ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

สงครามการค้าระหว่างประเทศที่ประกาศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีน ซึ่งบัดนี้กำลังจะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนามาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากและยาวนาน แต่ก็ยังอยู่ได้โดยไม่ล้มละลาย เพราะประชาคมโลกยังใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันทั่วโลก การที่ดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลเดียวนอกจากทองคำที่ชาวโลกยังมีความต้องการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เป็นงินที่ทั่วโลกใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่าทองคำ มากกว่าสิทธิถอนเงินพิเศษ SDR ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ

ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้มีทุนสำรองในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดประมาณ 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บัดนี้ถูกจีนแซงหน้าไปนานแล้ว เพราะจีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปของเงินดอลลาร์ถึง 3.3 ล้านล้านเหรียญ และยังเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับอเมริกา มีเงินดอลลาร์ไหลเข้าประเทศผ่าน

ธนาคารพาณิชย์ เงินสกุลท้องถิ่นก็จะแพงหรือแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของตนและสินค้านำเข้าก็จะถูกลง อุตสาหกรรมภายในประเทศเดือดร้อน เพราะต้องขึ้นราคาเพื่อการส่งออกซึ่งทำไม่ได้ ประเทศเล็กอย่างประเทศไทยตั้งราคาส่งออกเองไม่ได้ เป็นผู้รับราคาตลาดโลกหรือเป็น price taker ได้เท่านั้น เมื่อเงินท้องถิ่นแข็งขึ้นก็ทำให้ผู้ส่งออกนำดอลลาร์มาแลกเป็นเงินท้องถิ่นได้น้อยลง

การที่ประชาชนชาวสหรัฐมีมาตรฐานการดำรงชีวิตสูงกว่าชาติใด ๆ ในโลก ค่าแรงของผู้ใช้แรงงานในสหรัฐจึงสูง สินค้าที่ผลิตในอเมริกาจึงแพงกว่าราคาตลาดโลก ค่าเงินดอลลาร์ก็ควรจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวนของจีน  เงินเยนของญี่ปุ่น และเงินยูโรของสหภาพยุโรป แต่ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจีนหรือยุโรปการมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเงินดอลลาร์เหล่านี้ไหลกลับไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ เพราะกระทรวงการคลังของสหรัฐต้องออกพันธบัตรขายให้กับประชาชนและสถาบันการเงิน เพื่อไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จีนกลายเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกามากที่สุด ค่าเงินดอลลาร์ไม่ตกเท่าที่ควร

ดูก็เหมือนดี เพราะเท่ากับรัฐบาลอเมริกันใช้วิธีพิมพ์กระดาษเป็นเงิน นำไปแลกกับสินค้าและบริการมาใช้อุปโภคบริโภค แต่ถ้าทำมาก ๆ รัฐบาลอเมริกันก็ต้องเก็บภาษีอากรจากประชาชนของตนมาชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ถือพันธบัตรของรัฐบาล จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินของสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนหรือดุลการชำระเงิน โยงกันเป็นลูกโซ่ของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

ส่วนจีนและชาวโลกก็ได้ดอกเบี้ยจากกระทรวงการคลังของสหรัฐ ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้ค่าเงินของตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐ เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตนไว้ เท่ากับสหรัฐอเมริกาเป็นผู้รับภาระในการผลักดันเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ บนต้นทุนทางการเงินของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาจึงไม่มีทางออก เพราะการจะแทรกแซงตลาดทั้งในสหรัฐเองทั้งในยุโรปและเอเชียเพื่อให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงก็ไม่อยู่ในอำนาจของตน อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐก็กลัวจะเกิดภาวะเงินเฟ้อในอเมริกา จึงพยายามขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน ยิ่งทำให้เงินดอลลาร์ไหลกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน การขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจึงถูกชดเชยด้วยการเกินดุลเงินทุน วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จักจบ

