ครม.เศรษฐา ออกกฎเหล็ก-วางแนวทางให้ข่าวสื่อมวลชน

ครม.เศรษฐา ห้ามให้ข่าว แถลงข่าว

ครม.เศรษฐา ออกกฎเหล็ก วางแนวทาง รัฐมนตรี-ข้าราชการ กรณีให้ข่าวสื่อมวลชน ฝ่าฝืน ฟันวินัยร้ายแรง เพื่อรักษาความลับที่สุด-ลับมาก-ลับ อ้าง ความมั่นคง-ประโยชน์แห่งรัฐ

วันที่ 21 กันยายน 2566 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้มติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ครม. และการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

1.ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 (เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการรักษาความลับของทางราชการ และการให้สัมภาษณ์หรือให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน) วันที่ 11 พฤษภาคม 2547 (เรื่อง การรักษาความลับของทางราชการ) และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 (เรื่อง การรักษาความลับในการประชุมคณะรัฐมนตรี)

2.แนวทางปฏิบัติในการรักษาความลับของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีและการให้ข่าวสารแก่สื่อมวลชน โดยให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรีถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้

ให้รักษาความลับหรือเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ลับที่สุด ลับมาก และลับ ตามชั้นความลับที่ได้กำหนดไว้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและประโยชน์แห่งรัฐ

ทั้งนี้ กรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวตามเงื่อนไขที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดตามในมาตรา 20 (1) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

การพิจารณาหารือหรืออภิปรายของคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีไปถือเป็นความลับของทางราชการ ดังนั้น รัฐมนตรี ผู้เข้าร่วมการประชุม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุมคณะรัฐมนตรี พึงระมัดระวังและไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่พิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ในการจัดทำระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี หากหน่วยงานเจ้าของเรื่องเห็นว่าเรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่มีชั้นความลับ มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบสูงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ความมั่นคง ประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของประเทศชาติ หากถูกนำไปเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของชาติอย่างร้ายแรง

ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องระบุไว้ในหนังสือนำส่งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีชั้นความลับ มีความอ่อนไหว และมีผลกระทบสูงอย่างไร หรือหากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าลักษณะดังกล่าว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะจัดทำระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี

โดยจะแจกเอกสารระหว่างการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในระบบเรียกดูระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยเครื่องแท็บเลต (M-VARA) และหลังจากคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเสร็จจะถอนเรื่องออกจากระบบ M-VARA ทันที

ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดูแล และระมัดระวังมิให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรีเปิดเผยเอกสารดังกล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี

กรณีมีผู้นำเอกสารหรือข้อความซึ่งเป็นความลับของทางราชการไปเผยแพร่จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่ได้รับความเสียหายพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย เช่น กรณีข้าราชการพลเรือนฝ่าฝืนข้อปฏิบัติตามมาตรา 82 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งบัญญัติให้ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาความลับของทางราชการ

“โดยหากฝ่าฝืน ข้าราชการพลเรือนผู้นั้นถือเป็นผู้กระทำผิดวินัยตามมาตรา 84 และหากการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงกรณีจะถือว่าข้าราชการพลเรือนผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (7)

ทั้งนี้ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 97 กล่าวคือ ให้ลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี

อนึ่ง ตามประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ได้วางหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมในเรื่องการรักษาความลับของทางราชการไว้เช่นเดียวกันตามข้อ 7 (3)

กล่าวคือ ข้าราชการการเมืองต้องยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ โดยอย่างน้อยต้องไม่นำข้อมูลข่าวสารอันเป็นความลับของทางราชการซึ่งตนได้มาในระหว่างอยู่ในตำแหน่งไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เอกชนทั้งในระหว่างการดำรงตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง และข้อ 8 (5) กำหนดให้ข้าราชการการเมืองต้องรักษาความลับของทางราชการ เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย

เรื่องใดที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานหลักชี้แจงต่อสาธารณชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเพิ่มเติมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

กรณีเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหรืออนุมัติตามมติของคณะกรรมการต่าง ๆ แล้ว ให้ประธานกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการชี้แจงในทำนองเดียวกันด้วย

ให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจให้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี มติคณะรัฐมนตรี การดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือกระทรวง กรม ตลอดจนชี้แจงต่อสาธารณชนเมื่อปรากฏว่ามีการเสนอข่าวคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงหรือไม่ถูกต้องครบถ้วนอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคลากรหรือรัฐบาล หรือการปฏิบัติผิดพลาดได้

ทั้งนี้ อาจขอให้โฆษกกระทรวงเป็นผู้แถลงข่าว หรือออกคำชี้แจงเอง หรือร่วมกันแถลงข่าว หรือชี้แจงด้วยก็ได้