12 เทรนด์การค้าออนไลน์ไทย 2024

เทรนด์ออนไลน์
ภาพจาก : freepik
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

โลกการค้าออนไลน์ของประเทศไทยปรับตัวเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จนการซื้อสินค้าออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้คนทำธุรกิจค้าขายสินค้าต้องปรับตัวอย่างมาก มาดูว่าแนวโน้มและโอกาสของธุรกิจ e-Commerce ในประเทศไทย จะเติบโตและก้าวไปอย่างไรในปี 2024 กันครับ

1.e-Commerce ไทยผูกขาดโดยต่างชาติโดยสมบูรณ์

ปัจจุบันการค้าขายออนไลน์ในประเทศไทย แบ่งเป็นหลายช่องทาง ที่ใหญ่ที่สุด คือ e-Marketplace รองลงมาคือ โซเชียลคอมเมิร์ซ ปีนี้การซื้อขายผ่าน App สั่งอาหาร หรือ On-Demand Commerce เป็นช่องทางใหม่ที่คนไทยนิยมซื้อสินค้า

ซึ่งที่พูดมาทั้งหมด เป็นช่องทาง ที่มีผู้ให้บริการจากต่างประเทศทั้งสิ้น

บรรดาผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสต่างเริ่มทำกำไรเป็นกอบเป็นกำแล้ว หลังขาดทุนติดต่อกันหลายปีเป็นหมื่นล้าน การมาของผู้ให้บริการ e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศไม่ได้มาแค่ตลาดนัดซื้อขาย แต่หากดูดี ๆ มาครบทั้งระบบนิเวศ การค้าออนไลน์ ได้แก่ ซื้อ (Buy) ผ่าน Marketplace (Shopee, Lazada) จ่าย (Pay) ผ่านบริการชำระเงินของตัวเอง (Shopee Pay, LazPay) ส่ง (Delivery) ผ่านบริการบริษัทส่งของตัวเอง (Shopee Express, Lazada Express) ทำให้บริษัทเหล่านี้มีความได้เปรียบกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่ให้บริการแค่เฉพาะทางเท่านั้น

เมื่อยักษ์ใหญ่โลกการค้าออนไลน์ควบคุมตลาดซื้อขายออนไลน์ได้เบ็ดเสร็จ จึงเริ่มเข้าสู่การฮั้วและขึ้นราคาค่าบริการต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่ามีการขึ้นราคาค่าบริการการขายของใน e-Marketplace อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น โดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ เช่น Shopee และ Lazada ขึ้นราคาค่าบริการสูงถึง 150% ภายใน 7 เดือน

คำถามคือทำไมรัฐไทยปล่อยให้มีการขึ้นราคาได้ง่ายดายแบบนี้ ทั้งยังมีคู่แข่งหน้าใหม่ คือ TikTok ที่เริ่มเข้ามาเป็นช่องทางการซื้อสินค้าของคนยุคใหม่ ทำให้การแข่งขันของการค้าออนไลน์เริ่มรุนแรงมากขึ้น

คำแนะนำ

รัฐบาลควรมีมาตรการในการควบคุมและทำงานร่วมกับบริษัทจากต่างประเทศ ให้เกิดความสมดุล และเหมาะสม เพราะต่อไปการค้าออนไลน์จะยิ่งเติบโตขึ้น หากบริษัทต่างชาติมีบทบาทกับการค้าของประเทศไทยแบบไร้การควบคุม ต่อไปพ่อค้าแม่ค้าและคนทำธุรกิจค้าขายในประเทศจะอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทต่างชาติแบบหมดจด

2.ส่งสินค้าแข่งดุ ขาดทุนแทบทุกราย

ปัจจุบันการส่งสินค้ากลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการค้าออนไลน์ โดยเมื่อพิจารณาจากกำไรขาดทุนของธุรกิจขนส่งในไทยจะเห็นได้ว่าแทบทุกเจ้าขาดทุน เช่น ไปรษณีย์ไทย ขาดทุน เกือบ 20,000 ล้าน หรือ Kerry Express และ Flash Express ที่ขาดทุนนับหมื่นล้านเช่นกัน เพราะแข่งขันสูง มีการตัดราคา และลดราคาเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ

แต่ต้องยกเว้นให้กับเจ้าที่มีการให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Full Service e-Commerce) เช่น Shopee Lazada รวมไปถึง J&T (ผู้ให้บริการขนส่งของ TikTok) กลุ่มนี้ได้เปรียบกว่าบริษัทที่มีแต่บริการขนส่ง เพราะมีบริการตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างการขายสินค้าผ่าน e-Marketplace ของตัวเอง จึงควบคุมทุกรายการที่มีการสั่งซื้อ และส่งต่อไปยังปลายน้ำ คือส่งต่อให้บริษัทขนส่งของตัวเองได้ เห็นได้ชัดว่าบริษัทในกลุ่ม Full Service e-Commerce นี้สร้างกำไรและความได้เปรียบสูงมาก

คำแนะนำ

ในมุมพ่อค้าแม่ค้า ช่วงนี้คือโอกาสทองที่ค่าขนส่งถูกมาก ๆ ดังนั้นลองเปรียบเทียบบริษัทขนส่งที่ตัวเองใช้อยู่ดี ๆ เพราะคุณอาจได้ราคาที่ถูกกว่าที่คุณใช้อยู่ก็ได้

3.สงคราม Live Commerce-Entertainmerce

พฤติกรรมคนไทย เปลี่ยนไปซื้อสินค้าผ่านทางการดูวิดีโอสั้น หรือ Live Commerce มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อก่อนคนไทย นิยมซื้อสินค้าผ่าน Facebook Live แต่ปัจจุบันการมาของ TikTok ที่ผนวกการค้าออนไลน์เข้าไปในคลิปสั้น (การติดตะกร้า) หรือบริการ TikTok Shop ทำให้พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้าผ่าน TikTok ง่ายขึ้น

และด้วยการที่ TikTok ส่งลูกค้าให้พ่อค้าแม่ค้าง่ายกว่าและมีโปรโมชั่นมากกว่า การ Live ผ่าน Facebook ทำให้ หลายคนหันมาขายผ่าน TikTok ถล่มทลาย

รูปแบบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์เปลี่ยน การซื้อสินค้าผ่าน TikTok เป็นการซื้อแบบไม่ได้ตั้งใจ เรียกได้ว่า “โดนโน้มน้าวเพื่อซื้อ (Influence Buying)” เพราะคนที่มีเวลาว่าง มักเปิดดูคลิปสั้นใน TikTok และในคลิปสั้นนั้นจะสอดแทรกการขายสินค้าลงไปด้วย

ด้วยรูปแบบการนำเสนอของคนขายของใน TikTok น่าสนใจและดึงดูดให้คนอยากดู หลาย ๆ คนจึงสั่งซื้อสินค้า โดยที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน เรียกได้ว่า “Entertainmerce การค้าผ่านความบันเทิง”

ในขณะที่คนที่มีความตั้งใจจะซื้อสินค้า มักเข้าไปซื้อใน e-Marketplace มากกว่า ด้วยจำนวนสินค้าที่มีความหลากหลาย และมากกว่า รวมไปถึงราคาที่ถูกกว่า คนซื้อจึงมักเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างนัก

คำแนะนำ

การขายผ่าน Live Commerce เป็นแนวทางที่ต้องทำ ต้องทดลอง และต้องเอาจริง เพราะเป็นช่องทางใหม่ที่เข้าถึงลูกค้าได้ดีมาก ๆ และต้นทุนถูกกว่า

4.KOL Commerce การค้าผ่านคนดัง

ปัจจุบันคนไทยนิยมติดตามคนดัง คนที่มีชื่อเสียงทางออนไลน์ หรือ KOL (Key Opinion Leader) บางคนอาจเรียกว่าอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คนเหล่านี้มีฐานคนติดตามมาก เมื่อเริ่มพูดถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีคนเชื่อและสนใจซื้อตาม ทำให้เริ่มมีการเปิดบริการเหมือนเอเยนซี่ ที่รวบรวมเหล่าคนดังไว้ เมื่อเจ้าของสินค้าต้องการขายสินค้าออนไลน์ ก็จะส่งคนไปช่วยขาย และโปรโมตสินค้าให้แบรนด์ต่าง ๆ มีการคิดค่าบริการในรูปแบบของส่วนแบ่งทางการค้า (Commission)

บริการลักษณะนี้เรียกว่า MCN (Multi Channel Network) เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย

และด้วยกระแสนี้เอง ทำให้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งใจจะเป็นคนดังในโลกออนไลน์ หรือ KOL เพื่อขายสินค้าให้แบรนด์ต่าง ๆ ดังนั้น เจ้าของสินค้าและธุรกิจต่าง ๆ อาจหันมาใช้ KOL คนดังออนไลน์ช่วยขายและโปรโมตสินค้าของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นได้

