บ้านพิษณุโลก ตำนานอาถรรพ์ เรื่องลี้ลับ อดีตนายกฯอยู่ได้ 7 วันขอย้ายหนี

บ้านพิษณุโลก

ย้อนตำนานอาถรรพ์ บ้านพิษณุโลก อดีตนายกฯอยู่ได้ 7 วันขอย้ายหนี ประยุทธ์เคยเข้าไปทำงาน แต่ไม่ได้นอน

วันที่ 11 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิด “บ้านพิษณุโลก” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อประชุมร่วมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในวันหยุด

ทั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงบ้านพิษณุโลก ได้เดินดูต้นไม้และบรรยากาศรอบ ๆ บ้าน พร้อมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะนำพวงมาลัยมาสักการะรูปปั้นนารายณ์บรรทมสินธุ์ หน้าตึกใหญ่ ซึ่งเป็นตึกประธาน จากนั้นนายกฯ ได้สักการะ ศาลท้าวหิรัญพนาสูร ซึ่งตั้งอยู่ข้างตึกใหญ่ ซึ่งเป็นตึกประธาน นับเป็นครั้งแรกในรัฐบาลชุดปัจจุบันในการเปิดประตู “บ้านพิษณุโลก”

เศรษฐา ทวีสิน

ประวัติ

บ้านพิษณุโลก เดิมคือ “บ้านบรรทมสินธุ์” อันเป็น “บ้านพระราชทาน” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แล้วพระราชทานให้กับมหาเสวกเอก พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) (23 พฤษภาคม 2436-11 มกราคม พ.ศ. 2494) บุตรชายของ พระนมทัต (คุณหญิง ประสิทธิ์ศุภการ)

ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ คัดเลือกให้เป็น “แม่นม” ถวายแด่ทูลกระหม่อมโต เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (อินทิรา ใจอ่อนน้อม; ศิลปวัฒนธรรม)

ลักษณะของบ้านเป็นแบบ Italian Baroque มีตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นตึกประธานของบ้าน มี 3 ชั้นไม่รวมห้องใต้ดิน ประกอบด้วย

ชั้น 1 จะเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับนั่งเล่น และมีห้องรับแขก 2 ห้อง

ชั้น 2 เป็นห้องนอน 2 ด้าน ซึ่งเป็นห้องนอนของพระยาอนิรุทธเทวาด้วย

ชั้น 3 เป็นห้องพระใหญ่ใต้โดมหน้าตึก ด้านหลังห้องพระจะเป็นห้องนอน และห้องทุกห้องจะออกแบบให้มีเพดานสูง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก

โดยหน้าตึกประธานจะมีรูปปั้นนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์พระราชทานของตระกูลประดิษฐานอยู่บนแท่นศิลาในอ่างน้ำพุ และมีตึกบริวารต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ ตึกเย้าใจ เรือนคู่ใจ เรือนณรงค์ เรือนกลัมพากร และโรงรถ

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชสมบัติ เพราะแบกรับค่าซ่อมบำรุงไม่ไหว แต่ได้รับการปฏิเสธ

ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 พระยาอนิรุทธเทวาพาครอบครัวย้ายไปอยู่ จ.พระนครศรีอยุธยา บ้านหลังดังกล่าวจึงถูกทิ้งร้าง

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้ซื้อไว้ครึ่งหนึ่ง 25 ไร่ 500,000 บาท ทำกรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านสันติภาพและบ้านพิษณุโลกตามลำดับ

ก่อนที่ในปี 2522 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะกำหนดให้บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีในที่สุด

บ้านพิษณุโลก

มีนายกฯ 2 คนเท่านั้นที่อยู่บ้านหลังนี้

นายกรัฐมนตรีคนแรกคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หลังจากซ่อมแซมเสร็จในยุคของ พล.อ.เปรม ก็ย้ายเข้าไปอยู่ทันที แต่ก็อยู่ได้เพียง 7 วัน พล.อ.เปรม ก็ย้ายกลับไปพักที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ

ส่วนอีกคนคือ นายชวน หลีกภัย ย้ายเข้าไปอยู่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2543 โดยสามารถอยู่อาศัยได้นานถึง 6 เดือน เนื่องจากมีการซ่อมบ้านใหญ่บ้านพักของนายชวนในซอยหมอเหล็ง
โดยมีรายงานก่อนที่จะอยู่อาศัยมีการนำพราหมณ์จากภาคใต้ขึ้นมาทำพิธีปัดรังความ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ภายในบ้านก่อนเข้าพัก

น่ากลัวสุดสมัยนายกฯทักษิณ

รายงานข่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดวันที่ 16 มีนาคม 2544 ระบุว่า เมื่อคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ภริยานำคนงานจากบ้านพักส่วนตัวมาทำความสะอาด

ปรากฏว่ามีพนักงานหญิงคนหนึ่งจู่ ๆ ก็ล้มตัวลงนั่งหลังค่อมคล้ายผู้สูงอายุเช็ดถูพื้นบริเวณชั้นล่างของบ้านและบ่นพึมพำว่า “รกหูรกตาไปหมด อะไร ๆ ก็สกปรก ไม่เห็นจะทำความสะอาดกันเลย” ทำให้พนักงานที่ทำงานร่วมกันเริ่มหวาดกลัว ไปตามคุณหญิงพจมานและเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง

คุณหญิงพจมานจึงรีบลงมาดูและใช้มือตีไปที่ไหล่เพื่อเรียกสติแต่ไม่ได้ผล จนต้องสั่งให้คนงานไปเอาลูกประคำและน้ำมนต์มา โดยเอาลูกประคำคล้องคอและให้ดื่มน้ำมนต์ดังกล่าว ปรากฏว่าพนักงานคนนั้นตวาดเสียงดังว่า “เอาอะไรมาให้ฉันกิน ?” ก่อนจะเทน้ำมนต์ทิ้ง และพนักงานคนนั้นกลับคืนสติอีกครั้ง

บ้านพิษณุโลก

ประยุทธ์ เคยเข้าไปนั่งทำงาน แต่ไม่ได้นอน

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีสาเหตุที่อดีตนายกรัฐมนตรี บางคน ไม่ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นบ้านพัก ว่า

เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับผีสาง นางไม้ หรือเทวดาอะไร ตนเคยเป็นคนช่วยนายชวน หลีกภัย สมัยเป็นนายกฯขนของเข้าไปอยู่ในบ้านพิษณุโลก ซึ่งข้อเท็จจริงคือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเสียง และความอึกทึกจากข้างนอกที่เข้ามาภายในบ้าน เมื่ออยู่ในนั้นจะได้ยินเสียงทุกอย่างทั้งหมด หากขวัญอ่อนก็นึกว่าผี แต่ความจริงคือคนพูดกันว่าหากอยู่ที่ชั้นสาม เวลาพูดกันคนชั้นล่างก็ได้ยิน

นายวิษณุระบุว่า ยังเคยเล่นกันเมื่อครั้งทีมงานบ้านพิษณุโลกในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีคนนอนอยู่ข้างบน แล้วข้างล่างเขานั่งประชุมกัน คนที่นอนข้างล่างได้ยินที่เขาประชุมกันหมด จึงรู้สึกว่าการออกแบบบ้านนั้นไม่เก็บเสียง แต่ที่จริงไม่มีอะไร และเมื่อปี 2557 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมัยเป็น คสช.เป็นประธานในการซ่อมแซม แต่พอซ่อมไปซ่อมมาก็มีปัญหาอีก

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยเข้าไปนั่งทำงาน แต่ไม่ได้นอน อีกเรื่องคือเข้าไปดูแล้วพบว่าบ้านพักนายกรัฐมนตรีควรจะให้เฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้ แต่บ้านพิษณุโลกไม่มี เรื่องนี้เคยมีการเสนอให้ไปลงที่สนามม้านางเลิ้งในกรณีจำเป็นแล้ว

สําหรับเสียงร่ำลือของบ้านพิษณุโลกมีการเล่าไว้มากมาย ทั้งการพบเห็นหญิงสาวแต่งชุดโบราณปรากฏตัวให้เห็นภายในบริเวณบ้านอยู่บ่อยครั้ง หรือการที่คนงานภายในบ้านพบเห็นท้าวหิรัญพนาสูร (ฮู) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านปรากฏกายให้เห็นในยามดึก

ข้อมูล : มติชนสุดสัปดาห์