โพล 80% ลุ้นเปลี่ยนผู้นำประเทศ “พิธา-เพื่อไทย” รัฐบาลใหม่

2คน

รศ.ดร.ประจักษ์-รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ 2 นักวิชาการดัง วิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66 “มติชน x เดลินิวส์” ฟันธงขั้วพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน นำโดยเพื่อไทย-ก้าวไกล ทะลุ 340-350 เสียง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันตกที่นั่งลำบากได้ 150 ที่นั่ง นักวิชาการบีบ “ประยุทธ์-ประวิตร” ต้องมี spirit ยอมรับกติกาเลือกตั้ง อย่าบิดเบือนเจตจำนงประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจาก “มติชน X เดลินิวส์” เปิดโหวตเลือกตั้งผ่านช่องทางออนไลน์ 2 ครั้ง มีผู้ร่วมโหวตเกือบ 200,000 คน ผลออกมาสั่นสะเทือนวงการการเมือง และล่าสุดวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา สื่อทั้งสองค่ายได้ร่วมกันจัดเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66”

โดยช่วงแรกเป็นการเสวนาหัวข้อ “สรุป-วิเคราะห์ ผลการจัดทำ มติชน-เดลินิวส์ โพล” โดย นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด มหาชน, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายปราปต์กล่าวว่า ต้องย้ำ position ของโพลนี้ว่า เป้าประสงค์แรกที่ชัดเจน เราเป็นสื่อและไม่ต้องการทำโพลทางการเหมือนสำนักโพลมืออาชีพ แต่สิ่งที่เรากำลังทำ คือกระตุ้นให้ผู้อ่านและคนดูของ 2 สื่อสำนักใหญ่ มีความสนใจและอยากมีความส่วนร่วมกับการเลือกตั้ง และจะได้รับทราบเจตจำนงทางการเมืองของคนอ่านเหล่านั้นด้วย เมื่อเทคโนโลยีเปิดช่องให้เราทำโพลออนไลน์ ซึ่งเท่ากับสามารถรับฟังความคิดเห็นของคนอ่านด้วย และอยากจะผลิตคอนเทนต์เลือกตั้งใหม่ ๆ แต่ผลลัพธ์นำมาสู่เครื่องมือวิเคราะห์เลือกตั้งอีกชนิดหนึ่งคือผลโพล

“ผลโพล” ไม่ใช่ “ผลลัพธ์”

ผศ.อัครพงษ์กล่าวว่า โพลปกติจะมีการตั้งคำถาม และมีสูตรคำนวณต่าง ๆ ซึ่งแล้วแต่วิธีการของแต่ละคน สิ่งที่มติชนกับเดลินิวส์ทำคือการนำกลุ่มตัวอย่างมาก่อน และหลังจากนั้นถึงมาวิเคราะห์เหตุผลของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งพบว่าวิธีการดังกล่าวสามารถสะท้อนความเชื่อมั่นของผลโพลได้ถึง 95%

ส่วนกระแสที่เกิดขึ้นในโซเชียล ผลโพลสามารถเป็นคะแนนในโลกความเป็นจริงได้หรือไม่ ผศ.อัครพงษ์กล่าวว่า “ผลโพลคือความนิยมไม่ใช่ผลลัพธ์” แต่สามารถให้ข้อคิดแก่นักการเมือง และพรรคการเมืองได้ว่าทำพลาดตรงส่วนไหน และต้องปรับแก้ส่วนใด ดังนั้นการมีโพลเป็นการกระตุ้นพรรคการเมือง และนักการเมืองได้เป็นอย่างดี

อย่างกรณีของอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ โจ ไบเดน ก็พิสูจน์แล้วว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาจริง และทำให้หลายบริษัทปิดตัวไปแล้ว ถ้าท่านไม่เปลี่ยนก็แล้วแต่ ไม่ว่ากัน รอดูวันที่ 14 พ.ค. ว่าจะเป็นอย่างนั้นไหม การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมีผลต่อคะแนนความนิยมของนักการเมืองโดยแท้จริง สามารถบอกได้ว่าหากสื่อไหนไม่ตามกระแสก็อาจจะเจ๊ง พรรคการเมืองไหน สถาบันไหนไม่ตามกระแสออนไลน์มีโอกาสไม่รอด

