ชัยธวัช ตุลาธน ผู้ร่วมก่อตั้งอนาคตใหม่ สู่ ว่าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล

รู้จัก ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการก้าวไกล “เพื่อนธนาธร” ผู้ร่วมก่อตั้งอนาคตใหม่ มันสมอง และตัวตึงของพรรค

วันที่ 20 กันยายน 2566 ความเคลื่อนไหว ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่จะมีการเคาะหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศลาออกไปเมื่อ 15 กันยายน ที่ผ่านมา โดยตัวเต็งที่จะมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็คือ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการเลขาธิการพรรคก้าวไกล

หลังจากที่พรรคก้าวไกลพลิกล็อกเอาชนะเลือกตั้ง 2566 ไปแบบพลิกความคาดหมายแบบหักปากกาเซียน พิธาที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ชัยธวัชเป็นตัวแทนพรรคในการประสานงานกับพรรคการเมืองต่าง ๆ รวบรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล และเขาคือตัวแทนก้าวไกลในคณะกรรมการเจรจา หาเสียงโหวตในสภาบน สภาล่าง ยกมือให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี

ถึงแม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลจะไม่สำเร็จ แต่ชื่อของ “ชัยธวัช” ยิ่งถูกจับตามากขึ้น เมื่อเขากำลังจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่แทนที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์?

ชัยธวัช ตุลาธน

ประวัติ-จุดเริ่มต้นสนใจการเมือง

นายชัยธวัช ตุลาธน อายุ 44 ปี มีชื่อเล่นว่า ต๋อม หรือ ชัยธวัช แซ่โค้ว เกิดเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2521 จบ ม.ต้นจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ พญาไท จบ ปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชัยธวัชกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มสนใจการเมืองว่า เริ่มทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ไปสังเกตการณ์ม็อบสมัชชาคนจน รอบทำเนียบรัฐบาลที่มีการชุมนุม 99 วัน จึงลงพื้นที่เรียนรู้และพูดคุยกับคนที่อยู่ในม็อบสมัชชาคนจน ว่ามีปัญหาอะไรจึงมาชุมนุม ตอนนั้นเขาไปเพราะอยากรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น หรือมีปัญหาอะไรกัน

“เมื่อได้พูดคุยก็ทราบว่ามีปัญหาเยอะมาก ตรงจุดนั้นเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ผมและเพื่อนได้ไปกินนอนอยู่กับม็อบจนชุมนุมครบ 99 วัน รู้สึกว่าได้เรียนรู้มากมายจากตรงนั้น หลังจากนั้นในปี 2540 จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พอปี 2541 ได้เป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)”

และนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้สนใจปัญหาการเมืองอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปสมัยเรียนมัธยมฯก็ติดตามการเมืองผ่านข่าวเป็นหลัก โดยได้รับอิทธิพลการอ่านหนังสือพิมพ์จากคุณพ่อ แต่พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เจอเรื่องการเมืองของจริง

ชัยธวัช ตุลาธน

ความสัมพันธ์กับธนาธร

ชัยธวัช ตุลาธน พบกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจตั้งแต่ช่วงมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยธนาธรเป็นรุ่นน้องของชัยธวัช 1 ปี โดยเรียนโปรแกรมเดียวกันคือ แผนกเตรียมวิศวะ รู้จักกันในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง พอเข้ามหาวิทยาลัยได้พบกันในแวดวงกิจกรรมเคลื่อนไหว ก่อนจะเข้ามามีตำแหน่งในคณะกรรมการของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)” ชัยธวัช และธนาธรมีแนวคิดทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน โดยหลังเรียนจบ ทั้งคู่ก็ยังติดต่อกันเสมอ

ชัยธวัชเผยว่าหลังจากเรียนจบก็ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับวิศวะเลย เนื่องจากสนใจงานวิชาการ โดยก่อนที่จะเรียนจบก็ได้ไปทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการที่สถาบันพัฒนาการเมือง พอทำไปได้สักพักด้วยความที่ชอบหนังสือและงานวิชาการ จึงไปตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ดำรงตำแหน่งเป็นบรรณาธิการ และธนาธรก็มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่บ้าง

