เทคนิคการบริหารคนรุ่นใหม่ จาก LINE MAN Wongnai

อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์
อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ผมมีโอกาสได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับเทคนิคการบริหารคนรุ่นใหม่จาก “คุณรุตม์ อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์” VP of People ของ LINE MAN Wongnai ซึ่งผมได้เชิญมาพูดมาในงาน DEF หลักสูตรรุ่นที่ 9
ผมมองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ผมจึงอยากจะนำเรื่องนี้ออกมาเขียนและแชร์ประสบการณ์ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับใครหลาย ๆ คนได้

อย่างที่เราทราบกันดีว่าหลังจากที่ LINE MAN และ Wongnai ได้ควบรวมกิจการ ต้องยอมรับเลยว่าธุรกิจนี้เติบโตไปอย่างก้าวกระโดด โดยทั้งนี้ได้มีการควบรวมกิจการในชื่อว่า “LINE MAN Wongnai” ปัจจุบัน LINE MAN Wongnai มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคน และมีฐานข้อมูลร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไทยกว่า 900,000 ร้านทั่วประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น e-Commerce Platform for Services ที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย

สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากที่ได้ควบรวมกิจการแล้ว LINE MAN Wongnai ได้มีการปรับ Core Values ใหม่คือ Innovate Faster, Go Deeper และ Respect Everyone ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญและยังสอดคล้องการเปลี่ยนแปลงในวงการ e-Commerce Platform for Services อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบันดังนี้

1.Innovate Faster คิดใหม่ ทำใหม่ เรียนรู้เร็ว ไม่หยุดที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยมีอยู่แล้วและคอยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

2.Go Deeper ความขยัน การค้นหาความรู้ใหม่ ๆ และความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับทุกภาคส่วนในธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกคนในทีมเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ขององค์กร

3.Respect Everyone ให้เกียรติ และเคารพนับถือทุก ๆ ฝ่าย

องค์กรอย่าง LINE MAN Wongnai ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ใช้งาน, ไรเดอร์ และร้านค้านั้นไม่อาจจะตอบสนองความต้องการของทุก ๆ ฝ่ายได้ เพราะผู้ใช้งานก็คงไม่อยากจะจ่ายค่าส่งที่แพง ไรเดอร์ก็คงจะต้องการได้ค่าตอบแทนในการวิ่งรถที่สูงในแต่ละรอบ รวมถึงร้านอาหารก็ไม่อยากจะจ่ายค่า Gross Profit หรือค่าส่วนแบ่งจากร้านอาหารมากเท่าไหร่นัก

ถ้าหากจะต้องตอบสนองต่อความต้องการทุกฝ่าย ธุรกิจประเภทนี้ก็จะไม่สามารถดำเนินการไปต่อได้ แต่สิ่งที่ทาง LINE MAN Wongnai ทำคือการเคารพต่อความต้องการและความเป็นส่วนตัวของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้สามารถจัดการกับความขัดแย้งในความสนใจที่ต่างกัน

โดยผมมองว่าข้อนี้ถือเป็นข้อสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยก็ควรจะเอาเป็นตัวอย่างและนำไปปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทตนเอง ซึ่งเทคนิคการที่จะทำให้คนในองค์กรจำ Core Values ได้โดยที่ไม่ใช่เพียงแค่กระดาษที่แปะบนบอร์ดเพื่อประกาศพนักงานทราบเท่านั้น แต่ควรจะแทรกซึมเข้าไปกับทุกสิ่งที่องค์กรตั้งใจจะทำ

หากเราต้องการวัฒนธรรมในองค์กรที่สอดคล้องกับปณิธานและวิสัยทัศน์ของเรา เราต้องให้เวลาและความสำคัญกับภารกิจ (Mission), วิสัยทัศน์ (Vision) และค่านิยมหลัก (Core Values) โดยที่ต้องไม่ลืมปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพธุรกิจและบริบทที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

และสิ่งสำคัญคือ ผู้บริหารต้องพร้อมที่จะถกเถียงและทำการค้นหาตัวตน (Soul Searching) ต้องคุยกันจนกว่าเราจะมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการยึดมั่น

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญและต้องให้ความสำคัญจากนี้ไป เมื่อได้ Core Values ที่ชัดเจนแล้ว เราควรนำมันไปใช้ในทุกขั้นตอนขององค์กร เริ่มต้นตั้งแต่การสรรหาบุคลากร การรับรู้ความสำคัญของบุคคล และการตอบแทนให้กับบุคคลในองค์กร