กับดักโหวต พิธา รอบสอง เรื่องที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ไม่ได้เขียนทางออกในรัฐธรรมนูญ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ในละครการเมือง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เปรียบเหมือน “นักแสดงนำ” มีผู้อำนวยการสร้าง อย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล” ในนาม “ก้าวไกล”

แต่จะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการโหวตของ “คณะกรรมการกลั่นกรอง”

ในที่นี้คือ ที่ประชุมรัฐสภา ประกอบด้วย และ ส.ส. 500 คน (ขณะนี้เหลือ 498 คน เนื่องจาก น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สิ้นสมาชิกภาพจากการต้องคดีถึงที่สุด ในความผิดฐานเมาแล้วขับ ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยื่นหนังสือลาออกจาก ส.ส.) และ ส.ว. 250 คน รวม 750 เสียง

“พิธา” ต้องได้รับการเห็นชอบอย่างน้อย 376 เสียงขึ้นไปถึงจะได้ “รับบทนายกรัฐมนตรี”

ประธานรัฐสภาคนใหม่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ป้ายแดง นัดวันโหวตนายกฯ 13 กรกฎาคมนี้

ขณะนี้ พรรคก้าวไกล ผนึกกำลังกับ 7 พรรค ร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว 312 เสียง ยังขาด 64 เสียง ที่จะมาเติมให้เต็ม

64 เสียง ถือว่ายากยิ่งกว่ายาก เพราะ “พิธา” และก้าวไกล จำต้องขอเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมของพรรคการเมือง “ขั้วเดิม” หรืออาจมาจาก ส.ว. 250 เสียง ที่ปันเสียงมาให้

เหตุผล-ข้อกังวลของ ส.ว. ที่ตั้งป้อม “งดโหวต-ไม่โหวต” ให้ “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็เพราะ “ธง” การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

อย่างไรก็ตาม มีอีกหนึ่งประเด็นที่งอกขึ้นมาในการโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่มีข้อสรุปว่า จริง ๆ แล้ว ถ้าที่ประชุมรัฐสภาโหวตชื่อ “พิธา” รอบแรกไม่ผ่าน จะโหวตชื่อ “พิธา” ในรอบที่ 2 รอบที่ 3 ได้หรือไม่ โดยเฉพาะ ส.ว.เริ่มมีการมองว่าเป็น “ปัญหาข้อกฎหมาย”

เริ่มจากการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมมีการหารือเรื่องการประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาครบ 376 เสียง ในวันดังกล่าว จะสามารถเสนอชื่อนายพิธากลับมาโหวตในรอบ 2 ได้หรือไม่

เทียบเคียงกับการพิจารณาคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาที่หากชื่อบุคคลใดไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประวุฒิสภาแล้ว จะไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อกลับมาพิจารณาใหม่ในรอบ 2 อีก

ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงถูกขยายผล มาสู่สาธารณะ กลายเป็น “ปราการ” ใหม่ที่จะขวางไม่ให้ “พิธา” เป็นนายกฯ

ปัญหาข้อกฎหมายเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2560 ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” และคณะในนามกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) การโหวตนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 159 ประกอบมาตรา 272 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า หากโหวตนายกฯ ไม่ผ่านรอบแรกแล้วจะทำอย่างไรต่อ

มีแต่เพียงคำพูดของ “มีชัย” หลายวาระทั้งการบรรยายเรื่องรัฐธรรมนูญ และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ที่อยู่ในลักษณะที่ตีความได้หลายทาง ดังนี้

ทางที่หนึ่ง โหวตครั้งแรกไม่ผ่าน เปิดช่องให้เลือกนายกฯ นอกบัญชี

“มีชัย” บรรยายเรื่อง สาระและประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 26 กรกฎาคม 2559 ก่อนประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ตอนหนึ่งว่า

“บทเฉพาะกาล (มาตรา 272) บางส่วน เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาว่าถ้าเราไม่ได้บังคับให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ถ้าเกิดมีพรรคใหญ่ๆ ไม่อยากเสนอชื่อ เขามีปัญหาในพรรคว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 1 2 3 เพราะขืนบอกพรรคแตกแน่ เขาอาจจะไม่บอก แล้วเกิดพรรคนั้นได้ตั้งรัฐบาล แล้วจะทำอย่างไร เราก็เออ..อันนี้ของใหม่ เราต้องคิดหาทางออกให้เขาหน่อย”

“เมื่อจะต้องยกเว้นรัฐธรรมนูญ เราเขียนบทเฉพาะกาลว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อนั้นได้ ให้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อขอยกเว้นว่าจะเอาคนจากนอกบัญชี ถามว่าทำไมต้องเรียกประชุมรัฐสภา ก็เพราะจะเป็นการยกเว้นรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของที่ประชุมร่วมรัฐสภา”

“แต่ถ้ารัฐสภาเห็นชอบว่า โอเค..ไปเถอะ เข้าตาจนแล้วไปเอาคนอื่น ไม่เอาตามบัญชีรายชื่อ เขาก็กลับไปเลือกกันเอง วุฒิสภาไม่เกี่ยวแล้ว ส.ส. ไปเลือกกันเอง ก็เพื่อรักษาหลักที่ว่าผู้แทนราษฎรจะเป็นคนเลือกนายกฯ จึงเป็นที่มาของคำถามพ่วงให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ด้วยจะดีไหม เพราะอันนี้ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของเรา”

