การเมืองในมาเลเซีย โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

มหาธีร์ โมฮัมหมัด (รอยเตอร์)

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

มาเลเซียได้รับเอกราชเมื่อปี 2500 หรือ ค.ศ. 1957 หลังจากอินเดียได้รับเอกราช จากการเรียกร้องเอกราชอย่างสันติ นำโดย มหาตมะ คานธี และการต่อสู้ด้วยกำลังของโฮจิมินห์ เพื่อปลดปล่อยเวียดนามจากฝรั่งเศส เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชขึ้นทั่วไปในเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกา มาเลเซียภายใต้การนำของ ตวนกู อับดุล ระฮ์มัน ก็ได้ประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นเหตุให้ทั้งจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสได้ถึงกาลอวสาน

ตวนกู อับดุล ระฮ์มัน ได้ออกแบบการปกครองของมลายูและรัฐอื่นที่อยู่บนเกาะบอร์เนียว ในส่วนที่อาณานิคมของอังกฤษ อันได้แก่ ซาบาห์ และซาราวัก เข้ากับสมาพันธรัฐมลายา ตั้งเป็นประเทศเรียกว่ามาเลเซีย ส่วนรัฐบรูไนซึ่งมีสุลต่านโบเกีย ไม่ยอมเข้าร่วม ขอเป็นรัฐเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้

รูปแบบการปกครองของมาเลเซียก็ยังคงรูปแบบการเป็นสมาพันธรัฐ รัฐต่าง ๆ มีสุลต่านเป็นประมุข ยกเว้นรัฐสลังงอร์ ที่ไม่มีสุลต่านเป็นประมุข มีการแบ่งอำนาจกันระหว่างรัฐบาลกลางมาเลเซียกับรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ ซึ่งมีมุขมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือผู้นำเสียงข้างมากจากสภาของรัฐเป็นผู้เลือก เลียนแบบรัฐบาลกลางที่กัวลาลัมเปอร์ ในลักษณะเดียวกันกับประเทศที่จัดการปกครองในรูปแบบสมาพันธรัฐในภูมิภาคอื่น ๆ

รัฐธรรมนูญของมาเลเซียอนุญาตให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ แต่พรรคการเมืองที่ได้รับการจัดตั้งโดย ตวนกู อับดุล ระฮ์มัน อันได้แก่ พรรคองค์กรสหมาเลย์แห่งชาติ หรือ United Malay National Organization หรือ UMNO อันเป็นการรวมเอาพรรคของชาวมลายาหรือมลายู ชาวจีนและชาวอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน เพราะขณะที่ได้รับเอกราชเมื่อ 60 ปีก่อน สัดส่วนของประชากรมีชาวมลายู 40 เปอร์เซ็นต์ ชาวจีน 40 เปอร์เซ็นต์ และชาวอินเดียซึ่งส่วนมากเป็นชาวทมิฬและซิกข์ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนชนชาติอื่นเช่น สิงหล อังกฤษ ไทย มีไม่มากนัก

เนื่องจากชาวมลายูเป็นมุสลิมที่ไม่คุมกำเนิด ชาวจีนและอินเดียได้อพยพย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ และแคนาดา เพราะนโยบายภูมิบุตรที่กีดกันชนชาติอื่น สนับสนุนแต่คนมลายูทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และการรับราชการ เศรษฐกิจของมาเลเซียส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือของชาวจีนและอินเดีย การกีดกันในเรื่องเชื้อชาติในมาเลเซียเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ข้าราชการระดับสูงต้องเป็นชาวมาเลย์หรือชาวมลายูเท่านั้น

พรรคองค์กรสหมาเลย์แห่งชาติ หรืออัมโน ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด โดยการจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐบาลให้กับชาวมลายู จีน และอินเดีย ขณะเดียวกันก็มีการกีดกันฝ่ายค้านทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ

ขณะที่ได้รับเอกราช สิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออก อังกฤษปกครองโดยตรงในฐานะอาณานิคม หรือ crown colony เช่นเดียวกับรัฐที่ไม่มีสุลต่าน เช่น รัฐสลังงอร์ เป็นต้น ไม่ใช่รัฐในอารักขา หรือ protectorate states เพราะยังมีสุลต่านเป็นประมุขของรัฐ แต่มีมุขมนตรีหรือ chief minister เป็นหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสุลต่านเหล่านั้น ประมุขของประเทศอันได้แก่ ยังดี เปอร์ตวน อากง สุลต่านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นและอยู่ในวาระคราวละ 6 ปี ไม่มีอำนาจอะไรเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ

