รวมคดี พรรคก้าวไกล ในวิกฤต ซ้อน วิกฤต

ก้าวไกล

พรรคก้าวไกล เหมือน “วิกฤต” ซ้อน “วิกฤต”

เพราะดันมีปัญหาภายใน เรื่องฉาว ๆ ที่ 2 สส.ถูกแปะป้ายเรื่อง “คุกคามทางเพศ”

แม้ว่า กรรมการบริหารพรรค และ สส.พรรค ออกมา “ตัดไฟ” ไม่ให้ “ลามทุ่ง” ด้วยการลงโทษ สส.ทั้งสอง

รายแรก “วุฒิพงศ์ ทองเหลา” สส.ปราจีนบุรี ที่ประชุมร่วม สส.และกรรมการบริหารพรรค มีมติเสียงข้างมาก “ขับออก” พ้นสมาชิกพรรคก้าวไกล

รายที่สอง “ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” สส.กทม. ที่ประชุมร่วม สส.และกรรมการบริหารพรรค มีมติ 106 เสียง จากทั้งหมด 128 เสียง ควรให้ขับออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกล ทว่ามติดังกล่าวมีเสียงให้ขับออกไม่ถึง 3 ใน 4

แต่เรื่องกลับไม่จบ เมื่อ “ไชยามพวาน” ไม่ยอมจำนนต่อมติพรรคง่าย ๆ จนต้องลงมติเป็นครั้งที่สองอีกหลายวันถัดมา ก่อนที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ขับเขาออกจากสมาชิกพรรค

ขณะเดียวกัน เรื่องของ “วุฒิพงศ์” ยังลามถึงการออกมาแฉว่า “ผู้ช่วย สส.ก้าวไกล” ปราจีนบุรี พัวพันเอื้อประโยชน์ซื้อที่ดิน-รับผลประโยชน์โรงงานกำจัดขยะ จ.ปราจีนบุรี

พรรคก้าวไกล จึง วิกฤต ซ้อน วิกฤต

จากกรณีพรรคก้าวไกล ที่ต้องเผชิญกับคดี 2 สส.คุกคามทางเพศ จน “ติดหล่ม”

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล ยังมีอีกหลายกรณีที่ยังต้องสู้ในศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกหลายคดี

คดีในศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กรณี “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

คดีที่ กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ

ใน ป.ป.ช.เป็นเอฟเฟ็กต์จากกรณีที่พรรคก้าวไกลขับ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากพรรคก้าวไกล เพื่อเปิดทางให้พรรคสามารถมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาได้ โดยคดีนี้ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. โดยระบุว่าการขับนายปดิพัทธ์ออกจากพรรค อาจเป็นทฤษฎีสมคบคิดกัน โดยมิได้ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ อย่างไร หากเป็นการฝ่าฝืนขอให้วินิจฉัยส่งศาลฎีกาเพื่อพิพากษาลงโทษ

ขณะเดียวกัน ยังยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ตรวจสอบกรณีการขับนายปดิพัทธ์ เข้าข่ายขัดข้อบังคับพรรคก้าวไกล

และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคตาม มาตรา 92 (3) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

ประกอบมาตรา 46 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง

“กรรม” ซ้อน “กรรม”

วิกฤต ซ้อน วิกฤต กำลังเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล