มติชนxเดลินิวส์ จัดเวทีดีเบต 2 พ.ค. สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR

มติชนxเดลินิวส์

ผู้บริหารเครือมติชน และผู้บริหารเครือเดลินิวส์ ร่วมแถลงข่าวเวทีดีเบตครั้งสำคัญที่สุด ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ภายใต้ชื่อเวทีว่า “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR” ระดมขุนพล-ขุนศึก-แม่ทัพ ประชันครั้งยิ่งใหญ่ ชี้ชะตาประเทศไทย

วันที่ 25 เมษายน 2566 ที่อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กลุ่มสื่อในเครือมติชนและเดลินิวส์ ได้ร่วมมือกันจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับเวที “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR” ที่จะจัดขึ้นวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ปทุมวัน กรุงเทพฯ และเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66” ที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2566 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

โดยมีผู้บริหารเครือมติชน นำโดย น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายวรศักดิ์ ประยูรศุข รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นายจำลอง ดอกปิก บรรณาธิการ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์มติชน และ นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการอำนวยการ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ร่วมกับผู้บริหารเครือเดลินิวส์ นำโดย นางประพิณ รุจิรวงศ์ นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ และ นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เข้าร่วมงาน นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ระหว่างกลุ่มสื่อในเครือมติชนและเดลินิวส์ หลังจากที่มีการร่วมกันทำโพลเลือกตั้ง’66 ครั้งประวัติศาสตร์ด้วยกันถึง 2 ครั้ง

ด้าน น.ส.ปานบัวกล่าวว่า ทางมติชนเปิดตัวแคมเปญ มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ผ่าน 5 เวที 10 ยุทธศาสตร์ออนไลน์ และ 2 กลยุทธ์สิ่งพิมพ์ โดยเริ่มจากเวทีแรก “ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง” ต่อด้วยเวทีที่ 2 “วิเคราะห์ เลือกตั้ง 66 โดยเปรียบเทียบผลคะแนนจากการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงการแบ่งเขตใหม่” เวทีที่ 3 “ฟังเสียง New Gen บทใหม่ประเทศไทย” ซึ่งได้เสียงตอบรับจากประชาชนอย่างดี และเวทีที่ 4 “เวทีเสียงประชาชน : นโยบายที่ใช่-สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทำ” โดยฟังคำแนะนำ ข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคม เอกชน และผู้นำท้องถิ่น ซึ่งคลุกคลีกับปัญหาจริง ๆ

Advertisment

แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่สู้เวทีไฮไลต์ ซึ่งเป็นเวทีที่ 5 ซึ่งจะจัดร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างเครือมติชนและเครือเดลินิวส์ ใช้ชื่อว่า “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 12.00-17.15 น. ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน โดยระดมทั้ง Young Blood ขุนศึกและขุนพล เพื่อย้ำยุทธศาสตร์และจุดยืนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ประกอบการตัดสินใจ

“เวทีนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างเครือเดลินิวส์กับเครือมติชน เราทั้ง 2 ค่ายเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งมาก จนกระทั่งมาร่วมมือกันทำทั้งโพลและเวทีกิจกรรม เพื่อให้ทุกท่านได้รับประโยชน์สูงสุดจากข้อมูลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนประเทศ เป็นอนาคตของพวกเราทุกคน” น.ส.ปานบัวกล่าว

ส่วนเวทีวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้ง ซึ่งจะจัดในวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นเวทีพิเศษ ที่ต้องจัดเวทีดังกล่าว เพราะผลโพลมีความสำคัญมาก ๆ หลังจากการทำโพลรอบแรก ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก จึงมีการจัดเวทีวิเคราะห์ผลโพลให้ทุกคนได้ฟัง เพราะเมื่อเราจะเลือกตั้งอยู่แล้ว อะไรที่เราทำได้ที่เป็นสาระสำคัญในแง่มุมคนทำสื่อเราทำเต็มที่

โดยผลโพลรอบแรกเราแบ่งให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ และครอบคลุมฐานโหวตเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดระดับประเทศ ดังนั้น เวทีสุดท้ายที่เป็นเวทีพิเศษวิเคราะห์เจาะลึกผลโพล ซึ่งร่วมกับเครือเดลินิวส์ จะมีประโยชน์สำหรับผู้ติดตามเดลินิวส์และมติชน รวมถึงผู้ติดตามทั่วไป

Advertisment

นายจำลองกล่าวว่า “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR” จะเริ่มขึ้น กลุ่มสื่อในเครือมติชนและเดลินิวส์ ได้ร่วมมือกันจัดงานแถลงข่าวขึ้น ในวันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เวลา 12.30-17.00 น.

