ผ้าแต่งกายคนไทย

ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสที่เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เปิดประเด็นถกเถียงต่อยอดกันต่อไปว่า ประวัติศาสตร์ในยุคนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสิ้นสมัยขุนหลวงนารายณ์ ประเด็นหนึ่งที่ละครเรื่องนี้เปิดไว้อย่างท้าทายก็คือ การแต่งกายของผู้คนยุคนั้นเป็นอย่างไร 

ทรงผม เครื่องประดับชายหญิงเป็นอย่างไร บ้านช่องห้องหอในเขตพระนครและปริมณฑลเป็นอย่างไร อาหารการกินเป็นแบบไหน

ในยุคสมัยขุนหลวงนารายณ์นั้น กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสุดขีดของการเป็นราชธานีอยู่ถึง 417 ปี เป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชาวต่างประเทศส่งเรือพร้อมกับทหารเข้ามาในเขตพระนครมากมาย เป็นต้นว่าดัตช์ หรือฮอลันดา โปรตุเกส สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างก็เข้ามาทำการค้าขายหากำไรจากการซื้อสินค้าของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องเทศ ไหม งาช้าง ดีบุก ครั่ง ไม้หอม เช่น ไม้จันทน์ ไม้กฤษณา รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาจากจีน ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงครองราชย์นั้นเป็นช่วงที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิที่สามารถขยายพระราชอำนาจ มีเมืองขึ้นมากมายในยุโรป ขณะเดียวกันก็เป็นอัครศาสนูปถัมภก ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่เข้มแข็งที่สุดในยุคนั้น

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีพระราชดำริสร้างสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่เพื่อทำการค้าหากำไรอย่างประเทศยุโรปอื่น ๆ หากแต่ต้องการใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไปยังประเทศต่าง ๆ รอบ ๆ สยาม ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นเอกราช ยังมิได้ตกเป็นอาณานิคมของฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส จะมีบ้างก็ประเทศฟิลิปปินส์ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงส่งมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ มาเป็นราชทูตเพื่อถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่พระนครศรีอยุธยา

มร.ซีมอง เดอ ลาลูแบร์ พำนักที่กรุงศรีอยุธยาเพียง 3 เดือนกับ 6 วันเท่านั้น ด้วยเป็นคนที่เฉลียวฉลาด มีการศึกษาและใฝ่รู้ เมื่อกลับออกไปฝรั่งเศสก็เขียนหนังสือชื่อ “จดหมายเหตุลาลูแบร์” เป็นหนังสือที่บรรยายภาพกรุงศรีอยุธยาในด้านต่าง ๆ ทั้งภูมิศาสตร์และราชสำนัก รวมทั้งบันทึกการเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อธิบายเรื่องวัดวาอาราม เรื่องปรัชญาของพุทธศาสนา อักษร มาตราชั่ง ตวง วัด และอื่น ๆ จนทำให้เห็นภาพ

ชาวบ้านในราชอาณาจักรสยามในสมัยนั้น ลาลูแบร์บรรยายว่า ไม่สวมเสื้อ แต่นุ่งผ้า ไม่เปลือยกายท่อนล่างแต่เปลือยกายท่อนบน ผู้ที่จะสวมเสื้อก็เป็นแต่เจ้านายและขุนนางที่ได้รับพระราชทานเสื้อผ้าแพรพรรณนั้นเอง ทรงผมผู้ชายตัดผมสั้น หวีแสกกลาง ส่วนชาวบ้านถ้าดูจากในภาพที่ลาลูแบร์

ให้ช่างวาดรูปนั้นร่างกายดูล่ำสัน ผิวค่อนข้างคล้ำดำ ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าเตี่ยวหรือยักรั้ง หรือโจงกระเบนแบบสั้นครึ่งขาอ่อน ไม่เหมือนข้าราชการเจ้านายที่นุ่งผ้าม่วง หรือผ้าลายคลุมเข่า ไม่สวมถุงน่อง ไม่สวมรองเท้า ส่วนผู้หญิงถ้ายังสาวยังไม่แต่งงานจะมีผ้าคาดอก

เมื่อแต่งงานแล้วมีลูกอ่อนแล้วก็ปล่อยหน้าอก อุ้มลูกดูดนม ไม่ได้ถือเป็นเรื่องแปลก เวลาลงอาบน้ำ คนไทยไม่เหมือนฝรั่งหรือญี่ปุ่น หรือบาหลีที่เปลือยกายอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง แต่คนไทยมีความละอาย ผู้ชายจะนุ่งผ้าขาวม้า

เป็นผ้านุ่งอย่างแคบมีความกว้างประมาณ 50-60 ซ.ม. ลายตาหมากรุก คนอีสานและคนลาวเชื่อว่า ผ้าขาวม้าสามารถใช้งานได้สารพัด ใช้เคียนหัวกันแดด ใช้เป็นผ้าคาดอกสำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว ใช้ผูกเป็นเปลนอนให้ลูกอ่อน ใช้เป็นผ้าเช็ดตัว เช็ดหน้า ใช้เป็นผ้าปูนอน ใช้เป็นใบเรือสำหรับแล่นเรือเล็ก ใช้เป็นอวนจับปลา ใช้สำหรับกรองน้ำใช้ เมื่อใช้จนเปื่อยขาดแล้วฉีกทำเป็นผ้าอ้อมเด็กเล็ก หรือใช้ห่อสำลีหรือนุ่น หรือกาบมะพร้าวทำเป็นผ้าขี่ม้าอย่างแม่การะเกดใช้ หรือใช้เป็นผ้าเช็ดจานชามหม้อไห เป็นผ้าถูเรือน ในที่สุดใช้ควั่นเป็นไส้ตะเกียง หรือไส้คบไม้ชุบน้ำมันยางจุดไฟก็ได้

เมื่อจะออกงาน เช่น ไปงานบวชนาค โกนจุก ขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานศพ หรือไปงานวัดงานบุญ ผู้หญิงก็จะสวมเสื้อห่มสะไบ หรืออีสานเรียกว่าผ้าเบี่ยงทับเพื่อให้ดูสุภาพและเป็นการให้เกียรติเจ้าของงาน ขณะเดียวกันก็เป็นการใช้อวดเสื้อผ้าแพรพรรณ เพชรพลอยทองหยอง อันสวยงามไปด้วย สำหรับผู้หญิงรวมทั้งผู้ชายด้วยเครื่องแต่งกายเข้าพานบายศรีสู่ขวัญในวันแต่งงาน จะเป็นชุดแต่งกายที่งดงามที่สุดของคู่บ่าวสาวในวันนั้น แม้ถึง

ทุกวันนี้ก็ตาม เพียงแต่ทุกวันนี้มีบริการให้เช่า ไม่ต้องเสียเงินมากมายไปตัดเย็บ เพราะใช้เพียงวันเดียว

เมื่อ 60-70 ปีก่อน ทุกบ้านในภาคอีสานและภาคเหนือจะต้องมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน เด็กสาวทุกคนต้องหัดทอผ้าลวดลายต่าง ๆ ต้องหัดเข็นฝ้ายโดยเครื่องบีบเอาเมล็ดฝ้ายออก เรียกว่า อิ้ว และรู้จักเอาฝ้ายมาดีดโดยเครื่องดีดฝ้ายรูปร่างเหมือนคันธนู แล้วจับเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำมาปั่นเป็นเส้นด้ายเรียกว่าหลงเข็นฝ้าย แล้วพันไว้ที่กงด้าย หรือกงฝ้าย ก่อนนำไปเรียงที่ฟืมเพื่อทอออกมาเป็นผืน ถ้าจะเป็นผ้ายกลายดอกต่าง ๆ ก็ใช้เข็มร้อยด้ายสีไว้ที่ปลายแล้วปักลงหรือยกขึ้นให้เป็นดอกเป็นลายต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้แรงงานมากมาย แต่เดี๋ยวนี้เมื่ออุตสาหกรรมเจริญขึ้น เส้นด้ายเส้นไหม เครื่องที่ปั่นด้ายก็เป็นเครื่องจักร หัตถกรรมที่ทำด้วยมือก็สูญหายไปตามกาลเวลา บัดนี้ที่ใต้ถุนบ้านทุกบ้านทุกภาคของเราไม่มีกี่ทอผ้าให้เห็นอีกแล้ว

การย้อมผ้าเป็นสีน้ำเงินหรือสีกรมท่า เนื่องจากข้าราชการกรมท่านุ่งผ้าสีน้ำเงินเข้มจึงเรียกกันว่า สีกรมท่า โดยใช้ต้นครามซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองมีทั่วไปทุกภาคในเมืองไทยก็ไม่มีใครเห็นแล้ว หรือสีดำที่ใช้ย้อมผ้าซึ่งได้จากเขม่าก้นหม้อ หรือสีจากเปลือกไม้ แก่นไม้ เปลือกผลไม้ หรือเหง้าหัวใต้ดิน เช่น ขมิ้น รวมทั้งแร่หินชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นสีย้อมผ้าก็หมดไปแล้ว

ลาลูแบร์ยังบรรยายการครองผ้าของพระภิกษุ การนุ่งขาวห่มขาวของอุบาสกและอุบาสิกา ที่เข้าวัดเข้าวาเพื่อมารักษาศีลในวันพระและวันโกน โดยบรรยายว่าพระครองผ้าอยู่ 3 ผืน คือ อังสะ จีวรและสังฆาฏิ ลืมนับสบงเข้าไปด้วย ไม่ลืมกล่าวถึงตลกและสายคล้องบาตรสำหรับพระภิกษุและสามเณร

ส่วนสัตบุรุษที่ถือศีลกินเฉพาะเพล แต่งตัวอย่างชาวบ้านธรรมดาแต่เป็นนุ่งขาวห่มขาว ไม่โกนศีรษะ ยกเว้นนางชีที่นุ่งขาวห่มขาว โกนศีรษะแต่ไม่โกนคิ้วเหมือนกับพระ ดังนั้นสำหรับพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ก็แต่งตัวมิดชิดทั้งท่อนล่างและท่อนบน ไม่เหมือนตอนอยู่ลำลองหรือตอนทำไร่ทำสวนทำนา ที่ใส่ผ้าเตี่ยวกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อสำหรับผู้ชายและใช้ผ้าคาดอกสำหรับผู้หญิง

สำหรับการเข้าเฝ้าเจ้านาย เคยอ่านว่าห้ามสวมเสื้อ คงให้แต่นุ่งผ้า ฝีพายในเรือพระที่นั่งก็ห้ามสวมเสื้ออย่างภาพวาดในหนังสือของลาลูแบร์ เหตุผลที่ว่าไม่ให้สวมเสื้อเข้าเฝ้าเพราะเกรงจะซ่อนอาวุธเข้าเฝ้าได้ง่าย

สมัยเป็นที่ปรึกษาประธานธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ มีหน้าที่ต้องไปรับประทานอาหารกลางวันกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่บ้านซอยสวนพลู ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เสด็จออกว่าราชการ เมื่อชาวพนักงานชูพุ่มกระทั่งมโหระทึกแล้ว

พระองค์ท่านทรงลดผ้าคลุมลงมาเป็นห่มเฉียง ทรงธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้ว เสด็จขึ้นแท่นพระที่นั่ง เสวยหมากพลูจากพานพระศรี ทรงหยิบบุหรี่ไทยมวนโตจุด ลดผ้าที่ทรงห่มเฉียงมาคาดที่เอวแล้วจึงเงยพระพักตร์มาที่ขุนนาง ข้าทูลพระบาทที่หมอบกราบอยู่ แล้วตรัสว่า “มีอะไรก็ว่ามา” การประชุมออกว่าราชการจึงเริ่มขึ้น

ท่านเล่าว่าไม่มีการสวมเสื้อเข้าเฝ้า แต่นุ่งผ้าเรียบร้อย ห้ามปล่อยลอยชายคือให้เหน็บหางกระเบน จนล่วงมาถึงรัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ผู้มีเวรเฝ้าต้องสวมเสื้อเข้าเฝ้า เพราะมีฝรั่งปะปนมาเข้าเฝ้าด้วย แต่ก็ยังหมอบกราบอยู่สำหรับคนไทย จนมาถึงรัชกาลที่ 5 จึงเลิกประเพณีหมอบกราบ แต่ให้ยืนเฝ้าแบบฝรั่ง มิฉะนั้นคนไทยต้องไปหมอบกราบอยู่กับพื้นใกล้ ๆ

กับเท้าของฝรั่ง อย่างที่เราเห็นในภาพมองซิเออร์ ซีมอง เดอ ลาลูแบร์ ยืนเฝ้าแต่งตัวเต็มยศเพื่อถวายพระราชสาส์น ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ขณะที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ กับขุนนางไทยท่านอื่น ๆ หมอบกราบอยู่กับพื้น

เมืองไทยแต่ไหนแต่ไรจึงเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์จนไม่มีราคา ผ้าผ่อนไหมแพรก็ผลิตเองได้ การนำเข้าไม่สู้จะสำคัญ ต่างชาติจึงพยายามเข้ามาซื้อของจาก “พระคลังสินค้า” เพื่อนำไปขายต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่คนไทยทำไม่ได้ บ้านช่องของชาวต่างประเทศเป็นตึก เป็นไม้มุงกระเบื้อง ตั้งอยู่บนดิน แต่บ้านคนไทยตั้งเสาใต้ถุนสูง พื้นปูด้วยฟาก

หลังคาจากหรือหญ้าแฝก หญ้าคาหรือใบตองตึง เสื้อผ้าสวมใส่ตามชั้นวรรณะ ไม่เสมอกัน เพราะมีกฎหมายห้ามทาสห้ามไพร่แต่งกายด้วยผ้าด้วยสีและเครื่องประดับอย่างนั้นอย่างนี้อยู่แล้ว ทำให้ประเพณีการแต่งกายสืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มาถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามจึงได้มีการออก พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ ห้ามนุ่งโจงกระเบน ให้สวมกระโปรง ผ้าซิ่น ใส่เสื้อ ผู้ชายก็แต่งแบบฝรั่ง ห้ามนุ่งโจงและห้ามนุ่งกางเกงแพร ห้ามกางเกงขาก๊วย ห้ามเปลือยท่อนบน ห้ามเคี้ยวหมาก หากจะไปติดต่อราชการต้องสวมหมวกและสวมรองเท้าหุ้มส้นด้วย การนุ่งห่มของคนไทยในชนบท บัดนี้ก็ไม่แตกต่างจากคนในเมือง คงจะเป็นอิทธิพลของโทรทัศน์ ภาพยนตร์และหนังสือพิมพ์ เมื่อมีละครย้อนยุคแต่งกายแบบเดิมก็เลยฮือฮากัน