8 สิงหาคม 2559 หลังรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการลงประชามติ “มีชัย” กล่าวว่า ตนขอเรียนว่าในการกำหนดหาตัวนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ว.ไม่มีหน้าที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่จะเป็น ส.ส.ที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่เสนอก่อนการเลือกตั้ง

“อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีปัญหาที่ต้องคิดก็คือว่า ตามบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกโดยที่ประชุม ส.ส.นั้น ถ้าหากที่ประชุม ส.ส.ไม่สามารถหาตัวนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่เสนอก่อนการเลือกตั้ง ก็ให้รัฐสภาโดย ส.ว.มาร่วมประชุมเพื่อให้มีข้อยกเว้นให้ ส.ส. และ ส.ว.ร่วมกันเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองด้วยได้”

ทางที่สอง รวมเสียงจนกว่าจะชนะในสภา

“มีชัย” ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตหลังจากการเลือกตั้งจะเป็นอำนาจของใคร ว่า

“เป็นเรื่องของรัฐสภาเพราะรัฐบาลที่อยู่วันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ “นี่ไงพวกคุณสรุปกันเอาเองว่ารัฐบาลจะตราพระราชกฤษฎีกา คุณมาถามผมว่ารัฐบาลมีอำนาจตราหรือไม่ คำตอบคือมี และผมก็บอกว่าแต่ ควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เข้าใจไหม เหมือนถามว่าคุณจะโดดหน้าต่างลงไปได้หรือไม่ ก็บอกว่าได้ แต่ควรโดดหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

ส่วนจะมีทางออกสำหรับกรณีที่เลือกนายกฯ ไม่ได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “คุณสมมติในสิ่งที่ตนเองนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการไว้เป็นขั้นตอนแล้ว”

เมื่อถามว่า มีโอกาสถึงขั้นที่จะต้องใช้กลไกการวินิจฉัยประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 5 หรือไม่ นายมีชัยตอบว่า

“ไม่มี บางทีพอเริ่มต้นเขาอาจจะโหวตกันเรียบร้อยก็ได้ แต่ถ้าโหวตกันไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาทำหน้าที่่”

ต่อข้อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญเป็นการบีบให้สองพรรคการเมืองใหญ่จับมือกันเป็นรัฐบาลหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า

“ไม่ได้บีบ เอาอย่างนี้ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนคนที่จะมาตั้งรัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมาก เขาจะหากันด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือคุณจะไปคิดว่ามีเสียงสองเสียงก็จะไปตั้งรัฐบาล มันตั้งไม่ได้ สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มี 18 เสียง ท่านก็ต้องไปคุยกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ด้วยจนกระทั่งรวมกันได้เสียงเกินครึ่งท่านก็ตั้งรัฐบาล คุณไม่ต้องห่วงหรอก พรรคการเมืองเขาก็ต้องคุยกันจนได้”

อาจให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นอกจากนี้ เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 เคยถึงมือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว 1 ครั้ง ภายหลังที่ กรธ.ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับ “คำถามพ่วง” หลังการทำประชามติ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีสั่งให้ กรธ.แก้ 2 ข้อ

ต่อมา กรธ.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องมาตรา 272 / 28 ก.ย. 59 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ให้ กรธ.แก้รัฐธรรมนูญ 272 ดังนี้

1.ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อ คือ สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (เรื่องขั้นตอนโหวตนายกฯ คนนอก)

2.กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้” (ให้หานายกฯ คนนอกได้ ใน 5 ปีแรก เท่ากับอำนาจ ส.ว.)

แหล่งข่าวจาก ฝ่าย ส.ว. ระบุว่า เรื่องการโหวต “พิธา” รอบ 2 ได้หรือไม่นั้น ยังเป็น “ปัญหาข้อกฎหมาย” เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ อีกทั้ง เมื่อไปดู “บันทึกความมุ่งหมาย ความมุ่งหมายและคาอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญ” ก็ไม่ได้บัญญัติไว้อีกเช่นกัน

ดังนั้น จึงมีการหารือว่า ถ้ารอบแรกไม่ผ่าน อาจใช้การเทียบเคียงกับการพิจารณาคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภา โดยใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“แต่ไม่ได้หมายความว่าเราควรใช้ มาตรา 5 เพียงแต่ยังมีปัญหาข้อกฎหมาย ที่ยังต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่า หากการโหวตรอบแรกนายพิธา ไม่ผ่าน ก็ต้องมีรอบที่สอง เพราะประธานรัฐสภาได้กำหนดวันประชุมแล้ว แต่ระหว่างนั้น อาจมี ”มือดี” ไปยื่นตีความถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่”

การเป็นนายกฯ ของ “พิธา” ไม่ง่าย แม้จะนัดแสดงพลัง “ด้อมส้ม” ช่วงเย็นของวันที่ 9 กรกฎาคม

อย่าด้อยค่า “มือดี” ทางการเมือง

เพราะ “มือดี” แสดงอิทธิฤทธิ์ เปลี่ยนเกมการเมืองมาแล้วนักต่อนัก