Market-think : วิชา “รวย”

ตัน-พี่ตุ้ม
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน ไปสัมภาษณ์คุณตัน ภาสกรนที แห่ง “อิชิตัน” ในงาน SMEs HERO Fest ของ “เส้นทางเศรษฐี”

คุณตันนั้นถือเป็นมหาเศรษฐีที่รู้จักและเข้าใจ SMEs ดีที่สุดคนหนึ่ง

เพราะเขาเติบโตมาจากพนักงานตัวเล็ก ก่อนออกมาทำธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ คือแผงขายหนังสือพิมพ์

จากนั้นก็ขยับมาทำธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ร้านขายกิฟต์ช็อป ร้านอาหาร ขายตึกแถวธุรกิจถ่ายรูปแต่งงาน ฯลฯ

ทำธุรกิจมาเยอะมาก ก่อนที่จะมาทำชาเขียว “โออิชิ”

แม้วันนี้กลายเป็นนักธุรกิจใหญ่ แต่เขาก็ยังคลุกคลีกับร้านเล็ก ๆ เพราะมีธุรกิจส่วนตัวคือ ตลาดนัดนินจาอมตะ ที่มีแผงขายของเป็นพันล้าน

ผมบอกคุณตันว่าการสัมภาษณ์บนเวทีจะคล้าย ๆ กับ “คนไข้” มาปรึกษา “หมอ”

ผมจะเป็น “คนไข้” หรือนักธุรกิจ SMEs เอาปัญหามาขอคำแนะนำจาก “หมอตัน”

แค่วางโครงเรื่องและตัวละครก็สนุกแล้วครับ

เรื่องแรกที่คุณตันแนะนำ SMEs ก็คือ ให้ฟังเสียงตัวเอง อย่าไปฟังเสียงคนอื่น

ความหมายก็คือ เวลาอ่านบทวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีมากนัก

ใครจะรบกับใคร GDP จะเป็นอย่างไร

เราไม่ต้องสนใจมากนัก

ขอให้สนใจว่าธุรกิจของตัวเองเป็นอย่างไรดีกว่า

ถ้ายังขายดี กำไรดี GDP ของประเทศจะติดลบแค่ไหนก็ไม่ต้องสนใจ

ให้ตรวจวัดอุณหภูมิธุรกิจของตัวเองเป็นหลัก

ต้องโฟกัสให้เป็น

เรื่องที่สอง ต้องสนุกกับ “ปัญหา”

เปลี่ยนทัศนคติตัวเองในการมอง “ปัญหา” ใหม่

อย่ากลัว อย่าท้อ เพราะ “ปัญหา” เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ

“ปัญหา” เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นแล้วก็ต้องลง

ไม่ได้คงอยู่กับเราตลอดไป

“ต่อไปเจอปัญหา ต้องบอกเลยว่าชอบ มาอีก ชอบ”

เรื่องที่สาม เปลี่ยนวิธีการได้ แต่อย่าเปลี่ยนเป้าหมาย

เหมือนการขึ้นภูเขา เมื่อเจอทางตัน เราก็เปลี่ยนทางเดินใหม่

แต่ยังดำรงเป้าหมายเหมือนเดิม คือ ยอดเขา

ตอนโควิด คุณตันเห็นร้านในตลาดนัดนินจาอมตะเปลี่ยนจากขายกุ้งอบวุ้นเส้น มาเป็นขายแอลกอฮอล์ล้างมือแทน

ขายดิบขายดี

และยังเพิ่มการขายออนไลน์อีก

เป้าหมายเรื่อง ยอดขาย ยังคงเดิม

แต่เปลี่ยนวิธีการใหม่

คุณตันย้ำหลายครั้งว่า เวลาเจอปัญหาอย่ายอมแพ้อะไรง่าย ๆ

สู้ให้เต็มที่ก่อน

และตบท้ายด้วยคำขวัญที่บนกำแพงโรงงานอิชิตัน

“เริ่มต้นใหม่ได้ ถ้าหัวใจไม่ยอมแพ้”

และเรื่องสุดท้าย เป็นคำอวยพรปีใหม่ของคุณตัน

คุณตันบอกว่าถ้าเราอยากรวยมาก ๆ อยากรวยจริง ๆ

ต้องลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว

เพราะเป็นพนักงานประจำกินเงินเดือนไปเรื่อย ๆ

รวยยากมาก

แต่ถ้าใครพึงพอใจกับรายได้ที่แน่นอน ค่อยเป็นค่อยไป ก็เป็นพนักงานประจำต่อไป

เรื่องนี้แล้วแต่ความพอใจของแต่ละคน

เพราะการลาออกมาทำธุรกิจเป็นเจ้านายตัวเองนั้นมีความเสี่ยง

เสี่ยงกว่าเป็นพนักงานประจำ

แต่ก็มีโอกาสรวยมากกว่า

“ถ้าอยากรวย ต้องลาออกอย่างเดียว”

พูดจบก็บ่นกับตัวเอง

“พูดแบบนี้ พนักงานที่บริษัทลาออกหมดแน่เลย”