เปิดแผนขั้วรัฐบาลเก่า 188 เสียง “วิปเงา” จับสัญญาณ ชิงรัฐบาลใหม่

บิ๊กตู่ -ป้อม

9 พรรค 188 เสียง ประกอบด้วย 1.พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง 2.พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง 3.พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง 4.พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง

5.พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง 6.พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง 7.พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 8.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง และ 9.พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไม่เป็นเอกภาพ-ไม่เป็นปึกแผ่น อย่างที่นักคณิตศาสตร์การเมืองดีดลูกคิด อย่างน้อย 71 เสียงของพรรคภูมิใจไทย

หัวหน้าค่ายสีน้ำเงิน ออกคำสั่งซ้ายหัน-ขวาหัน โชว์ระเบียบ-วินัยของ 71 ส.ส. “ไม่แตกแถว” ในการลงมติ “งดออกเสียง” ในการเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1

ทั้งที่เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล กับ “วิทยา แก้วภราดัย” พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

สำทับด้วย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ซีอีโอภูมิใจไทย ย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าซีกพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจบไปแล้ว เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งถือว่าเป็นการนับ 1 ใหม่ ฉายหนังซ้ำวาทะบันลือโลกของ “ครูใหญ่” แห่งบุรีรัมย์ยูไนเต็ด “มันจบแล้วครับนาย”

หลังรอยปริ 9 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม โดยมิได้นัดหมาย เกิดภาพ “สองกุมาร” พรรคพี่-พรรคน้อง “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้ากับ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อม “คู่กรณี” นายอนุทิน ก่อนจะออกแนวคิดการตั้ง “วิปรัฐบาลเดิม” เพื่อประสานรอยร้าว ไม่ให้ 188 เสียงแตก

ทว่าเมื่อ “พรรคใหญ่สุด” ของซีกพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อย่างพรรคภูมิใจไทยขอ “ถอนตัว” ภารกิจจึงตกอยู่ที่ “พรรคพี่ใหญ่” รับหน้าที่ประสานงาน 8 พรรคให้ไปถึงแยกวัดใจ-พลิกเกมเป็นรัฐบาล

ขณะนี้อยู่ในระหว่างพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการของ ส.ส.ผู้บริหารพรรคใหญ่ กับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเดิม หากสามารถได้ข้อยุติจะออกมาแถลงอย่างเป็นทางการเพื่อโชว์ภาพแน่นแฟ้น

ขณะที่ “พรรคน้อง” รวมไทยสร้างชาติ ที่ออกตัวแรง-เริ่มทำงานในสภาอย่างจริงจัง โดยมี “วิทยา แก้วภราดัย” รองหัวหน้า-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานคณะทำงานประสานงานด้านการเมือง หรือ “ประธานวิปพรรค”

และมี “เลขาฯขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ รับหน้าที่เป็น “ผู้จัดการรัฐบาลเงา” ประสานงานด้านการเมือง “นอกสภา” เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน

“วิทยา” ไม่รู้สึกหนักใจกับท่าทีของพรรคภูมิใจไทยที่แสดงท่าทีชัดเจน เอาตัวออกห่างจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เพราะเชื่อว่าเลขาธิการพรรคจะมีการพูดคุยกันเป็นระยะ “ธรรมดา วันที่ทุกอย่างยังไม่ชัดเจนจะให้คิดเหมือนกันทีเดียวก็คงไม่ได้”

โดยในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จะเป็นหน้าที่ของเลขาธิการพรรคที่จะตรวจสอบท่าทีของ “พรรคเพื่อน” ร่วมชั้น ส่วน “วันโหวต” พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะอยู่กันครบหรือไม่ “วิทยา” บอกว่า “ไหลไปตามสถานการณ์”

“เราจะไปคาดคั้น คาดการณ์ก็เหมือนการทาย เรายังไม่รู้ว่าวันที่ 13 ก.ค.โหวตครั้งเดียวจะผ่านเลยหรือไม่ หรือไม่ผ่าน แล้วจะทอดเวลากี่วัน หรือจบเพียงครั้งเดียวแล้วไปพรรคที่สองต่อ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา”

“แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 2 3 4 5 6 7 8 ก็ต้องยืนนิ่ง ๆ เป็นไปตามครรลองของระบอบ คนที่มีเสียงข้างมากควรที่จะได้รับโอกาส (เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี) ไม่ใช่ต้องเป็นรัฐบาล แต่ได้รับโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาล”

9 พรรค 188 เสียงที่เกาะกันอย่างหลวม ๆ จะเหนียวแน่นถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ “วิทยา” ขอไม่ก้าวก่าย เพราะคิดว่า “ยังไม่จำเป็นที่จะต้องล็อกคอกัน”

“เราไม่อาจไปล็อกใครได้ว่าต้องกอดคอกันอย่างนี้นะ ในขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลเป็นความอิสระของแต่ละพรรคในการกำหนดท่าทีของตัวเอง”

“หลายพรรคกำหนดท่าทีชัดเจน ยืนยันว่า ตราบใดที่พรรคการเมืองแตะต้องมาตรา 112 ไม่เอาด้วย ส่วนพรรคไหนพูดแล้วกลับคำประชาชนจะตัดสินเอง”

“หลายพรรคมีความคิดเหมือนพรรครวมไทยสร้างชาติ คือพรรคการเมืองใดที่ไปแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในการลดทอนพระราชอำนาจ หรือแก้ไขมาตรา 112 ไม่เอาด้วย”

“ขั้นตอนวันนี้ไม่ใช่การเริ่มงานของสภาในเรื่องการพิจารณากฎหมาย แต่เป็นการเลือกเพื่อตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลา ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับว่า คนที่จัดตั้งรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือยัง”

“ส่วนคนที่ไม่ได้รับการชักชวนเข้าไปเป็นรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพราะรัฐบาลไม่เอา พรรคใดพรรคหนึ่งไปชักชวนกันเป็นฝ่ายค้านก่อน คงต้องรอดูอีกสักพัก 

เพราะคงไม่มีพรรคไหนจะประกาศเป็นฝ่ายค้าน ไม่เป็นรัฐบาล”

วิทยากล่าวทิ้งท้าย