คำแนะนำ

ลองหาและเลือกคนดังออนไลน์มาช่วยขายหรือแนะนำสินค้าของคุณผ่านช่องทางออนไลน์ อาจเพิ่มยอดขายได้ง่าย ๆ

5.Affiliate Commerce ฝากคนอื่นขาย

คนไทยนิยมซื้อสินค้าจากคนดัง คนที่รู้จักทางออนไลน์มากขึ้น การนำสินค้าไปให้คนเหล่านี้ช่วยขาย จึงเป็นแนวทางที่เริ่มนิยมกัน เรียกว่า “Affiliate Commerce หรือการค้าผ่านตัวแทน” ปัจจุบันเริ่มมีแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการผ่านระบบนี้มากขึ้น

วิธีง่าย ๆ คือเรานำสินค้าของเราไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ จากนั้นก็กำหนดราคาสินค้า รายละเอียด และรูปภาพ กำหนดค่าคอมมิชชั่นของสินค้าชิ้นนั้น ๆ ค่าคอมมิชชั่น คือเมื่อขายได้ ผู้ขายจะได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่โดยส่วนใหญ่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ผมขายแชมพูลดผมร่วง ขวดละ 100 บาท ผมให้ค่าคอมมิชชั่น 20% คนที่เอาสินค้าของผมไปขายได้ จะได้ 20 บาทจากทุกรายการคำสั่งซื้อ 1 ขวด

โดยรูปแบบการขายส่วนใหญ่เป็นการขายผ่านออนไลน์ ทำให้ตัวแทนสินค้าสมัครและเลือกสินค้าไปขายได้ง่าย ๆ ผ่าน

แพลตฟอร์ม และตัวแทนนำสินค้าของคุณ ไปนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนและคนเหล่านั้น เช่น ทาง TikTok หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ซึ่งคนเหล่านั้นอาจ เป็น KOL คนดังในโลกออนไลน์ก็ได้

เมื่อมีคนสนใจและกดสั่งซื้อ คำสั่งซื้อจะถูกส่งผ่านแพลตฟอร์มมาให้คุณรู้ หลังจากนั้น คุณก็ส่งสินค้าไปให้คนที่สั่งซื้อ และระบบ Platform จะคำนวณ และหักส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่นให้คนที่นำเสนอสินค้าของคุณโดยอัตโนมัติ ทำให้การค้าด้วยวิธีนี้เป็นที่นิยมมาก

โดยบริการลักษณะนี้ที่กำลังเป็นที่นิยม คือ TikTok Shop ที่มีบริการ Affiliate Commerce หรือการค้าผ่านตัวแทน อยู่ในนั้นเลย ทำให้คนที่นิยมสร้างเนื้อหาใน TikTok นำส่งสินค้าได้ครับ

คำแนะนำ

ลองไปเปิดร้านค้าที่ TikTok Shop และเปิดบริการฝากขายผ่านตัวแทน หรือ Affiliate Commerce ลองให้ค่าคอมมิชชั่นสูง ๆ (แต่คุณต้องไม่ขาดทุนนะ) น่าจะมีคนเอาสินค้าคุณไปขาย และแนะนำผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

6.สินค้าจีนยังบุกไทยต่อเนื่อง

สินค้าจีนยังคงบุกเข้าไทยกันต่อเนื่อง เนื่องจากการเชื่อมต่อของระบบขนส่งจากประเทศจีนมาประเทศไทยง่ายและสะดวกขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังมีการใช้กลไกของช่องว่าง ของการไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า โดยการนำสินค้าไปวางไว้ในโกดังพื้นที่ เขตปลอดอากร (Free Zone) ทำให้สินค้าจีนที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย มีความได้เปรียบกว่าสินค้าในประเทศ หรือผู้ที่นำเข้าเสียภาษีอย่างถูกต้อง

แต่ก็ต้องชื่นชมภาครัฐของไทย ที่มีการควบคุมติดตามสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สินค้าที่ไม่มี มอก., อย. และมาตรฐานต่าง ๆ ออกไปจาก Marketplace ทำให้สินค้าของจีนบางส่วนที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถขายได้ แต่สินค้าเหล่านี้ก็แอบไปขายในช่องทางออนไลน์อื่นที่รัฐควบคุมไม่ถึงแทน

การมาของสินค้าจีนจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบ เป็นสินค้าที่มีแบรนด์ มีมาตรฐาน และทำถูกต้องมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแข่งขันกับลูกค้าคนไทยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสินค้าจีนจะมีความได้เปรียบ เรื่องราคา ดังนั้นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าเหมือนกับสินค้าจีนต้องปรับตัว หรือปรับธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของการแข่งขันการค้าที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