“สิ่งสำคัญในการทำโพลครั้งนี้ คือการกระตุ้นความรู้สึกอยากจะออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง ทุกคนรู้สึกว่าเรามีจิตใจเป็นเจ้าของชาติ เพราะฉะนั้นโพลบอกว่า นี่คือบ้านเมืองของเรา เราจะกำหนดอนาคตของเราวันที่ 14 พฤษภาคมครับ และผู้มีอำนาจอย่าดูเบา ไม่สามารถครองอำนาจอย่างยาวนานได้โดยไม่แบ่งปันให้คนอื่นเลย จะถูกจัดการโดยสิ้นซาก” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

80% ต้องการเปลี่ยนผู้นำ

ขณะที่ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนาหัวข้อ “จากผลโพลสู่ผลเลือกตั้ง ฟันธงโค้งสุดท้าย” โดยมีนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าวถึงแนวโน้มทางการเมืองไทยว่า จากโพลมติชน x เดลินิวส์ ทำให้ย้อนกลับไปดูว่าโครงสร้างสังคมไทยตอนนี้ปรากฏว่า ข้อมูลผู้ร่วมโหวตอยู่ในภาคเกษตร 40% อยู่นอกภาคการเกษตร 60% และนอกภาคเกษตรคือคนที่อยู่ในเขตเทศบาลเป็นหลัก สะท้อนเป็นโพลของคนที่อยู่ในเมือง

หมายความว่าคนในเมืองเป็นคนที่ไม่เอารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ คสช. จากข้อมูลโพลเห็นชัดเจน พรรคร่วมรัฐบาลคะแนนตกต่ำมาก สะท้อนให้เห็นว่า คนกำลังบอกว่าไม่เอารัฐบาลเพราะอัดอั้นเต็มที่

และถ้าไปดูตามโพล คนจะไปเลือกตั้งสูงมาก ตีความว่าคนจะไปเลือกตั้ง 75-80% หรือ 39-42 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52 ล้านคน และเสียงจากโพล 80% อยู่ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนผู้นำประเทศ คะแนนนิยมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน รวมกัน 80-85% หมายความว่าเขาไม่เอากลุ่มเดิมอีกแล้ว ฉากทัศน์ต่อไปคือการเป็นรัฐบาลแล้ว

ขั้วอำนาจปัจจุบันตกที่นั่งลำบาก

ด้าน รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า สิ่งที่เห็นชัดเจนว่าทุกโพลที่ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตัวเลขต่างกันนิดหน่อย คือ พรรคฝ่ายค้านทั้งหมดรวมกันต่ำที่สุด ตอนนี้บางโพลให้ 70% มติชนกับเดลินิวส์ไปถึง 83% ส่วนพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลตอนนี้รวมกันสูงสุดไม่เกิน 30% บางโพลต่ำไปถึง 15% ถ้าดูปาร์ตี้ลิสต์ของมติชนกับเดลินิวส์ จะเห็นว่า ก้าวไกล เพื่อไทยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกนายกฯ หรือเลือกพรรคในระบบบัญชีรายชื่อ 80% กว่า ๆ

ถ้าตีมาเป็นตัวเลขพรรคฝ่ายค้านรวมกันได้ 70% แล้ว ก็หมายความว่า 350 ที่นั่ง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลรวมกัน 150 ที่นั่ง ส่วน ส.ส.เขต ยังต้องว่ากันอีกทีเพราะในการแข่งขันไม่ว่าเปอร์เซ็นต์จะเท่าไหร่ แต่ผู้ชนะอันดับ 1 เท่านั้นถึงจะได้เป็น ส.ส. แต่ก็เห็นแนวโน้มจากการประเมินเชิงพื้นที่ของนักวิชาการ นักวิเคราะห์ ก็มีทิศทางเป็นทางเดียวกันว่า พรรคร่วมรัฐบาลรวมกันแล้วจะได้ ส.ส.เขตค่อนข้างน้อย

“ฝ่ายรัฐบาลตกอยู่ในสถานะที่ลำบาก เพราะคะแนนห่างกันค่อนข้างมาก ที่นั่ง ส.ส.ห่างกันค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลกลับมีการแข่งขันกันเอง เช่น ภาคใต้ 60 ที่นั่ง มีรวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่แข่งกันเอง ขณะที่ เพื่อไทย ก้าวไกล ก็สามารถแทรกได้ในเชิงของปาร์ตี้ลิสต์ได้ ซึ่งคนภาคใต้เปิดใจมากขึ้นแล้ว คะแนนที่นั่งพรรคร่วมรัฐบาลแย่งกันเอง ขณะที่มีแค่ 60 ที่นั่ง ก็ต้องมาแบ่งกันเอง” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ติงขั้วฝ่ายค้านอย่าบาดหมาง

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านจริง ๆ สมการมันง่าย แต่กลับไปทำให้มันยากในตอนนี้ มีการทะเลาะถกเถียงกันรุนแรงมาก แต่ถ้าเห็นผลการเลือกตั้งแล้วมันชัด พรรคเพื่อไทยก็เก่ง แง่ของเขต โดยจะเห็นว่าส่งเท่าไหร่ก็จะได้ประมาณ 50% เมื่อบวกกับปาร์ตี้ลิสต์ 250 แน่ ๆ

แต่พรรคก้าวไกลก็มาแรง เห็นจากช่วงแรก ๆ ทุกสำนักโพลให้น้อย ประมาณ 40% แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้าพนันแล้ว เพราะผลโพลและกระแสก้าวไกลเกินจากตรงนี้ไปแล้ว ปาร์ตี้ลิสต์ประมาณ 30-35 ที่นั่ง กทม.อีก 10 กว่าเขต ดังนั้นเกิน 60 ที่นั่งแน่ รวมกับประชาชาติซึ่งมีฐานเสียงชัดเจนภาคใต้ 6-7 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย

“เพื่อไทย ก้าวไกลรวมกัน ชนะขาดฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันแล้ว รวมประชาชาติ เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย น่าจะไปแตะ 340 อยู่แล้ว ทะเลาะกันไปบาดหมางกันเปล่า อย่าแข่งไปถึงจุดที่ร่วมมือกันไม่ได้ ถ้าผลการเลือกตั้งไม่ได้พลิกมาก”

บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม ต้องยอมรับกติกา

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้หรือไม่นั้น ในโลกนี้ รัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่มีที่ไหนอยู่ได้ เพราะผ่านกฎหมายไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่มีศักยภาพในการผลักดันนโยบาย และที่สำคัญคือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จะทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก อันตรายมาก

“ประเด็นคือการยอมรับกติกาประชาธิปไตย ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร ลงทุนเดินหาเสียง มาเป็นนักการเมืองแล้วก็ต้องมีสปิริตของนักการเมือง ต้องลืมภาพของทหาร การรัฐประหาร แล้วเดินหาเสียงตามกติกา ถ้าแพ้เยอะ แพ้ชัดเจนก็ต้องยอมรับ ถ้าได้เสียงข้างมากก็จัดตั้งรัฐบาล แบบนี้จะสง่างามกว่า” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า มีบางกลุ่มตอบแบบสอบถามเกินกว่าสัดส่วนประชากรที่มีอยู่จริง สะท้อนเสียงของคนบางกลุ่มดังขึ้นมา เช่น ในความเป็นจริงเพศชายกับเพศหญิงในสังคมไทยไม่ได้ห่างกันขนาดนี้ แต่โพลกลายเป็นว่า เพศชายมาตอบ 62% เพศหญิง 34% ดังนั้นเสียงของผู้หญิงอาจจะไม่ถูกสะท้อนเท่าความเป็นจริง แง่การศึกษาซึ่งคนไม่จบปริญญาตรีเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

และการศึกษาคนไม่จบปริญญาตรีคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ในโพลมีคนต่ำกว่าปริญญาตรีตอบแค่ 28% ดังนั้นเสียงของคนปริญญาตรีก็จะดังที่สุด ขณะที่อาชีพพนักงานบริษัทตอบมากสุดถึง 1 ใน 4 ของแบบสำรวจนี้ เกษตรกรที่มาตอบแค่ 3% กว่า ๆ ทั้ง ๆ ที่สัดส่วนชาวนามีประมาณ 20% และคนมีรายได้สูงเกิน 50,000 บาทขึ้นไปมาตอบถึง 23% ซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ

แต่สิ่งที่ค่อนข้างสะท้อนจริง คืออายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อีกอันหนึ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตคือคนกรุงเทพฯ เสียงค่อนข้างดัง ตอบเยอะถึง 27% แต่ประชากรในกรุงเทพฯยังไม่ถึงขนาดนั้น