ประยุทธ์ สวมบท ขุนค้อน ศักดิ์สยาม ใช้สิทธิ์พาดพิง สันติ แขวะ กัญชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จุติเบรกสันติขึ้นเงินเดือนการยาสูบ ประยุทธ์สวมบทประธานสภา ให้ ศักดิ์สยามใช้สิทธิ์พาดพิง ถูกพูดแขวะกัญชายาเสพติดให้โทษ

วันที่ 31 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังขอความเห็นชอบให้การยาสูบแห่งประเทศไทยปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างพนักงาน โดยการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงานตามบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือน ระบบ 53 ขั้น

รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท้วงขึ้นมาว่า การปรับขยายเพดานอาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากผลประกอบการการยาสูบฯขาดทุน ขณะที่หน่วยงานอื่นไม่ได้รับการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือน

ทำให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังกำกับการยาสูบแห่งประเทศไทยได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า สาเหตุที่ผลประกอบการการยาสูบฯขาดทุน เพราะได้ปรับขึ้นราคายาสูบให้สูงขึ้น เพื่อลดการสูบลง ทำให้ผู้สูบหันไปซื้อยาสูบจากบริษัทต่างประเทศ ไม่เหมือนการปล่อยให้สูบกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

พอมาถึงช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดขึ้นมาว่า “มีคนใช้สิทธิ์พาดพิง” นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิง และชี้แจงว่ากัญชามีประโยชน์มากทางด้านการแพทย์ ส่วนการนำไปใช้เป็นยาเสพติดก็มีกฎหมายบังคับควบคุม

ทั้งนี้ การปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) โดยการปรับขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของพนักงาน ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ในการประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ดังนี้

  • ระดับ 10 (ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่า) อัตราเดิม 91,820 บาท (ขั้นที่ 41.5) อัตราใหม่ที่ขอปรับ 115,770 บาท (ขั้นที่ 47)
  • ระดับ 11 (รองผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่า) อัตราเดิม 95,810 บาท (ขั้นที่ 42.5) อัตราใหม่ที่ขอปรับ 120,270 บาท (ขั้นที่ 48)
  • ระดับ 12 (ผู้อำนวยการฝ่ายหรือเทียบเท่า) อัตราเดิม 104,310 บาท (ขั้นที่ 44.5) อัตราใหม่ที่ขอปรับ 129,270 บาท (ขั้นที่ 50)
  • ระดับ 13 (รองผู้ว่าการ ยสท.) อัตราเดิม 113,520 บาท (ขั้นที่ 46.5) อัตราใหม่ขอปรับ 138,270 บาท (ขั้นที่ 52)

โดยการปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของ ยสท.ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ค่าตอบแทนของ ยสท. สอดคล้องกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการสร้างชวัญและกำลังใจของพนักงาน รวมถึงสามารถรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้อยู่ปฏิบัติงานกับ ยสท. และสามารถแข่งขันกับตลาดแรงงานได้

โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างเงินเดือนดังกล่าว ยสท. จะใช้เงินรายได้จากการดำเนินธุรกิจของ ยสท.ทั้งหมด