คำแนะนำ

หากธุรกิจคุณต้องแข่งขันกับธุรกิจสินค้าจีน การแข่งขันด้านราคาไม่ใช่ทางออก คุณต้องปรับธุรกิจให้มีความได้เปรียบกว่า

โดยเพิ่มบริการหลังการขาย และเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้สินค้าที่คุณขายอยู่ เพื่อให้ได้เปรียบมากกว่าสินค้าจีน จุดที่ธุรกิจไทยได้เปรียบมากกว่าสินค้าจีน คือ ความใกล้ชิดกับลูกค้า และการให้บริการที่ครบวงจรตามที่ลูกค้าต้องการ

7.e-Commerce Automation & AI

การค้าขายออนไลน์ วันนี้เริ่มมีเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การทำธุรกิจในโลกออนไลน์ใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เช่น จากเดิมต้องเข้าไปลงประกาศขายสินค้าทีละชิ้นผ่านทีละช่องทาง ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มให้บริการในการเชื่อมต่อทุก ๆ ช่องทางออนไลน์ ทั้ง Marketplace อย่าง Shopee Lazada หรือ TikTok หรือเชื่อมต่อกับระบบแชตที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาได้หลากหลายช่องทาง เช่น Facebook Messenger เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อบริษัทขนส่งที่หลากหลาย รวมไปถึงระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ เช่น ระบบบัญชี ระบบ Call Center ระบบ CRM ที่ใช้ในการดูแลลูกค้า รวมไปถึงการเชื่อมต่อเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์รูปแบบใหม่ ๆ หรือ MarTech

ด้วยเทคโนโลยี AI ที่กำลังพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่ค้าขายออนไลน์จำเป็นต้องใช้ AI กับทุกขั้นตอนในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI ในการวางกลยุทธ์ และแผนการตลาด, การสร้างรูปภาพสินค้า และพรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น

คำแนะนำ

เริ่มต้นหาเครื่องมือช่วยการขายออนไลน์มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีมากมาย เช่น ระบบบริหารคำสั่งซื้อออนไลน์, ระบบชำระเงินออนไลน์, ระบบบริหารลูกค้าออนไลน์, ระบบบัญชีออนไลน์ เป็นต้น

8.เพิ่มการซื้อซ้ำผ่าน CDP Commerce

ช่องทางการค้าออนไลน์ที่หลากหลายในวันนี้ ทำให้ข้อมูลของลูกค้ากระจัดกระจายไปในหลาย ๆ ช่องทาง ทำให้การติดต่อและการเข้าใจลูกค้าเป็นเรื่องที่ท้าทายขึ้นจึงต้องการระบบรวมศูนย์ข้อมูลลูกค้าไว้ที่เดียว เพื่อบริหารจัดการข้อมูลลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การมาของ CDP (Customer Data Platform) คือ เครื่องมือที่จะช่วยรวบรวมและจัดการข้อมูลลูกค้าจากหลากหลายช่องทางมารวมไว้ที่เดียว ซึ่งในที่นี้จะมีข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการสั่งซื้อ ข้อมูลการติดต่อ ข้อมูลพฤติกรรม ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น

การใช้ CDP ช่วยให้เกิดการซื้อซ้ำ (Repeat Purchase) ง่ายขึ้น รวมไปถึงการเข้าสู่การทำการตลาดแบบอัตโนมัติ หรือ Marketing Automation ที่จะช่วยให้คุณทำการตลาดได้อย่างแม่นยำในระดับบุคคล และทุกอย่างเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คน

คำแนะนำ

ลองศึกษา และหาระบบ CDP ของไทยมาใช้ เช่น www.sable.asia หรือ www.pams.ai

9.รวยแต่เด็กด้วยออนไลน์

ปัจจัยทั้งหมดข้างต้น ทำให้การทำธุรกิจออนไลน์วันนี้ทำง่ายมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ๆ ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำ เราจึงเห็นเด็กรุ่นใหม่ ๆ สร้างยอดขายได้นับร้อยล้านเป็นจำนวนมาก ผ่านการทำธุรกิจทางออนไลน์ เช่น น้องโม สาวน้อยอายุ 24 จากบุรีรัมย์ ขายสกินแคร์ แบรนด์ของตัวเอง สร้างยอดขายนับ 100 ล้าน ภายในไม่ถึง 1 ปี

