Market-think : 600 บาท

แรงงาน
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

การประกาศขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 25,000 บาท และค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ภายในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทย กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก

ภาคเอกชนส่วนใหญ่ตกใจเพราะเป็นตัวเลขที่สูงลิบลิ่ว

เพราะค่าแรงขั้นต่ำใน กทม. ตอนนี้ 353 บาท

ถ้าขึ้นเป็น 600 บาท คือ ขึ้นไป 247 บาท หรือเกือบ 70%

ตอนแรกคนไม่รู้ว่านโยบายนี้จะทำให้สำเร็จภายในปี 2570 หรืออีก 4 ปี หลังการเลือกตั้งปี 2566

คิดว่าจะขึ้นภายในปีเดียวเลย

แต่พอเห็นว่าตัวเลขนี้จะใช้เวลาประมาณ 4 ปี ก็ค่อยหายตกใจหน่อย

แต่ยังตกใจอยู่ เพราะถ้ามองผิวเผินก็เหมือนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปีละ 18%

สูงมาก

ผมลองเอาตัวเลขนี้มาคำนวณ ถ้าขึ้นแบบขั้นบันได เท่ากันทุกปี

จะประมาณ 13-14% เพราะทุกปีฐานเงินเดือนขั้นต่ำจะขยับขึ้น

คิดเหมือนดอกเบี้ยทบต้น

แม้ตัวเลขจะลดลง แต่ก็ยังน่าตระหนกตกใจ

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายพรรคเพื่อไทย

“การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน”

อ่านดูแล้วน่าเห็นใจภาคเอกชนมาก

พรรคเพื่อไทยนั้นพยายามจะออกมาชี้แจงว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะขึ้นเลย ต้องดูภาวะเศรษฐกิจด้วย

ภาพฝันของเขา คือ จะให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5% ให้ได้ ซึ่งในการแถลงนโยบายของเขาก็เล่าว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น ก็จะปรับค่าแรงขึ้นตาม

ปีไหน GDP สูง เขาก็จะขยับค่าแรงเพิ่มขึ้นมาก

ปีไหน GDP ต่ำ ก็จะขยับค่าแรงเพิ่ม แต่ไม่มากนัก

ทั้งนี้ เป้าหมายหรือ KPI ของเขาคือ 600 บาท ภายในปี 2570

ผมไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยจะทำได้ตามที่จินตนาการไว้หรือไม่

แต่เชื่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เขาทำแน่นอน

เหมือนตอนรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท เมื่อปี 2555

เพราะเป็นการรักษาเครดิตเก่าที่เคยทำมา

คือ ประกาศนโยบายแล้วทำได้จริง

ไม่เหมือนพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงเป็น 425 บาท ตอนหาเสียงเลือกตั้งปี 2562

จนถึงวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ 353 บาทเลยครับ

ถ้าดูโมเดลจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังจากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เขาจะลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลลง

รายจ่ายค่าแรงเพิ่ม กำไรลดลง

รัฐบาลก็ลดรายจ่ายด้านภาษีให้ภาคเอกชน

ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น แต่ต้นทุนภาษีลดลง

นอกจากนั้น เขามีความเชื่อว่าถ้าแรงงานได้เงินเพิ่มขึ้น จะดันกำลังซื้อส่วนใหญ่สูงขึ้น

เพราะคนที่รายได้ต่ำเมื่อได้เงินจะใช้ทันที เงินจะหมุนหลายรอบ พ่อค้าก็จะขายของได้มากขึ้น

จริงหรือไม่จริง เชื่อหรือไม่เชื่อ เรื่องนี้แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนในช่วงปี 2555-2556

แต่ประเด็นที่ผมเพิ่งค้นข้อมูลเจอ คือ ค่าแรงขั้นต่ำของเมืองไทย จากปี 2555 ที่ขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท

ผ่านมา 10 ปี ค่าแรงขั้นต่ำปี 2565 คือ 353 บาทในเขต กทม. (ส่วนจังหวัดอื่น ๆ น้อยกว่านี้)

หรือขึ้นไปเพียง 53 บาท

หรือ 17%

เฉลี่ยปีละ 1.7%

เป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก

ถามว่าค่าครองชีพ 10 ปีนี้ขึ้นมาเท่าไร

คิดง่าย ๆ ข้าวแกงขึ้นราคาจาก 30 บาทเมื่อ 10 ปีก่อน เป็น 50 บาท ในวันนี้

หรือ 66%

แต่ค่าแรงขึ้น 17%

นี่หรือคือสิ่งที่ กกร.บอกว่า “การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว”

เราพอใจสังคมแบบนี้ใช่ไหมครับ

อย่าแปลกใจที่มีคนบอกว่า “ระเบิดเวลา” ลูกใหญ่ที่สุดของสังคมในอนาคต

คือ “ความเหลื่อมล้ำ”