เศรษฐา ปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงชายแดนใต้ กลับใจ มอบตัวบำเพ็ญประโยชน์

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา งัด พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ให้กลับตัว-กลับใจ มอบตัวต่อเจ้าพนักงานเพื่อทำประโยชน์

วันที่ 20 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกำหนดลักษณะความผิดอันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยให้ผู้กระทำความผิดสามารถเข้ารับการอบรมตามคำสั่งศาลแทนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติได้ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดนั้นกลับตัว เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดังนี้

ข้อ 1 ให้การกระทำความผิดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภายในเขตพื้นที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ดังต่อไปนี้ เป็นความผิดที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 21

1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่

  • ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
  • ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร
  • ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
  • ความผิดต่อเจ้าพนักงาน
  • ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
  • ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน
  • ความผิดต่อชีวิต
  • ความผิดต่อร่างกาย
  • ความผิดต่อเสรีภาพ
  • ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์
  • ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์
  • ความผิดฐานรับของโจร
  • ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
  • ความผิดฐานบุกรุก

2.ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พ.ศ. 2477

Advertisment

3.ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2549

4.ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

5.ความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535

ข้อ 2 เมื่อผู้ต้องหาว่าได้กระทำความผิดตามความผิดตามข้อ 1 กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่า ผู้ต้องหาได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ใช้มาตรา 21 กับผู้ต้องหานั้นได้เฉพาะเมื่อปรากฏว่า ดังนี้

Advertisment
  • การกระทำความผิดนั้นกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
  • การกระทำความผิดนั้นเกิดภายในเขตพื้นที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ตามประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏต่อเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 18 กันยายน 2566
  • การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาว่าได้กระทำความผิดกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบประกาศยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินในพื้นที่ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี และต่อมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีผลตั้งแต่ 20 กันยายน 2566 นี้เป็นต้นไป

รวมถึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 18 ประกาศข้อกำหนด เพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ เช่น ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 20 กันยายน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง และอำเภอกาบัง เป็นระยะเวลา 1 เดือน

โดยนายเศรษฐามอบนโยบายต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ไปศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้เร็วที่สุด หรือก่อนกำหนดเดิมในปี 2570 ในสมัยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กบฉ.