ครม. รับทราบ ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.5

ที่ประชุม ครม.รับทราบภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.5 มูลค่าส่งออกเฉียด 7.2 หมื่นล้าน มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศกว่า 3 พันล้านคน ส่วนปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 4.0

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า

ที่ประชุมรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2565 และแนวโน้ม ปี 2565- 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 และคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยมีรายละเอียด

ทั้งนี้ 1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรกและไตรมาสท่ีสองของปี 2565 ตามลำดับ และเมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 2565 เศรษฐกิจ ไทยขยายตัวร้อยละ 3.1

ส่วนด้านการใช้จ่าย การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกบริการขยายตัวเร่งขึ้น โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.0 เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวด ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงร้อยละ 0.6 เป็นการลดครั้งแรกในรอบ กว่า 2 ปี

โดยเป็นผลจากการลดลงของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคโควิด-19 การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 5.2 เป็นผลจากการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.0 การลงทุนภาครัฐลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 7.3 ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวร้อยละ 1.1

ด้านภาคต่างประเทศ การส่งออก มีมูลค่ารวม 71,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ขยายตัวร้อยละ 6.7 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ รถกระบะและรถบรรทุก แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 71,558 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ขยายตัวร้อยละ 23.2 ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งขายปลีกและการซ่อม ฯ สาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาการไฟฟ้าและก๊าซ ขยายตัวเร่งขึ้น

ส่วนสาขาการก่อสร้างและเกษตรกรรมปรับตัวลดลง โดยสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรที่สำคัญ จากปัญหาอุทกภัยและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่ สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.3 สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 53.6

นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 3.608 ล้านคน จากการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศและสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของบริการขนส่งทางอากาศบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง เป็นสำคัญ

นายอนุชากล่าวว่า ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.23 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.3 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 7.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หรือ 25.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 2.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐและหนี้สาธารณะ ณ เดือนกันยายน 2565 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,373,937.59 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 60.7 ของ GDP

2. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 3.6 ของ GDP

3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจาก (1) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (2) การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และ (4) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคเกษตร

นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังเสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2566 รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับ 1.การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2.การดูแลการผลิตภาคการเกษตรและรายได้การเกษตร โดยฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูการเพาะปลูก 2566/2567

3.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า เช่น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีและสร้างตลาดใหม่ ติดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการค้าโลก พัฒนาพัฒนาสินค้าเกษตรอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมให้ได้มีคุณภาพและมาตรฐาน ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากการผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน

4.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ -ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงและยั่งยืน – จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

5.การส่งเสริมกันลงทุนภาคเอกชน โดย-ดูแลสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ -เร่งรัดผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติ BOI ให้เกิดการลงทุนจริง -การแก้ปัญหาให้นักลงทุน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต -ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก และการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย -ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC และเขตพิเศษต่างๆ -ขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และ -พัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง

6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ 7.การติดตามเฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจของการเงินโลก และ 8.การติดตามเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 เชื้ออื่นด้วย