ปักหมุด “มหานครผลไม้” ปลูกแบบอินทรีย์หนีราคาตก

“ครม.สัญจร” โซนภาคตะวันออก ของ “บิ๊กตู่-ทีมสมคิด” 1 ใน “แคมเปญ” ระดับ “แกรนด์” ที่ถูกชูขึ้น “ตีคู่” โครงการ EEC คือ การผลักดันให้ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ให้เป็นมหาอำนาจ-เมืองแห่งมหานครผลไม้เมืองร้อนของเอเชีย

“อุดม วรัญญูรัฐ” ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน วิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียนเมืองจันท์ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงช่องทาง-โอกาสทางธุรกิจในการผลักดันภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีให้เป็นเมืองมหานครผลไม้ของรัฐบาล ระหว่างมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พาลงพื้นที่-รับฟังข้อมูลจากเกษตรกรตัวจริง-เสียงจริงว่า มีความเป็นไปได้

เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีมีศักยภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศ ถึงแม้ว่าจันทบุรีจะไม่ใช่พื้นที่ปลูกผลผลิตที่เป็นถิ่นกำเนิด อาทิ ลำไย กล้วยไข่ มังคุด ทุเรียน แต่ผลผลิตที่ออกมาก็มีคุณภาพและรสชาติตรงตามความต้องการของตลาด จึงสมควรที่จะให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) หรือเป็นแหล่งที่จะผลิตผลไม้ได้หลากหลาย

“จุดแข็งของจังหวัดจันทบุรี คือ สถาบันทางการเงินที่เป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุน เห็นศักยภาพของจันทบุรีว่ามีความพร้อม เช่น ความได้เปรียบสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นตัวแปรกำหนดปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมากกว่าภูมิภาคอื่น เป็นพื้นที่ความเสี่ยงน้อยทำให้ธนาคารหรือนายทุนกล้าที่จะลงทุน”

ทว่าปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ หากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกผลผลิตจำนวนมาก จะทำให้กลับไปสู่วงจรเดิม คือ ผลผลิตที่ออกมา “ล้นตลาด-ราคาตก” หรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า ต้องทำให้ผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพรสชาติ

ขณะนี้เกษตรกรกำลังปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องการให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบที่เป็นสากลมากขึ้น เช่น การห้ามใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิด และส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะในอนาคตเทรนด์ของผลผลิตผลไม้โลกจะไปในทิศทางนั้น อย่างไรก็ตาม “ประธานวิสาหกิจชุมชน” แนะนำว่า รัฐบาลต้องเตรียมตลาดไว้รองรับผลผลิตตามนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่จะออกมาให้ชัดเจน

“ทิศทางของรัฐบาลนี้กำลังลงมาส่งเสริมผลผลิตมากขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนขั้วทางการเมือง นโยบายที่ทำไว้เดิมก็เปลี่ยนแปลงไป พอเปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนผู้นำ นโยบายก็เปลี่ยนตามไปด้วย แล้วเมื่อไรจะถึงจุดหมายปลายทาง ทุกเรื่อง เพราะรัฐบาลไม่ได้สานต่อ ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่คนที่เข้ามาใหม่ก็ต้องการสร้างผลงานใหม่ แล้วผลงานหรือนโยบายเดิมไม่มีใครสานต่อ”

สิ่งที่นายอุดมยึดถือเป็นแนวทางตลอดกว่า 30 ปี คือ เกษตรกรต้องพึ่งพาตัวเอง-ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาไม่ได้คาดหวังงบประมาณจากภาครัฐ แต่ต้องการให้รัฐบาลเป็น “พี่เลี้ยง” ในสิ่งที่เป็นอุปสรรค-เกินความสามารถในการแก้ปัญหา

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์