เริ่มจากรอบเวที “Young Blood วัดอนาคต” เวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากพรรคการเมือง ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวหน้าใหม่ที่ลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจและสามารถถ่ายทอดนโยบายของพรรคในมุมมองที่สดใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความหวัง และการทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ทิศทางใหม่ ๆ ซึ่งเหมาะสมสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต

โดยมีผู้ร่วมประชันในครั้งนี้ได้แก่ สิริลภัส กองตระการ พรรคก้าวไกล, รัดเกล้า สุวรรณคีรี พรรครวมไทยสร้างชาติ, เมธี อรุณ พรรคประชาธิปัตย์, สกาวใจ พูนสวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย, อิทธิเดช สุพงษ์ พรรคภูมิใจไทย, ปณิธาน ประจวบเหมาะ พรรคไทยสร้างไทย, ดร.อาชวิทธิ์ เจิงกลิ่นจันทน์ พรรคชาติไทยพัฒนา, วิเวียน จุลมนต์ พรรคชาติพัฒนากล้า และระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา พรรคพลังประชารัฐ

ต่อมาเป็นรอบเวที “ขุนศึก ประจัญบาน” ซึ่งถือเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน หรือผู้แทนที่เป็นบุคคลสำคัญในพรรคการเมือง ที่สามารถนำเสนอประเด็นหลักที่พรรคใช้หาเสียง อธิบายเหตุผลในการเลือกใช้กลยุทธ์-นโยบาย ในช่วงโค้งสุดท้าย และพร้อมที่จะดีเบต โต้แย้งกับตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ ทั้งในประเด็นการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม โดยตัวแทนพรรคจะได้รับโอกาสในการสื่อสารถึงจุดแข็ง จุดขาย

ทีเด็ดในแต่ละนโยบาย และประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ ขุนศึกที่เป็นตัวแทนทั้ง 9 พรรค อาทิ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคก้าวไกล, เกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พรรคเพื่อไทย, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ พรรคภูมิใจไทย, ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย, ชาติชาย พยุหนาวีชัย พรรคชาติไทยพัฒนา, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า และชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ

และรอบสุดท้ายเป็นรอบเวที “แม่ทัพ วิสัยทัศน์และสัญญาประชาคม” รอบนี้จะเป็นไฮไลต์ที่ห้ามพลาด เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น “แม่ทัพ” ของพรรคจะได้ออกมาแสดงวิสัยทัศน์และสัญญาประชาคม โดยการนำเสนอถึงสิ่งที่ต้องการจะทำ เพื่อเปลี่ยนให้ประเทศไทยในอนาคตดีขึ้น เนื้อหาครอบคลุม 3 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาประเทศในวันนี้ ทางออกจากปัญหา และประเทศไทยในอนาคตภายใต้การนำของพรรคการเมืองของท่าน

ในรอบนี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทั้ง 7 พรรค ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

และสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า จะแสดงวิสัยทัศน์เพื่อเรียกคะแนนให้ได้มากที่สุดว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 แล้วจะทำอะไร ทำอย่างไร ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อประเทศไทยก้าวไปสู่บทใหม่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนที่สุด

ด้านนางประพิณกล่าวถึงความสำเร็จของโพลมติชน เดลินิวส์ว่า ขอขอบคุณผู้อ่านที่ให้การสนับสนุนในการทำโพลครั้งนี้ ทำให้เราได้รับการตอบรับเป็นจำนวนมาก และในครั้งต่อไปที่เราจะทำโพลอีกครั้ง ก็คิดว่าคงจะได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้อ่าน หากใครที่ยังไม่ได้ส่งแบบสำรวจ ก็สามารถส่งได้ทั้งช่องทางของมติชนและเดลินิวส์ ได้ทั้ง 2 ช่องทาง

นายปารเมศกล่าวถึงเวทีวิเคราะห์ผลโพลเลือกตั้งของมติชน เดลินิวส์ ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ว่า ขณะนี้ประชาชนยังสามารถร่วมโหวตได้ในรอบที่สอง โดยเป็นการโหวตที่คล้ายกับการเลือกตั้งจริง ที่มีทั้ง ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ อยากได้ใครเป็นนายกฯ และ ส.ว.ควรเลือกนายกฯ จากพรรคที่ได้คะแนนที่สุดหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าคะแนนของโพลที่ออกมาน่าจะมีคะแนนใกล้เคียงกับผลเลือกตั้งมาก

นอกจากนี้ เรายังมีนายอัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นผู้วิเคราะห์ผลโพล ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทางเดลินิวส์และมติชน ที่จะมาสนับสนุนข้อมูล จึงคิดว่าเป็นผลโพลที่น่าสนุก และอยากจะเชิญชวนผู้ชม ผู้อ่านจากทั้ง 2 เครือให้ช่วยกันโหวตโพลครั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการจัดตั้งรัฐบาล