กรกฎาเดือด จุดเปลี่ยนประเทศ ลุ้นขั้วรัฐบาล โหวตคว่ำพิธา-ทักษิณกลับบ้าน

เลือกนายก
คอลัมน์ : Politics policy people forum

หลายเหตุการณ์ในการเมืองทั้งเดือนกรกฎาคม อาจเป็น “จุดเปลี่ยน” ประเทศไทยไปตลอดกาล

สำคัญยิ่งกว่าการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

สำคัญยิ่งกว่าท่าที “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะยอมแพ้ หรือ อยู่ (สู้) ต่อ

เพราะหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม จะกระทบต่อการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายทางการเมือง นอกจากศึกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสร้างความหมางใจระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

เลือกนายกรัฐมนตรี

หลังจากเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ช่วงการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามไทม์ไลน์ที่กลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร กาปฏิทินการเมืองของรัฐสภาไว้ ว่า หากไม่มีอุบัติเหตุใด ๆ การเลือกนายกฯจะเกิดขึ้นไม่เกิน 15 กรกฎาคม 2566 การโหวตนายกฯ ในรัฐสภาในวันนั้นมีความหมายอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย

เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เต็ง 1 ณ เวลานี้ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ที่รวบรวมเสียงได้แล้ว 312 เสียง

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 ระบุขั้นตอนการโหวตนายกฯ จะต้องลงมติโดยเปิดเผย ด้วยการ “ขานชื่อ” และต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา คือ 376 เสียง

พิธา ยังขาดเสียงอยู่ 64 เสียง ยังต้องลุ้น 2 ด่าน คือ ด่าน ส.ว.จะโหวตให้ “พิธา” กี่เสียง และเสียงจากพรรคการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามจะมี “แหกขั้ว” มายกมือให้ “พิธา” หรือไม่

แต่การลงมติโหวตนายกฯ วันที่ 15 กรกฎาคม สถานการณ์ของ “พิธา” ตอนนั้นอาจอยู่ในภาวะ “ลูกผีลูกคน”

เพราะเป็นช่วงที่คณะกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องหุ้นสื่อ ของ “พิธา” จะได้ข้อสรุปในช่วงนั้น ว่าจะชงให้ที่ประชุม กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากไม่มีการต่อเวลาเป็นรอบที่ 2

ทั้งนี้ กกต.รับไว้เป็นเรื่องปรากฏ ฐานที่ “พิธา” อาจเข้าข่าย “รู้อยู่แล้ว” ว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 151

ย้อนความไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน กกต.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการไต่สวน 1 คณะ มาไต่สวน “พิธา” หลังจากครบ 20 วัน เมื่อ 28 มิถุนายน คณะกรรมการไต่สวนขยายเวลาไต่สวนครั้งที่ 1 ออกไป 15 วัน จะครบกำหนดวันที่ 13 กรกฎาคม เหลือ 2 วันก็จะมีพิธีกรรมโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ

หากคณะกรรมการไต่สวนเห็นว่า “มีมูล” ก็ยื่น กกต.ให้พิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ เหมือนที่เคยส่งเรื่อง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ครั้งกรณีถือหุ้น “วี-ลัค มีเดีย”

หากผลเป็นลบ แม้ที่ประชุมรัฐสภา จะเดินหน้าโหวต “พิธา” ได้ แต่เมื่อแคนดิเดตนายกฯ มัวหมอง อาจทำให้ ส.ว.ไม่ยกมือให้

อีกทั้งยังมีประเด็นที่ถูกหยิบมาเชือด เช่น ข้อกล่าวหาแบ่งแยกดินแดน รวมถึงประเด็นแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ ส.ว.หลายคนประกาศยกมาเป็นข้ออ้างในการ “ไม่สนับสนุน” พรรคก้าวไกล และ “พิธา”

สถานะของ “พิธา” ที่ต้องลุ้นที่สุดคงอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากเหตุที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “พิธา” ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ให้สอบถามอัยการสูงสุดว่ามีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการ

ศาลรัฐธรรมนูญ ให้อัยการสูงสุดแจ้งกลับมาภายใน 15 วัน ไม่เกินวันที่ 10 กรกฎาคม ก็รู้หัวรู้ก้อย

8 แคนดิเดตนายกฯ รอเสียบ

“สมศักดิ์ เทพสุทิน” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ผู้ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน วิเคราะห์ว่า “พิธา จะได้เป็นนายกฯหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวของพิธาเอง ทั้งเรื่องคดีต่าง ๆ หรือเรื่องคุณสมบัติ ตอนนี้ต้องให้เขาได้เป็นรัฐบาล เพราะได้เสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง พิธา ก็ควรที่จะเป็นนายกฯ แต่การจะได้เป็นนายกฯหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่ขึ้นอยู่กับพิธาเอง”

หากวันโหวตนายกฯ พิธา สะดุดขาตัวเอง จะมีแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นขึ้นมาเสียบแทนทันที มาจาก 5 พรรค 8 คน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย มีชื่อ เศรษฐา ทวีสิน-แพทองธาร ชินวัตร-ชัยเกษม นิติสิริ พรรครวมไทยสร้างชาติ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคภูมิใจไทย มี อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคประชาธิปัตย์ มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

เมื่อ “พิธา” สะดุด เกมการสลับขั้วอาจเกิดขึ้นจริง พรรคก้าวไกลถอยไปเป็นฝ่ายค้าน

ทักษิณกลับบ้าน

ขณะที่ปลายเดือนกรกฎาคม จะมีอีเวนต์ที่น่าตื่นเต้น คือ การกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” โดยเฉพาะวันเกิดวันที่ 26 กรกฎาคม ทั้งองคาพยพฝ่ายกฎหมายประจำครอบครัวชินวัตร ทั้งทีมประชาสัมพันธ์-พี.อาร์.โซเชียลสื่อในสังกัด ตั้งวอร์รูมรับการกลับมาของ “ทักษิณ” การกลับบ้านของทักษิณ มีกระบวนการที่ต้องเกิดขึ้น คือ การเตรียมการเดินทางไปศาลเพื่อขอออกใบแดงแจ้งโทษ และกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ

ประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

อีก 1 ไฮไลต์ในเดือนกรกฎาคม คือ ความเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกจาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” ของพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่-เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

โดยองค์ประชุม 374 คน ประกอบด้วย กก.บห.ชุดรักษาการ สมาชิกที่เคยเป็นหัวหน้าหรือเลขาธิการพรรค
1 คน ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน อดีต ส.ส. 85 คน สมาชิกที่เป็นรัฐมนตรี 2 คน อดีตรัฐมนตรี 19 คน

สมาชิกที่เป็นนายก อบจ. ที่พรรคส่งลงสมัคร 1 คน สมาชิก อบจ. 1 คน สาขาพรรค 20 คน ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 172 คน และอื่น ๆ 20 คน

ปัจจัยชี้ขาดศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน เพราะมีน้ำหนักในการออกเสียงถึง
70 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย ส.ส.เขต 22 คน

โดยมีอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 3 คน ที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของพรรคในรอบ 77 ปี

จากการซาวเสียง 25 โหวตเตอร์ ส.ส.ที่มีน้ำหนักในการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคมากที่สุด “เกินครึ่ง” ที่ “ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง”

แคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ที่ลอยมาคือ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา 2 สมัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุมภาคใต้-กุมเสียง ส.ส.ปักษ์ใต้ 17 เสียง

ความเปลี่ยนแปลงที่ถูกออกแบบเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบแรก การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ และรูปแบบที่สอง การเปลี่ยนแปลงแบบเป็นขั้นบันได เพื่อวางพื้นฐานไปสู่การเปลี่ยนแปลงระยะสั้น-ระยะยาว 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี

วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 จะเห็นหน้า-เห็นหลังหัวหน้าพรรคคนใหม่-กก.บห.พรรคชุดใหม่ และทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะเป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน

การเมืองเดือนกรกฎาคม จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย