ประยุทธ์ ปลดชนวนขายที่ดินต่างชาติ เสียรังวัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขายที่ดิน

ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดิน เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเมื่อ 25 ตุลาคม 2565

ถูกยกเป็น “วาระเดือด” ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากที่ตั้งใจดึงดูดนักลงทุน-ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย กลับถูกโจมตีว่าเป็นการ “ขายชาติ”

เพราะดันมีเงื่อนไขหลักที่กำหนดไว้ให้คนต่างชาติ 4 กลุ่ม 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ที่ได้รับอนุมัติวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa : LTR)

สามารถซื้อที่ดินไปครอบครองได้ 1 ไร่ แลกกับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท อาทิ ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และดำรงทุนการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ !

เมื่อปม “ชายชาติ” ถูกตีให้ร้อนไปทุกอณู พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จึงสั่งถอนออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการประชุม ครม.ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ทันที

โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อนำกลับไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนให้รอบคอบก่อน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะนำมาสรุปพิจารณาและเสนอ ครม.ต่อไป”

ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่ามีความกังวลต่อเรื่องนี้ เกรงว่าจะลุกลามบานปลาย จึงต้องถอย !

เลาะตะเข็บร่างกฎกระทรวงร้อน ก่อนกลายเป็นวาทกรรม “ขายชาติ”

จุดเริ่มต้นของเรื่องคือ ทีมเศรษฐกิจ “โควตากลาง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” นั่งในตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ที่เข้ามาประจำการ บัญชาการเศรษฐกิจแทนกลุ่ม 4 กุมารของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ปักหมุดดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนกระเป๋าหนักทั่วโลก

พร้อมกับดึง “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” อดีตผู้บริหารเจพีมอร์แกน มาเป็น “มือขวา” ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย มีผลตั้งแต่ 6 มกราคม 2565

ก่อนหน้านั้น “ม.ล.ชโยทิต” ถูกแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุก ทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างชาติ เริ่มทำงานตั้งแต่ต้นปี 2564

ได้ “ปลดล็อก” อุปสรรคในการตัดสินใจลงทุน คือวีซ่า LTR ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี ใบอนุญาตทำงาน (work permit) เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ welcome investment และต้อนรับต่างชาติเกษียณอายุทั่วโลกหลายร้อยล้านคน ที่ต้องการหาประเทศที่สามในการใช้ชีวิต

ม.ล.ชโยทิตเป็นแกนหลักสำคัญที่ตั้งเป้าดึงผู้มีรายได้สูง และผู้เกษียณอายุที่มั่งคั่งเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยมีเป้าหมาย 1 ล้านคน ในระยะเวลา 5 ปี

“ไทยเป็น first choice retire การปฏิรูปวีซ่าครั้งนี้ นอกจากจะนำเอาความรู้พิเศษจากผู้ชำนาญพิเศษ จะนำคนที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยตั้งเป้า 1 ล้านคน” ม.ล.ชโยทิตกล่าว

“ทุกคนรักเมืองไทย และอยากจะเห็นเมืองไทยเป็นศูนย์กลางของรีไทร์เมนต์ เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งด้านสาธารณสุข”

“ปรากฏว่ามีรีไทร์ กับที่กินบำเหน็จ บำนาญรัฐบาลอยู่ 200 กว่าล้านคน ก็เลยนั่งลองดูว่า ถ้าเกิดสนใจมาประเทศไทย 1 ล้านคน พวกนี้มีเงินเดือน ซึ่งเป็นบำเหน็จบำนาญที่ได้รับจากรัฐบาลอยู่ประมาณ 2-3 แสนบาท”

“ถ้าเอาเงินมาจากเขา 1 ใน 3 เข้าประเทศ หรือ 1 ล้านคน คนละ 1 แสนบาทต่อเดือน หรือคนละ 1.2 ล้านบาทต่อปี เท่ากับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี รายได้ 2 ล้านล้าน ใช้จ่ายในประเทศ เก็บภาษี VAT ได้เพิ่ม 2 แสนล้านบาทต่อปี”

“เงินต้น 1.2 ล้านล้านบาทที่นำมาใช้จ่ายในประเทศ ใช้จ่ายต่อต้องคูณ 2.5 เท่า เท่ากับมีเงินสะพัด 2.5 ล้านล้านบาท คูณภาษี VAT อีก 7% รัฐบาลก็จะจัดเก็บรายได้ 2 แสนล้านบาท”

“ผลจะทำให้เราฟื้นจากเศรษฐกิจทันที ไม่ต้องรอรากหญ้าฟื้น ไม่ต้องรอเอกชนใหญ่ ๆ มา แต่ขอให้เราเป็น host ที่ดี เป็นผู้รับแขกที่ดี เขาพร้อมที่จะมาอยู่ เพียงแต่ต้องดูแลเขาจริง ๆ ต้องมี one stop service”

