหมาะสมกับองค์กรในฐานะผู้ที่มีความสามารถ

นอกจากนั้น จากการทำรายงานสํารวจเงินเดือนประจำปี 2567 โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก “โรเบิร์ต วอลเตอร์ส” ระบุว่า การจ้างงานพนักงานกลุ่มบูมเมอแรงเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายองค์กรในประเทศไทยนำมาใช้ในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนทักษะ โดย 72% ของพนักงานเปิดกว้างที่จะกลับไปทำงานกับบริษัทเก่า ในขณะที่ 80% ของนายจ้างเต็มใจที่จะรับพนักงานเก่ากลับมาทำงาน

“ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา” ผู้จัดการประจําประเทศไทย บริษัท โรเบิร์ต วอลเตอร์ส กล่าวว่า พนักงาน 54% แม้ว่าจะได้งานใหม่แล้ว แต่ยังเปิดกว้างที่จะพิจารณาข้อเสนอซื้อตัวกลับของนายจ้างเก่า หากยื่นข้อเสนอที่โดนใจ โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยที่จะทำให้อยู่ต่อ ดังนี้ ให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น (93%) เลื่อนตำแหน่งให้ (57%) มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น (40%) มีโบนัสที่ดี (33%) และทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (21%)

ข้อดีของการจ้างพนักงานบูมเมอแรง พนักงานเรียนรู้เร็ว พนักงานเก่าที่กลับเข้าร่วมองค์กรจะมีประสิทธิผลได้เร็วกว่าพนักงานใหม่คนอื่น ๆ เพราะพวกเขารู้ข้อมูลธุรกิจเป็นอย่างดี คุ้นเคยกับวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงานของบริษัท นำมุมมองใหม่มาสู่ธุรกิจ อดีตพนักงานสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่า เช่น การเสนอมุมมองที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนาองค์กร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาทำงานให้กับคู่แข่ง มีความภักดีและมีประสิทธิภาพทำงานสูง มีความพึงพอใจและมีความมุ่งมั่นมากกว่าพนักงานใหม่จากภายนอก และมีแนวโน้มที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทบูมเมอแรง ช่วยองค์กรลดต้นทุนการจ้างงาน เนื่องจากพนักงานบูมเมอแรงรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ช่วยลดต้นทุนการฝึกอบรม และลดเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้