ศิลปะการใช้ “คำ”

Market-think : สรกล อดุลยานนท์

และแล้วเมืองไทยก็หนีไม่พ้น

เมื่อโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ตามสำนวนของ น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการระบาดรอบ 2

เฮ้อ…ไม่รู้จะหลบคำไปทำไม

คงกลัวว่าถ้าใช้คำว่า “ระลอก 2” จะทำให้คนคิดว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ชนะเหมือนที่รัฐบาลคุยไว้

แต่ระบาด “รอบใหม่” หมายความว่าครั้งก่อนเราชนะไปแล้ว

ครั้งนี้เป็นสงครามครั้งใหม่ กับศัตรูใหม่

ไม่ใช่คู่ต่อสู้เก่า

เหมือนกับตอนที่สลายม็อบ “เสื้อแดง” ปี 2553

ทหารก็นำศิลปะการประดิษฐ์ถ้อยคำมาใช้ในการแถลงข่าว

ศัพท์ปกติที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า “การสลายม็อบ”

เขาเปลี่ยนใหม่เป็น “การขอคืนพื้นที่”

ทำให้ “ความรุนแรง” นุ่มนวลลง

โฟกัสไปที่ “พื้นที่” ที่ไม่มีชีวิต

แทนที่จะเป็นการสลาย “ม็อบ”

ที่หมายถึง “คน” ที่มีลมหายใจ

ล่าสุด การประชุม ศบค. ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ประชุมได้พักหนึ่งก็เริ่มมีข่าวแว่วออกมาแล้วว่าจะแบ่งจังหวัดให้เป็นตามโซนต่าง ๆ

ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ถูกต้อง

เพราะแม้จะเกิดในเมืองไทยเหมือนกัน แต่ความรุนแรงแตกต่างกัน

เหมือนในจังหวัดก็เช่นกัน

เกิดที่พื้นที่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นทั้งจังหวัด

บทเรียนจากครั้งก่อนที่แม้ว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์ “โควิด-19” เอาไว้ได้

แต่ต้องแลกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสมาก

เหมือนกับการให้ “คีโม” คนที่เป็นมะเร็ง

เพราะไม่ใช่แค่จัดการ “มะเร็ง” เท่านั้น

แต่ยังเล่นงานเม็ดเลือดขาวทั่วทั้งร่างกายด้วย

ครั้งนี้จึงมีการแบ่ง “โซน”

จุดไหนที่ไม่มีปัญหาก็ให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้

เพราะช่วงนี้เป็นช่วงปีใหม่ ที่คนจะเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย

เป็นช่วงที่เงินจะสะพัดครั้งใหญ่

ถ้าให้หยุดกิจกรรมทั้งหมดทั่วประเทศ รับรองได้ว่าเศรษฐกิจกระตุกครั้งใหญ่แน่นอน

ตอนที่ประชุมกันนั้นมีการแบ่งโซนโดยใช้ “สี” เพื่อให้เข้าใจง่าย

แดง-ส้ม-เหลือง-เขียว

ถ้าใช้ “สี” แบบนี้ เราฟังครั้งเดียว จะเข้าใจเลย

เห็นระดับความรุนแรงชัดเจน

แต่นายกฯกลับเปลี่ยนคำใหม่ เหมือนจะให้ดูนุ่มนวลและงง ๆ

พื้นที่มีการควบคุมสูงสุด-ควบคุม-เฝ้าระวังสูง-เฝ้าระวัง

สังเกตไหมครับว่าพอใช้คำแบบนี้

ทำให้สถานการณ์ “โควิด-19” กลายเป็น “โรคกระจอก” ที่เราควบคุมได้

เพียงแต่จะควบคุมเข้มแค่ไหนเท่านั้นเอง

เป็น “วิธีคิด” เหมือนกับตอนสลายม็อบเมื่อปี 2553

เปลี่ยน “โฟกัส” ด้วย “คำ”

ถ้าใช้ “สี” คนจะเห็นระดับความรุนแรงของโรค

โฟกัสที่ “โรค”

แต่ใช้คำว่า “ควบคุม” มุมจะเปลี่ยนไป

คนจะโฟกัสที่การจัดการของ “รัฐ”

ถ้าใครดูการาแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัส จะเห็นว่าทั้งนายกฯ และหมอทวีศิลป์ เรียกแต่ละพื้นที่ผิด ๆ ถูก ๆ

เพราะคงเพิ่งคิดคำได้

ผมเข้าใจเรื่องศิลปะการใช้คำ เพื่อลดความตื่นตระหนกของคน

แต่อย่าลืมว่ามันเป็น “ดาบสองคม”

เพราะถ้าใช้กลยุทธ์นี้มากไป

คนจะรู้สึกว่าไม่จริงใจ

และจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในคำแถลงด้วยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ถ้าแถลงจบแล้วคนหันมามองหน้ากันว่า “จริงหรือเปล่า”

แบบนี้ต้องระวัง

ฝากเตือนไว้ด้วยความเคารพครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเตือนเป็นพิเศษ คือ การแถลงข่าวของนายกฯ ในเรื่องสำคัญแบบนี้ต้องพูดให้รู้เรื่อง

อย่านอกประเด็น

และอย่า “นะจ๊ะ” มากเกินไป

“ความน่าเชื่อถือ” สำคัญมากในสถานการณ์แบบนี้ครับ