2 พรรคประท้วงแท็กติก คสช. คาใจ ม.44 เลื่อนล็อกการเมือง

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ขยายเวลาให้พรรคการเมืองเก่า-ใหม่ ทำกิจกรรมการเมืองตามกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. อ้างว่า “เพื่อความเท่าเทียมระหว่างพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ พรรคเล็ก”

ทำให้ฤดูการเมืองต้นปี 2561 ร้อนระอุ

เพราะ 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ไม่ได้เชื่อตามน้ำคำของผู้มีอำนาจ

ทั้งสองพรรคสบช่องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คำสั่งที่ 53/2560 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “วิรัตน์ กัลยาศิริ” อดีต ส.ส.สงขลา และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค-นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค-ถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ-ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรค ในฐานะฝ่ายกฎหมาย ผสานกับ “ถาวร เสนเนียม” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ กปปส.เป็นตัวเดินเกม

ปชป.ตั้ง 5 ปมค้าน

แม้จะเดินคนละขา แต่ก็มาสุมหัวช่วยกันคิด เพราะล้วนเป็น “สายตรง” นายหัว-ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค โดยรับคำบัญชาจาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ร่างคำคัดค้านคำสั่ง 53/2560 สกัดออกมาเป็น 5 ข้อ

1.แม้รัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับปัจจุบันจะรับรองอำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไว้ แต่ก็ไม่สามารถใช้ออกคำสั่ง ที่ละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และไม่ได้ใช้เพื่อการปฏิรูปและรักษาความสงบ ตามเงื่อนไขที่มาตรา 44 กำหนดไว้

2.คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ เข้าข่ายสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับสมาชิกพรรคการเมืองกว่า 4 ล้านคน ที่ต้องทำหนังสือต่อหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน พร้อมหนังสือรับรองคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

3.การออกคำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับฟังความเห็นจากประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขไว้

4.แม้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ฉบับนี้มีนัย ต้องการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีเวลาทบทวนตัวเอง แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถประชุมเพื่อกำหนดนโยบาย หรือตัวผู้บริหารพรรคได้ สมาชิกพรรคจึงไม่สามารถตัดสินใจเลือก หรือยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคได้

และ 5.เนื้อหาสาระในคำสั่งฉบับนี้เข้าข่ายเลือกปฏิบัติ ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมระหว่างพรรคการเมืองใหม่กับพรรคการเมืองเก่า

เตรียม 2 แผนร้องศาล

พร้อมอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“วิรัตน์” กล่าวว่า แม้การใช้อำนาจมาตรา 44 จะได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สามารถใช้อำนาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ เพราะทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พูดในทำนองเดียวกันว่า มาตรา 44 จะออกมากระทบกับรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ไม่ได้ เพราะคำสั่งนี้กระทบกับบางมาตราในรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายจะต้องไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระให้สมาชิกพรรค

พรรคประชาธิปัตย์เตรียมแผนไว้ 2 แผน 1.ให้ “อภิสิทธิ์” ใช้สิทธิการเป็น “หัวหน้าพรรค” ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231

แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดิน “ตีตก” พรรคประชาธิปัตย์ก็จะให้อดีต ส.ส.ในฐานะสมาชิกพรรคยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความโดยตรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213


เพื่อไทยไม่หวังผลชนะ-แพ้

ด้านความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทย หลังคำสั่ง 53/2560 บังคับใช้ได้ 6 วัน พรรค “ตีปี๊บ” ออกแถลงการณ์ 6 ข้อ เมื่อ 27 ธันวาคม 2560 ใจความสำคัญระบุว่า คำสั่งนี้ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทำลายรากฐานพรรคการเมืองเดิม เพื่อประโยชน์และพวกพ้องตนถือเป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจ หวังเลื่อนเลือกตั้ง และสร้างโอกาสเงื่อนไขให้พวกพ้องกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง พรรคใช้ช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รักษาการเลขาธิการพรรค เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของพรรคการเมืองตามวิถีของรัฐธรรมนูญ และสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นฐานของพรรคการเมือง ขัดแย้งในเนื้อหาของกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และของพรรคการเมืองในฐานะนิติบุคคล

“การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พรรคไม่คิดว่าจะแพ้ ชนะ หรือหวังผลใด ๆ เพราะเมื่อเป็นคำสั่งไม่ถูกต้อง ผู้บริหารประเทศที่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตยก็ควรจะรับไว้พิจารณา” ภูมิธรรมกล่าว