โดนัลด์ ทรัมป์ จึงใช้วิธีโดยตรง ไม่ใช้กลไกตลาดในการลดการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่ผิดกฎขององค์การค้าระหว่างประเทศหรือ WTO โดยไม่มีประเทศใดกล้าโวยวายผ่านองค์การค้าระหว่างประเทศ เพราะอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ ใคร ๆ ก็เกรงใจ เกรงจะกระทบผลประโยชน์ของตนจากการส่งสินค้าและบริการไปขายกับสหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งจีน

เหตุที่จีนสงบปากสงบคำ ไม่ได้เถียงกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ นอกจากวัฒนธรรมผู้ดีของจีนที่ไม่ใช้กิริยาวาจาแบบ “กุ๊ยอเมริกัน” แล้ว ก็เป็นของธรรมดาที่ผู้ที่ได้เปรียบในการติดต่อค้าขายย่อมต้องเอาใจลูกค้าของตน อันเป็นเหตุให้คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นก่อนประสบความสำเร็จในการทำมาค้าขายในเมืองไทย

มีเรื่องเล่าเปรียบเทียบระหว่างคนขายอาหารที่เป็นคนไทยกับคนจีน พ่อค้าไทยเมื่อถูกลูกค้าตะโกนใส่ว่า “อั๊วจะกินวันนี้นะ ไม่ใช่พรุ่งนี้” พ่อค้าไทยจะตอบว่า “อยากเร็วก็ไปกินร้านอื่นไป ร้านนี้ช้า” แต่ถ้าพ่อค้าจีนจะตอบว่า “ครับ ๆ ได้แล้วครับ ได้แล้วครับ” ทั้ง ๆ ที่ต้องรอนานกว่า เพราะร้านคนจีนมีลูกค้ามากกว่าร้านคนไทย ไม่ช้าร้านคนไทยก็ต้องเลิกไป ขายกิจการให้คนจีน ขยายกันใหญ่โตขึ้น ส่วนคนไทยขายร้านได้แล้วก็ไปกินเหล้าเมายา เล่นการพนัน ต้องกลับมาเป็นลูกจ้างร้านคนจีนที่ตนขายให้

เข้าใจว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนก็คงเป็นเช่นนั้น ประธานาธิบดีจีนถูกต่อว่าด้วยคำแรง ๆ จากกุ๊ยอเมริกัน ก็ไม่ตอบโต้ในระดับเดียวกัน จีนก็ยังคงซื้อกิจการของบริษัทอเมริกันต่อไป ค้าขายกับอเมริกันต่อไป ถ้าประธานาธิบดีอเมริกาทำสำเร็จ

คนเดือดร้อนก็คือผู้บริโภคอเมริกันและผู้ผลิตในจีน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประเทศที่เปิดตลาดค้าขายกัน ทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากการค้าขายระหว่างกัน หรืออีกนัยหนึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดค้าขายซึ่งกันและกัน

ที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกประเทศต่าง ๆ ย่อมมีความถนัดความชำนาญในการผลิตไม่เท่ากัน หรือประเทศมีทรัพยากรต่าง ๆ ไม่เท่ากัน บางประเทศมีทรัพยากรพลังงานมาก แต่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อย แห้งแล้ง ไม่เหมาะแก่การกสิกรรม ประมง หรือกิจการการเกษตรอื่น ๆ

บางประเทศมีความถนัดในการค้นคว้าวิจัยทางเทคโนโลยีหรือวิทยาการการผลิตใหม่ ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สินค้าใหม่ ๆ หรือต่อยอดวิทยาการใหม่ ๆ ประยุกต์การผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ทำการตลาดให้คนเข้าใจว่าสินค้าของตนมีคุณภาพสูงกว่าอเมริกามีเงินทุนในการวิจัยค้นคว้าวิทยากรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เกือบทุกด้าน แต่ผลิตของไม่มีรสนิยมเพราะคนอเมริกันไม่มีรสนิยมในการบริโภค ไม่มีความทันสมัยในการแต่งกายและการกินอยู่ วัฒนธรรมง่าย ๆ อย่างคาวบอยยังคงอยู่ ไม่มีความรู้ในเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในทวีปอื่น ๆ ทั่วโลกเลย เคยถูกคนอเมริกันที่รับนักเรียนไปอยู่ด้วยที่โคโลราโด

