เปิดสูตรรัฐบาลใหม่ เพื่อไทยพลิกเกมแกนนำล่มขั้วเก่า

เพื่อไทยพลิกเกมแกนนำล่มขั้วเก่า

ท่ามกลางความชุลมุน ข่าวลือ-ข่าวปล่อย เกมการชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งเดินทางมาใกล้ถึงจุดไคลแมกซ์ ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้ เพราะการโหวตประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกหัวโขนหนึ่งทำหน้าที่ประธานรัฐสภาด้วยนั้น จะต้องมีการเลือกในวันที่ 4 กรกฎาคม

ข่าวปล่อยดอกหนึ่งก็ออกมาจาก “คนการเมืองไม่ทราบฝ่าย” แต่อ้างว่ามาจากพรรคเพื่อไทย ว่ายอมถอยเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคก้าวไกล โดยยอมรับเก้าอี้รองประธานสภา 2 ตำแหน่ง โดยมีเงื่อนไขหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลแทน และเสนอคนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ

เช่นเดียวกับ ข่าวปล่อยจาก “คนการเมืองไม่ทราบฝ่าย” อีกเช่นกัน แต่อ้างว่ามาจากพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะได้นั่งครองบัลลังก์นายกรัฐมนตรี ในท้ายที่สุด

เกมชิงเก้าอี้ประธานสภา จึงกลายเป็นเกมที่เขย่าเก้าอี้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค นำโดยพรรคก้าวไกล ตอกลิ่ม-เสี้ยมให้ทั้ง 2 พรรค ยิ่งแตกกัน

เพราะทั้งสองพรรคไม่มีความไว้วางใจเป็นทุนเดิม ยิ่งฝ่ายหนึ่งพลิกชนะเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งพลาดท่าแพ้เลือกตั้ง แต่คะแนนห่างกันเพียงแค่ 10 เสียง ยังไม่นับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอยู่ในมือกว่า 300 เรื่อง อีกทั้งมีอีกหลายคดีที่กลายเป็น ชนักติดหลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

ส.ว. 250 คนในสภา มีอาวุธลับ การแก้ไขมาตรา 112 เป็นเหตุที่จะนำมาใช้ “ไม่โหวต” พิธา เป็นนายกฯ

ส.ว.ฝ่ายขวา เชื่อว่า ส.ว.จะโหวตให้ “พิธา” ไม่ถึง 20 เสียง ขณะที่ ส.ว.สายกลาง ๆ บอกว่า เวลานี้ยังเร็วไปที่จะตอบคำถาม ใกล้ ๆ วันโหวตนายกฯ จะสัญญาณชัดกว่านี้ เรื่องหุ้นสื่อไอทีวีจะมีน้ำหนักน้อยในการสกัดก้าวไกล แต่ประเด็น ม.112 แบ่งแยกดินแดน จะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า

ดังนั้น ข่าวปล่อยที่ว่า พรรคเพื่อไทยยอมถอยเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคก้าวไกล โดยยอมรับเก้าอี้รองประธานสภา 2 ตำแหน่ง โดยมีเงื่อนไขหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลแทน และเสนอคนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ

อาจเป็น “ความในใจ” ของคนในพรรคเพื่อไทยบางคน เพราะคนการเมืองอ่านเกมอำนาจกันทะลุว่า โอกาสที่ “พิธา” จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 มีไม่ถึง 50% ณ ขณะนี้

ถ้าพรรคก้าวไกล จำต้องแยกตัวไปอย่างเป็น “พระเอก” ขั้วที่จัมพ์สายต่อกันไว้แต่ไหนแต่ไร คือ พรรคเพื่อไทย กับพรรคพลังประชารัฐ ขั้วรัฐบาลใหม่ ที่ไม่ใช่ 8 พรรคการเมือง

ที่คนในวงการเมือง ในรั้วสภาพูดถึงหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล มีหน้าตาดังนี้

สูตรแรก พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล รวม 280 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 คน พรรคภูมิใจไทย 71 คน พรรคพลังประชารัฐ 40 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน พรรคประชาชาติ 9 คน พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 คน พรรคชาติพัฒนากล้า 2 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน พรรคใหม่ 1 คน พรรคท้องที่ไทย 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน

ส่วนขั้วฝ่ายค้าน 220 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 151 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน
พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 คน พรรคเป็นธรรม 1 คน พรรคพลังสังคมใหม่ 1 คน พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน

สูตรที่สอง ในกรณี พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง ดีลเจรจาร่วมรัฐบาลด้วย ที่พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ก็จะมีเสียงเพิ่มขึ้น 341 เสียง

ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกน ร่วมกับ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ก็จะเหลือ 159 เสียง

สูตรที่สาม หากพรรคเพื่อไทย จัมพ์สายกันเฉพาะพรรคหลัก ๆ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 คน
พรรคภูมิใจไทย 71 คน พรรคพลังประชารัฐ 40 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน พรรคประชาชาติ 9 คน
พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 คน ก็จะมี 273 เสียง

พรรคฝ่ายค้าน ก็จะเหลือ 227 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 151 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 คน
พรรคประชาธิปัตย์ 25 คน พรรคไทยสร้างไทย 6 คน พรรคชาติพัฒนากล้า 2 คนพรรคเป็นธรรม 1 คน
พรรคพลังสังคมใหม่ 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน พรรคใหม่ 1 คน
พรรคท้องที่ไทย 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน

การสลายขั้วก้าวไกล-จับขั้วใหม่เพื่อไทย ยกแรกจะชี้ขาดกันที่เกมชิงเก้าอี้ประธานสภา