“ถ้าเมื่อไหร่คนไทยเข้าใจได้ว่า ให้เข้ามาซื้อ ให้เข้ามาอยู่เป็นประโยชน์ ไม่ได้ขายชาติ ดินทรายขนไปไม่ได้ กฎหมายก็กฎหมายไทย เมื่อไหร่พร้อมค่อยว่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็เปิดให้แล้ว อย่างน้อยมีวีซ่า 10 ปีแล้ว work permit ขอได้แล้ว ส่วนเรื่องถือครองสิทธิก็เป็นไปตามครรลอง เพราะเป็นเรื่องการเมือง”

“เราเอาฝรั่งมาอยู่ เอามาพัฒนาประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ต้นรัตนโกสินทร์ก็มี พระยา เจ้าพระยาที่เป็นฝรั่งมาอยู่ตั้งเยอะตั้งแยะ”

“ขึ้นอยู่กับกระแสสังคม เมื่อไหร่ประเทศไทยจะก้าวข้ามว่าชาวต่างชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัว เราไม่ใช่สิงคโปร์ที่มีประชากร 2 ล้านคน แต่เอาต่างชาติเข้ามา 5 ล้านคน”

นี่คือเบื้องหลังของไอเดีย

ไอเดียของ “สุพัฒนพงษ์” และ “ม.ล.ชโยทิต” หลังนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดย ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) ในวันที่ 14 กันยายน 2564

ซึ่งแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน ในการให้สิทธิในการถือครองที่ดินแก่กลุ่มชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงก็เป็นหนึ่งในกระบวนการนั้น

ต่อมาได้เข้าสู่สำนักกฎหมาย-กองต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำนโยบายมาเขียนเป็น “กฎหมาย”

11 กรกฎาคม 2565 นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวในงาน Property Inside 2022 ทางรอดอสังหาฯ หลังโควิด-ไฟสงคราม เป็นครั้งแรกว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังออกเงื่อนไขให้คนต่างชาติสามารถพักอาศัยได้ยาวนานขึ้น โดยกระทรวงกำลังจะออกมาตรการให้คนต่างด้าวคุณภาพสูงเหล่านี้สามารถถือครองที่ดินได้ โดยให้โอกาสคนต่างชาติที่มาลงทุนในไทยมากกว่า 40 ล้านบาท ลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี จะให้ซื้อที่อยู่อาศัยจำนวน 1 ไร่

เส้นทางของร่างกฎกระทรวงยังดำเนินการตามขั้นตอนเรื่อยมา ในช่วงเดือนกันยายน 2565 ทั้ง ม.ล.ชโยทิต และสุพัฒนพงษ์ เริ่มเปิดประเด็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวหลายวาระ

เช่นครั้งหนึ่ง ม.ล.ชโยทิตกล่าวปาฐกถาในงาน “อสังหาริมทรัพย์พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” จัดโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เมื่อ 29 กันยายน ตอนหนึ่งว่า

“รัฐบาลอยู่ระหว่างรับฟังข้อเสนอจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เกี่ยวกับข้อเสนอเพิ่มเติมในการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยของชาวต่างชาติ”

สุดท้าย 25 ตุลาคม 2565 ก็คือวันดีเดย์ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ แล้วเกิดแรงต้านขนานใหญ่

ผ่านไป 9 วัน 3 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.อนุพงษ์ ประกาศในสภาผู้แทนราษฎรว่า พร้อมถอยหากประชาชนไม่เห็นด้วย

ผ่านไป 10 วัน 4 พฤศจิกายน 2565 สุพัฒนพงษ์ก็พร้อมถอย

และผ่านไป 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ มีการเปิดประเด็นถอยจากกระทรวงมหาดไทย แล้วมาคอนเฟิร์มที่่ทำเนียบรัฐบาล โดย “สุพัฒนพงษ์” กล่าวว่า

“การเพิ่มเติมสิทธิขึ้นมาแล้วประชาชนไม่สบายใจ จะต้องถอนก็ว่ากันไป ใช้เวลาให้นาน เอาให้เป็นที่พอใจ เกิดความเข้าใจร่วมกัน เพราะเป็นเพียงหนึ่งทางเลือกเท่านั้นเอง”

พล.อ.ประยุทธ์ จึงสั่งถอนวาระร้อนก่อนเข้า ครม. ลดแรงต้าน ปลดอีกชนวน ที่จะเป็นของร้อนเพื่อประคองรัฐบาลอยู่ถึงปี 2566