แต่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย จะยื่นทั้งช่องทางผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้อดีต ส.ส.ในฐานะสมาชิกพรรคไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อให้เกิดภาพ “อิมแพ็กต์” ทางการเมือง

โดยคำร้องที่จะยื่นผ่านช่องทางผู้ตรวจการฯ-ศาลรัฐธรรมนูญ กลั่นออกมาจากทีมกฎหมายของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ก่อนจะร่อน “สำเนา” คำร้องไปให้แกนนำพรรคคนอื่น ๆ ช่วยกันขัดเกลา ก่อนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการแนะช่องทางโต้แย้ง

เมื่อ 2 พรรคการเมือง “แยกกันเดิน ร่วมกันตี” ค้านคำสั่ง 53/2560 ทั้งที่เป็นคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญ 2560 คุ้มครองไว้ มุมมองของ “นักรัฐศาสตร์” อย่าง “พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” จากจุฬาฯ จึงแนะมุมที่ 2 พรรคควรใช้ต่อสู้

แม้ว่าคำสั่งมาตรา 44 มีฐานอำนาจ คสช.รองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การใช้อำนาจก็ไม่สามารถทำได้ 100% เพราะรัฐธรรมนูญ 2557 ได้บัญญัติเงื่อนไขการใช้อำนาจมาตรา 44 ไว้จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์การปฏิรูป ส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน จะเห็นว่าถ้อยคำในมาตรา 44 ได้กำหนดเงื่อนไขการใช้เอาไว้ ดังนั้นการออกมาตรา 44 จะต้องทำตามเกณฑ์

ดังนั้นการจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ให้ถูกศาล “ตีตก” จะต้อง “โต้แย้ง” ในเรื่องการปฏิรูปการเมือง แม้ว่า คสช.จะเขียนเหตุผลในการออกคำสั่ง 53/2560 เพื่อให้การปฏิรูปได้ผล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และมาตรา 258 ว่า จริง ๆ แล้วคำสั่งดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขเพื่อการปฏิรูป ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 45 แต่เป็นการสลายสมาชิกพรรคการเมืองเดิม เป็นการเขียนใบลาออกแทนสมาชิกพรรคโดยอัตโนมัติ

แท็กติกดูด ส.ส.ของ คสช.

“นักวิชาการกฎหมาย” อย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้เขียนบทความวิเคราะห์ผลคำสั่ง 53/2560 ไว้ว่า

คำสั่ง คสช.ฉบับนี้กำหนดให้ “สมาชิกพรรคการเมืองที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้นต่อไป” ต้อง “มีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกเป็นหนังสือ” โดยต้องมี “หลักฐานเป็นเอกสาร” แสดงด้วยว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง พร้อมด้วยเงินค่าสมาชิกพรรค โดยทั้งหมดนี้ถ้าไม่ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 การเป็นสมาชิกพรรคของบุคคลนั้นก็เป็นอันสิ้นสุดลง

“ย่อมทำให้ ส.ส.เก่าของพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว สามารถออกจากพรรคเก่าได้ โดยไม่ต้องมีการลาออกอีกต่อไป ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงของคำสั่งนี้หรือไม่-ก็คือการเซตซีโร่ ส.ส.เก่าทั้งหมดนั่นเอง เมื่อครบ 30 วันนับจากวันที่ 1 เม.ย. 2561 คือวันที่ 1 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป ทุกอย่างจะเริ่มใหม่หมด อดีต ส.ส. ทุกคนสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ตามอัธยาศัย โดยไม่ต้องไปลาออกจากพรรคเก่าอีกต่อไป”

“แล้วผลที่ตามมาคืออะไร โดยธรรมดา ส.ส. ก็ย่อมอยากจะอยู่พรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลกันทั้งนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ส.ส.เก่าที่เห็นว่า คสช.จะได้เป็นรัฐบาล ก็จะไปเข้าพรรคใหม่ หรือพรรคเก่าที่ประกาศสนับสนุน คสช. ส่วน ส.ส.เก่าที่ไม่ต้องการให้ คสช.เป็นรัฐบาลต่อ ก็จะไปอยู่อีกข้างหนึ่ง”

แม้ว่าเกมการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นเพียงแค่ “สัญลักษณ์” ในยุคที่ คสช.คุมกลไกทุกอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็ย่อมสร้างแรงกระเพื่อม-เร่งอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนระอุตั้งแต่ต้นปี