ร่วมกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

ภายหลังการทำรัฐประหารปี 2557 ชัยธวัชเริ่มพูดคุยกับแนวร่วมว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรทางการเมืองของประชาชน ที่จะใช้ต่อสู้ทางการเมือง เพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา จึงพบปะแลกเปลี่ยนกันเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นตกผลึกเรื่องการตั้งพรรคการเมือง จนกระทั่งช่วงรณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของ คสช. ก็ได้ร่วมช่วยเหลือกันรณรงค์คัดค้านด้วย แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านประชามติ

นายชัยธวัชกล่าวถึงการตั้งพรรคอนาคตใหม่ว่า เห็นบรรยากาศในทางการเมืองไม่ค่อยดี เห็นได้จากประชาชนที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเริ่มรู้สึกที่จะท้อแท้ และหมดหวัง ว่าน่าจะทำอะไรไม่ได้ แล้วเห็นว่าบรรยากาศที่ประชาชนหันหลังให้กับการเมืองเป็นบรรยากาศที่อันตราย เพราะเท่ากับว่าเป็นการช่วยให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อไปได้ จึงกลับมาคิดอีกครั้งอย่างจริงจัง ว่าองค์กรทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะใช้ต่อสู้เพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมาควรจะเป็นอย่างไร

พอมาช่วงกลางปี 2560 ชัยธวัชเริ่มคุยกับธนาธร อาจจะถึงขั้นต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนจริง ๆ และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจริง ๆ ขึ้นมา จึงเริ่มชวนคนที่มีความคิดใกล้เคียงกันและน่าจะเห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้ เริ่มจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน หลังจากนั้นจึงหารือว่าหากจะมีพรรคการเมืองแล้วจะออกมาในรูปแบบใด จะมีใครมาเข้าร่วมบ้าง กระทั่งมาตกผลึกกันในช่วงสิ้นปี 2560 ก็ตัดสินใจร่วมกับธนาธรตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา

ชัยธวัช ตุลาธน

วางยุทธศาสตร์การเมือง ก้าวไกล และคณะก้าวหน้า

นายชัยธวัชกล่าวว่า การเมืองแบบสองขาไม่ใช่ความตั้งใจของเราตั้งแต่แรก แต่มาจากสภาพเงื่อนไขทางการเมืองที่เป็นจริง เพราะแกนนำพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้าสภาไม่ได้ ก็ต้องหาแนวทางทำงานทางการเมือง เพื่อการผลักดันข้อเสนอ จึงจำเป็นต้องทำงานนอกสภา ที่อยู่บนพื้นฐานที่เรายืนหยัดว่าต่อให้เจออะไรเราก็จะไม่ถอย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการวางยุทธศาสตร์การเดินการเมืองแบบสองขา

การถูกตัดสิทธิทางการเมือง คือไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถทำพรรคการเมืองได้ แต่สิทธิทางการเมืองอื่น ๆ ยังเป็นของเขาอย่างสมบูรณ์ สามารถรณรงค์ทางการเมือง แสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการสนับสนุนการกระจายอำนาจ ยุติระบบราชการรวมศูนย์ ผ่านการสนับสนุนการเมืองท้องถิ่นได้ สำหรับพรรคก้าวไกลวันนี้อยู่ในสภาก็ต้องทำงานในสภาให้ดีที่สุด

ในขณะที่ธนาธร ผลักดันคณะก้าวหน้า โดยทำงานด้านมวลชน และการเมืองระดับท้องถิ่นคู่ขนานไป ชัยธวัช ตุลาธน เตรียมทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ดูแลพรรคก้าวไกล และตรวจสอบรัฐบาลเศรษฐา

ข้อมูล : มติชนออนไลน์