ถามว่า เมืองไทยยังขี่ช้างไปไหนมาไหนอยู่หรือเปล่า หรือเป็นเวียตกงหรือเปล่า เพราะหน้าตาเหมือนกัน คนอเมริกันจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลของตนเสมอ เมื่อรัฐบาลอเมริกันสร้างทฤษฎีโดมิโนขึ้นมาบอกว่า เมื่อประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชาได้รับการปลดปล่อยกลายเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ก็คิดว่าประเทศไทย

จะถูกปลดปล่อยจนกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง ปัญหาคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเป็นปัญหาภายในประเทศ อเมริกาเสียเงินทองงบประมาณมากมายจนเป็นเหตุเงินดอลลาร์ต้องออกจากมาตรฐานทองคำ ต้องลดค่าเงินอย่างมหาศาล เพราะไม่มีทองให้ธนาคารกลางประเทศอื่นเอาดอลลาร์มาแลกทอง

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะลดการนำเข้าโดยตรงโดยการบังคับและจะบังคับส่งออกมากขึ้น เป็นการฝืนกลไกตลาด จะผลิตในสิ่งที่ตนไม่ถนัด จะไม่ขายเทคโนโลยีให้จีน เท่ากับบังคับจีนให้ลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองแทนการซื้อจากสหรัฐอเมริกาปกติผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีทีหลังก็มักจะดีกว่าและก้าวหน้ากว่าเทคโนโลยีที่พัฒนามาก่อน แม้ว่าในตอนแรก ๆ อาจจะมีราคาสูงกว่า เพราะต้นทุนสูงกว่า แต่นานวันเข้าสามารถเจาะตลาดได้มากขึ้น ตลาดขยายตัวขึ้น ต้นทุนก็จะถูกลง ราคาก็จะถูกลง ตรงกันข้ามกับประเทศที่ปกป้องอุตสาหกรรมของตนโดยตั้งกำแพงภาษีขาเข้าแพง ๆ กลายเป็นการอุ้มชูอุตสาหกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ ล้าสมัย หมดความนิยม

แทนที่จะเลิกไปแล้วให้มีการลงทุนใหม่ที่ก้าวหน้า ทันสมัยกว่า ราคาถูกกว่า เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า จากทฤษฎีความได้เปรียบเชิงเทียบ comparative advantage ในตำราเศรษฐศาสตร์ที่ อดัม สมิธ และเดวิด ริคาร์โด เคยกล่าวไว้ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จนถึงปัจจุบัน

ทำนายได้เลยว่านโยบาย “อเมริกันมาก่อน” หรือ “American first” จะประสบความล้มเหลว เช่นเดียวกับ “วาทะของมอนโร” หรือ Monroe’s doctrine ว่า อเมริกาอยู่คนเดียวแบบโรบินสัน ครูโช ก็ได้ ไม่ต้องพึ่งพาคบหากับใคร เพราะอเมริกากว้างใหญ่ไพศาล มีครบทุกอย่างแล้ว

จักรพรรดิจีน เฉียน หลง ครองราชย์อยู่ 68 ปี จึงสละราชสมบัติ ก็เคยตอบฝรั่งที่ร้องเรียนว่าขอให้จีนซื้อของจากฝรั่งบ้าง เพราะจีนเกินดุลกับฝรั่งมากจนฝรั่งไม่มีเงินจะจ่ายให้จีนแล้ว เฉียน หลง ก็ตอบฝรั่งว่าจีนมีทุกอย่างแล้ว ไม่รู้จะซื้ออะไรจากฝรั่ง ฝรั่งจึงเอาฝิ่นจากอินเดียมาขาย ลดการขาดดุลการค้า จนเกิดสงครามฝิ่น แต่จีนกับฝรั่งตอนนี้ไม่เหมือนสมัยศตวรรษที่ 19 แล้ว จะมาใช้ “นโยบายเรือปืน” หรือ gunboat diplomacy อย่างเก่าเห็นจะไม่ได้ เพราะแสนยานุภาพทางทหารของจีนก็สามารถทำลายฝรั่งได้เหมือนกัน แม้ว่าอาจจะด้อยกว่ากงล้อประวัติศาสตร์กำลังหมุนกลับ