คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
เมื่อตอนต้นเดือน ผมไปเดินงานอัตลักษณ์แห่งสยาม & Crafts Bangkok ที่ไบเทค บางนา
ชื่องานก็ชัดเจนครับ
เป็นงานศิลปหัตถกรรม และงานคราฟต์ของคนไทย
ผมไปเดินช่วงสาย ๆ จนถึงบ่ายในวันธรรมดา คนจึงไม่เยอะนัก
สิ่งที่สะดุดตาที่สุดในงาน ไม่ใช่งานศิลปะชิ้นไหน
แต่เป็นกลุ่มคนซื้อชาวจีนที่เดินไลฟ์สดในงาน
ไม่ได้มาคนเดียว แต่มาเป็นคู่
ทั้ง 2 คนจะไปประจำการตามร้านเป้าหมาย
และคงคุยกับเจ้าของร้านแล้วว่าจะไลฟ์สดไปเมืองจีน
คนหนึ่งจะหยิบเสื้อผ้ามาโชว์ ทาบกับตัวโชว์คนดูที่เมืองจีน
อีกคนหนึ่งก็รับหน้าที่ถ่ายภาพและดูข้อความบนหน้าจอ
บางคนก็เหมือนกับเอาเสื้อผ้ามาให้แม่ค้าที่อยู่ทางโน้นตัดสินใจว่าชอบไหมจะซื้อไหม
เป็นการดูสินค้าแล้วสั่งออร์เดอร์เลย
บางคนก็เหมือนกับแม่ค้าออนไลน์ที่เห็นทั่วไปในเมืองไทย
เอาเสื้อมาโชว์ลูกค้าแล้วให้สั่งซื้อเลย
แน่นอน ราคาก็ต้องสูงกว่าที่ซื้อที่บูท
ไลฟ์สดกันในงานเลย
มีเก้าอี้นั่ง มีขาตั้งมือถือถ่ายอย่างเป็นทางการ
ตัวไหนขายได้ก็หยิบใส่ตะกร้าเลย
บางคนใช้รถเข็นขนาดใหญ่
ลูกค้ากลุ่มนี้คงต้องมาตอนช่วงที่ไม่ค่อยมีคน เพื่อที่จะได้เลือกซื้อได้สบาย ๆ คล่องตัว
ผมเชื่อว่าลูกค้าชาวจีนแบบนี้คงมีไม่น้อยในเมืองไทย
กลายเป็นช่องทางใหม่ในการขายไปเมืองจีน
ผมนึกถึงเรื่องที่ คุณวาสนา รุ่งแสงทอง ของ “นารายา” เคยเล่าให้ฟัง
ตอนที่เจอ “โควิด” ช่วงแรก ๆ
“นารายา” หนักมาก เพราะสินค้าของเธอจับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่
คุณวาสนาต้องปรับตัวมาขายออนไลน์มากขึ้น
นอกจากขายเองแล้ว เธอเพิ่งเจอช่องทางใหม่
เมื่อลูกค้าชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่ชอบ “นารายา” ยังกลับเมืองจีนไม่ได้ ติดค้างอยู่เมืองไทย
เห็น “นารายา” ลดราคาสินค้าก็มาติดต่อว่าขอซื้อไปขายเมืองจีนได้ไหม
คุณวาสนาโอเค
ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ใช้วิธีไลฟ์สดไปเมืองจีน
cf กันสนุกสนาน
เพราะไม่มีใครรู้จักลูกค้าจีนดีเท่ากับคนจีนด้วยกัน
กลายเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ของ “นารายา” ในช่วงโควิด
วัฒนธรรมการขายออนไลน์สด ๆ แบบนี้มาแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ในขณะที่ความนิยมของคนจีนก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
เหมือนกับเมืองไทย
ในอดีตขายผ่านเฟซบุ๊ก พัฒนามาเป็นอินสตาแกรม
และติ๊กต๊อก
ผมมีน้องคนหนึ่ง คนนี้เป็นมนุษย์รายละเอียด
ไปเมืองจีนแต่ละครั้งจะสังเกตและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของคนจีนอย่างละเอียด
เพื่อนำมาวางแผนการขายสินค้า
เขาก็ไปเมืองจีนไม่ได้บ่อย
ยิ่งช่วงโควิด ยิ่งไปไม่ได้เลย
แต่เมืองจีนมีนวัตกรรมเกิดขึ้นอยู่เรื่อย
น้องคนนี้เขาแก้ปัญหาด้วยการจ้างไกด์ทัวร์ที่สนิทกัน ให้ช่วยถ่ายรูปสินค้าใหม่ ๆ ในเมืองจีน
พฤติกรรมการซื้อของที่แปลก ๆ
แอปใหม่ที่คนจีนนิยม ฯลฯ
ถ่ายไปเรื่อย ๆ แล้วส่งมาให้เขาทุกวัน
น้องคนนี้จะดูคลิปอย่างละเอียด เรื่องไหนไม่เข้าใจก็จะถาม
อะไรที่น่าสนใจก็อาจให้ถ่ายเจาะอย่างละเอียด
ไม่ได้ไปเมืองจีน แต่ก็รู้ว่าพฤติกรรมของลูกค้าชาวจีนเปลี่ยนไปอย่างไร
น่าสนใจมาก
- แบงก์คาด กนง. มติไม่เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ลุ้นบาทอ่อนแตะ 38 บาท/ดอลลาร์
- หลังยุบ ศบค. ฉีดวัคซีนฟรี กางแผนเดือนตุลาคม 4 กลุ่ม 7 ล้านโดส