คำแนะนำ

เมื่อเด็ก ๆ ทำได้ คนอื่นก็ทำได้ แต่ขอให้เริ่มต้น “ลงมือทำ” หากสามารถ “ทำทันที” รวมไปถึง “ทำแตกต่าง” และ “ทำต่อเนื่องไม่หยุด” คุณจะเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจร้อยล้านได้ไม่ยากเลย

10.ต้องการซื้อ “ทันที” กับ On Demand Commerce

ความต้องการสินค้า “ทันที” ผ่านแอปสั่งอาหาร และสินค้าออนไลน์ กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตต่อเนื่อง จากเดิมที่คนนิยมสั่งเฉพาะอาหารผ่านแอปนี้เท่านั้น ผู้ให้บริการอย่าง Grab, Lineman, Robinhood, FoodPanda เริ่มขยายบริการไปยังสินค้าอื่น ๆ เช่น สินค้าสด สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต และตามร้านค้าใกล้ ๆ บ้าน ทำให้ App สั่งซื้ออาหาร และสินค้า เป็นช่องทางใหม่ พ่อค้าแม่ค้าขยายเป็นช่องทางการขายอีกช่องทาง ที่จะตอบโจทย์ พฤติกรรมคนที่ต้องการสินค้า “ทันที”

คำแนะนำ

ดูว่าสินค้าเราเหมาะขายแบบส่งได้ทันทีหรือเปล่า หากรู้แล้วว่าทำได้ ลองติดต่อไปยังบริการส่งอาหารออนไลน์ ซึ่งมีบริการ “มาร์ท (Mart)” ที่เปิดร้านค้าขายสินค้าได้ทันที

11.การค้าแบบสมัครสมาชิก (Subscription Commerce)

หากคุณล็อกให้ลูกค้าอยู่กับคุณได้ในระยะยาว จะช่วยให้คุณสร้างรายได้ได้ต่อเนื่อง หากจะเก็บเงินก้อนใหญ่ ๆ ก้อนเดียว อาจทำให้ลูกค้าคิดหนัก ดังนั้นการแบ่งค่าสินค้าและบริการเป็นรายเดือน จะทำให้ราคาถูกลง และเก็บเงินได้ต่อเนื่องในระยะยาว เราเรียกการเก็บเงินรูปแบบนี้ว่า การเก็บเงินแบบสมัครสมาชิก (Subscription) หรือการหักเงินอัตโนมัติรายเดือน (Recurring Payment) เป็นรูปแบบเดียวกับธุรกิจของ Netflix หรือบริการ iCloud ของ Apple ที่จ่ายเดือนละไม่กี่สิบบาท ก็จะได้พื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้น บริการทั้งหมดนี้ คุณต้องจ่ายเดือนละไม่กี่บาท แต่ต้องจ่ายต่อเนื่อง

คำแนะนำ

กลับมาดูธุรกิจของคุณว่าสินค้า และบริการของคุณทำได้ไหม ถ้าทำได้จะทำให้สินค้าและบริการถูกลง ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น หากมีโอกาสให้ลองทำเลย

12.D2C ขายตรงสู่ผู้บริโภคโอกาสใหม่ของผู้ผลิต

ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าไม่ต้องพึ่งพาช่องทางการขายค้าปลีกแบบเดิม ๆ ที่ต้องผ่านระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) หรือช่องทางการค้าที่เคยใช้มา นาน เช่น เครือข่ายค้าส่ง (Wholesaler), ตัวแทนกระจายสินค้า (Distributor) หรือเครือข่ายค้าปลีก

ผู้ผลิตจะขายตรงไปยังผู้บริโภคได้เลย ผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านค้าของแบรนด์ตัวเองผ่าน Marketplace หรือ Social Media ทำให้ลดต้นทุนจากการจ่ายให้กับเครือข่ายค้าปลีกแบบเดิม ๆ และที่สำคัญ ผู้ผลิตจะได้ข้อมูลของลูกค้า (Customer Data) ทันที เปิดโอกาสการค้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่ผู้ผลิตไม่เคยทำมาก่อน

คำแนะนำ

หากคุณเป็นผู้ผลิตสินค้า สิ่งที่คุณต้องทำ คือเริ่มสร้างทีมออนไลน์ ตั้งเป้ายอดขาย สร้างกลยุทธ์การขาย แต่ก็ต้องระวังการไปขัดกับช่องทางการขายหรือคู่ค้าเดิมของคุณด้วย

ทั้ง 12 ข้อที่กล่าวมาเป็นแนวโน้มการค้าออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 หวังว่าท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ท่านจะคิดตามและวางแผนลงมือปฏิบัติให้เกิดผลจริง