Market-think : แอชตัน-บ่วงอิก

ASHTON
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

กรณี “แอชตัน อโศก” ถือเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจที่น่าสนใจมาก

ทันทีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับแจ้งเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารโครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ทุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว

นอกจากคำพิพากษานี้จะส่งผลสะเทือนถึงโครงการคอนโดมิเนียมหลายแห่งที่อาศัยทางเข้าออกของหน่วยงานราชการ

จนแต่ละโครงการต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นคนละกรณีกัน ไม่เหมือนกับกรณีของ “แอชตัน อโศก”

กรณีนี้ยังเป็นบทเรียนทางธุรกิจให้เจ้าของกิจการทุกรายให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการด้วย

ต้องเปิดหูและเปิดใจรับฟังคนที่เดือดร้อน

Advertisment

เพราะการก่อสร้างขนาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่อยู่รอบข้างจริง ๆ

อย่าประมาท “มด” ตัวเล็ก ๆ เป็นอันขาด

Advertisment

จากความรู้สึกไม่พอใจในการก่อสร้างลุกลามไปสู่การฟ้องร้องว่าการก่อสร้างโครงการผิดกฎหมาย

ที่ดินที่ รฟม.เวนคืน ไม่สามารถให้เอกชนเช่าทำประโยชน์เพื่อขยายทางเข้าออก จนสามารถสร้างตึกสูงได้

ทั้งหมดเกิดขึ้นจาก “น้ำผึ้งหยดเดียว”

ผมเชื่อว่าตอนที่ศึกษาโครงการนี้ ทาง “อนันดา” คงประเมินแล้วว่า วิธีการขยายพื้นที่ทางเข้าออกแบบนี้สามารถทำได้

ในแง่มุมทางกฎหมายไม่มีปัญหา

แต่สิ่งหนึ่งที่เขาลืมคิดไปก็คือ ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายกฎหมายคิด

ผลกระทบที่เกิดขึ้น เขารับมือไหวไหม

และคุ้มค่าการเสี่ยงหรือเปล่า

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงคำสอนเรื่อง “บ่วงอิก” ของ คุณไกรสร จันศิริ เจ้าของบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)

“ไกรสร” สอน ลูกชาย “ธีรพงศ์” ที่จบปริญญาโทมาจากสหรัฐอเมริกา และมาช่วยงานที่บ้าน

ด้วยภาษาจีนสั้น ๆ ว่า “บ่วงอิก”

“บ่วง” คือ หมื่น

“อิก” คือ หนึ่ง

ในหมื่นคน ในหมื่นเหตุการณ์ ในหมื่นเรื่อง จะต้องเจอสัก 1 ครั้ง

เป็นคำสอนให้ระลึกถึง “วิกฤต” อยู่เสมอ

“ไกรสร” ไม่เคยวัด “ความเสี่ยง” ทางธุรกิจเป็นเปอร์เซ็นต์

โอกาสที่จะเกิด “วิกฤต” มีมากหรือน้อย

จะมีความเสี่ยงแค่ 20% 10% หรือ 1% เขาไม่สนใจ

“ไกรสร” เชื่อว่าต่อให้มีความเสี่ยงแค่ 0.001%

แต่ทันทีที่เกิดวิกฤตขึ้นมา

“ความเสี่ยง” 0.001% ก็จะเป็น 100 ทันที

คือเต็มที่ในความเสี่ยงนั้น

หลักคิดของ “ไกรสร” จึงไม่สนใจว่าระดับ “ความเสี่ยง” นั้นจะสูงหรือต่ำ

แต่สนใจว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาจริง โครงการนี้ต้องเสียหายทั้งหมด

เขาจะรับมือไหวหรือเปล่า ?

ถ้าประเมินแล้วว่าองค์กรรับได้ ก็ลงทุน

แต่ถ้าเกิด “วิกฤต” ขึ้นมา โครงการนี้ต้องล้มไป เสียเงินที่ลงทุนไปทั้งหมด

บริษัทเจ๊งทันที

เขาจะไม่ลงทุน

ต่อให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุเช่นนี้มีเพียง 0.001% ก็ตาม

“ไกรสร” มีบทเรียนจากตอนลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540

ก่อนหน้านี้มีที่ปรึกษาคนหนึ่งเสนอให้เขากู้เงินต่างประเทศ เพราะดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในเมืองไทย

แค่กู้มาฝากก็กำไรแล้ว

เขาคิดทบทวนความเสี่ยงด้วยหลัก “บ่วง-อิก” แล้ว

ตัดสินใจไม่เอา

ที่ปรึกษาคนนี้พยายามเสนอมาอีกหลายครั้ง

สุดท้าย “ไกรสร” จึงตัดสินใจง่าย ๆ

ไล่ที่ปรึกษาคนนี้ออก

เพราะเขาประเมินแล้วว่าถ้ากู้เงินต่างประเทศมา หากเกิดการลดค่าเงินบาทหรือลอยตัวค่าเงินบาท

บริษัทของเขารับไม่ไหว

“บ่วงอิก” เป็นวิธีคิดที่เรียบง่าย แต่ต้องใช้ “สติ” อย่างมาก

เพราะนักธุรกิจส่วนใหญ่มักเห็น “โอกาส”

มากกว่า “ปัญหา”