พรรคอัมโนเป็นรัฐบาลต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 60 ปี พรรคอื่น ๆ เมื่อตั้งมาแล้วก็ล้มหายตายจากไปบ้าง โดนกลั่นแกล้งบ้าง ผู้นำพรรคถูกจับกุมบ้าง และผู้ที่ใช้อำนาจในการขจัดฝ่ายตรงกันข้ามด้วยกฎหมายเพื่อความมั่นคงของชาติมากที่สุดก็คือ นายแพทย์มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด ซึ่งมีเชื้อสายชาวอาหรับ นายกรัฐมนตรีผู้ที่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 20 ปี ก่อนจะผ่องถ่ายให้ นาจิบ ราซัก บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรี ตุน อับดุล ราซัก สืบต่อจากเขา

ความจริงแล้วมหาธีร์เคยตั้งทายาทการเมืองมาก่อนหลายคน โดยการตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และประกาศว่าเป็นทายาท จะเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ทุกคนก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยการให้ลาออกไปโดยดี ถ้าขัดขืนก็จะโดนข้อหาคอร์รัปชั่นบ้าง มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดกฎหมายอิสลามบ้าง โดย นายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นคนแรกที่ขัดขืนจึงถูกศาลพิพากษาให้จำคุก แม้แต่ ยังดี เปอร์ตวน อากง มหาธีร์นั้นเป็นคนที่ระแวงและขัดใจไม่ได้

เมื่อนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ถูกสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่ากระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง โอนเงินกองทุนของชาติไปเข้าบัญชีส่วนตัว มหาธีร์ก็จัดการเดินขบวนขับไล่ แต่ไม่สำเร็จ จึงจัดตั้งพรรคแนวร่วมฝ่ายค้านลงสมัครรับเลือกตั้งเองและประสบความสำเร็จ ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร 122 ที่นั่ง แม้ว่าจำนวนคนทั้งประเทศเลือกพรรคของเขามีจำนวนน้อยกว่าจำนวนคนเลือกพรรคอัมโนของนายนาจิบ ราซัก ก็ตามการกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งด้วยความร่วมมือของ อันวาร์ อิบราฮิม ที่ยังถูกจำคุกเพราะถูกกล่าวหาจากนาจิบ ที่ยังมีประชาชนให้การสนับสนุนอยู่เพราะเชื่อว่าถูกกลั่นแกล้ง

ทันทีที่ได้เข้าเฝ้าปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ขอให้ ยังดี เปอร์ตวน อากง โมฮัมหมัดที่ 5 ประกาศนิรโทษกรรมให้กับ อันวาร์ อิบราฮิม ทันที แสดงถึงบารมีทางการเมืองมหาศาล พร้อมกับประกาศนโยบาย 13 ข้อ ที่จะดำเนินการใน 100 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจก็คือยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เรียกว่าภาษีสินค้าและบริการ หันกลับมาใช้ภาษีการค้าแทน เป็นต้น

เข้าใจว่ามหาธีร์คงไม่เข้าใจระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีการค้าดีพอ เพราะการกลับไปใช้ภาษีการค้า ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ๆ เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง รายได้จากการส่งออกลดลง มาเลเซียซึ่งเคยพึ่งการส่งออกดีบุก น้ำมัน ยางพารา เป็นหลัก ก็ประสบความลำบาก เพราะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวสู้ไทยและสิงคโปร์ไม่ได้

ในขณะที่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2500 สิงคโปร์เคยอยู่ในมาเลเซีย แต่พรรคกิจประชาชน หรือ People Action Party ของ นายลี กวนยู ได้รับความนิยมจากชาวจีนและชาวอินเดียบนคาบสมุทรผืนแผ่นดินใหญ่อย่างมาก รัฐสภาของมาเลเซียจึงมีมติให้สิงคโปร์ออกจากมาเลเซีย ให้ออกไปเป็นเอกราชต่างหาก วันที่สิงคโปร์ออกมาจากสหพันธ์นั้น นายลี กวนยู ได้กล่าวคำอำลาพร้อมกับน้ำตา โทรทัศน์เสนอข่าวเผยแพร่ออกไปทั่วโลก เป็นภาพที่สะเทือนใจชาวจีนในมลายูเป็นอันมาก ส่วนบอร์เนียวเหนือและซาราวัก กองทัพมลายูเข้ายึดพื้นที่ไว้ทันทีที่กองทหารอังกฤษถอนออกไป แต่บรูไนมีสนธิสัญญาความมั่นคงกับอังกฤษ

รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซีย จึงเป็นรูปแบบการปกครองแบบพรรคเดียว ซึ่งไม่อาจรับรองได้ว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และไม่แน่นักว่าประชาชนมีเสรีภาพพอในการเลือกพรรคการเมืองอื่นมากน้อยเพียงใด เพราะเสรีภาพของคนมาเลเซียและสิงคโปร์นั้นมีน้อยกว่าประชาชนคนไทยมาก แม้ในยามที่เรามีรัฐบาลเผด็จการทหาร

การที่มหาธีร์ชนะการเลือกตั้งกลับมาได้ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาล นาจิบ ราซัก ก็ได้ใช้มาตรการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากมาย ตามที่กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติให้อำนาจไว้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเครือข่ายอำนาจรัฐที่มหาธีร์สร้างไว้ยังคงแข็งแกร่งและดำรงอยู่เบื้องหลังรัฐบาลมาเลเซียมาโดยตลอด แม้จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งมาถึง 15 ปีก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผลงานของมหาธีร์ขณะที่เขาอยู่ในอำนาจก็มีมาก เมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ประเทศไทยถูกบังคับโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศให้ลดค่าเงินบาท เปิดเสรีทางการเงินให้ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเสรี มหาธีร์ยอมลดค่าเงินริงกิต แต่หันกลับไปใช้นโยบายตรึงค่าเงินไว้กับตะกร้าเงินสกุลแข็ง ซึ่งก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐ กลับไปใช้นโยบายควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งขัดกับนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

เมื่อถูกวิจารณ์จากไอเอ็มเอฟและผู้นำประเทศไทยที่ยอมรับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ทุกอย่าง มหาธีร์ศอกกลับว่าเขาเป็นหมอ เมื่อคนไข้ขึ้นเตียงผ่าตัดแล้วเขาต้องตัดสินใจ ไม่เหมือนนักกฎหมาย ไม่ต้องรีบตัดสินใจ ประวิงเวลาให้คนไข้หายเองได้ ในที่สุดประเทศไทยทำผิดที่เดินตาม ไอเอ็มเอฟ มหาธีร์ปฏิเสธไม่เดินตาม ไอเอ็มเอฟ เป็นฝ่ายถูก

เมื่อเอ็นจีโอฝรั่งวิจารณ์เรื่องอนุรักษ์ป่าไม้ เขาตอบว่าฝรั่งทำลายป่าจนหมดแล้วให้เราอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อผลิตอากาศให้ชาวตะวันตกหายใจ ประเทศเราถ้าไม่ถางป่าเพียง 5-10 ปี แม้แต่กรุงกัวลาลัมเปอร์ก็จะเป็นป่า เพราะเราอยู่ในเขตป่าฝน ไม่เหมือนยุโรปและประเทศหนาวอื่น ๆ ต้องใช้เวลา 50-60 ปี ต้นไม้จึงจะโตเป็นป่า

เมื่อออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะขอเป็นสมาชิกอาเซียน มหาธีร์ก็คัดค้าน เขากล่าวว่า เพราะชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่ใช่คนเอเชีย แต่เป็นผู้มารุกรานเอเชียต่างหาก มหาธีร์จึงเป็นผู้นำของอาเซียนโดยปริยาย และเป็นผู้กอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวเอเชียเป็นอันมาก

แม้มหาธีร์จะไม่ใช่นักประชาธิปไตยโดยบริสุทธิ์ แต่ก็สามารถรักษาระบอบการปกครองที่ยังยึดโยงกับประชาชน ซึ่งสืบเนื่องมาจากนักการเมืองรุ่นก่อน สามารถป้องกันไม่ให้มีปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ให้ทหารเข้ามายุ่งการเมือง ทั้ง ๆ ที่ในยุคสงครามเย็นต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา นำโดยชาวจีนในมลายู แต่ก็ไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย พม่า บังกลาเทศ และกัมพูชา เป็นต้น มหาธีร์เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนหนึ่งที่สร้างเกียรติภูมิให้ประเทศอย่างมาก และคิดว่าในที่สุดเขาคงกลับไปสู่พรรคอัมโนตามเดิม

ขอให้มหาธีร์ประสบความสำเร็จ