แก้รัฐธรรมนูญ ตกม้าตาย ประชามติ ภูมิธรรม เล็ง คำถามพ่วง

แก้รัฐธรรมนูญ ตกม้าตาย ประชามติ ภูมิธรรม เล็ง คำถามพ่วง

เวทีรับฟังความคิดเห็นตกผลึกที่มา สสร. แบบไฮบริด เลือกตั้งทางตรง-ทางอ้อม นิกรเผย ถกก้าวไกลคุยไม่ยาก แก้รัฐธรรมนูญเห็นตรงกัน หวั่นตกม้าตายประชามติ double majority เล็งแก้ ภูมิธรรมแย้มถามคำถามพ่วง-ประหยัดงบประมาณ

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เปิดเผยถึงการหารือกับพรรคก้าวไกลว่า คุยไม่ยาก มีประเด็นเดียวคือ อยากจะแก้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน ยอมรับในความเห็นต่าง แต่ที่เห็นตรงกันเป็นอย่างมาก คือจะไปไม่ถึงตรงนั้นเลย เพราะจะไม่ผ่านกฎหมายประชามติ เพราะฉะนั้นความคิดในการจะปรับปรุงกฎหมายประชามติน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา

เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไปตกม้าตายที่การทำประชามติใช่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่าใช่ เป็นกังวลกันอยู่ และวันนี้ก็กังวลกันเยอะ

“กฎหมายประชามติเป็น double majority คนต้องออกมาใช้สิทธิกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ คือ 26 ล้านคน และเสียงที่เห็นชอบจะต้องเกินครึ่งของ 26 ล้านคนอีกด้วย” นายนิกรกล่าว

นายนิกรยังกล่าวถึงการรับฟังความเห็นเบื้องต้นของกลุ่มอาชีพ/ภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 15 กลุ่มด้วย ว่าวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเท่านั้น ส่วนเรื่องจะทำประชามติกี่ครั้ง คำถามประชามติควรจะเป็นอย่างไร ประเด็นใดในรัฐธรรมนูญ 60 ที่จะต้องแก้ไขนั้น คณะอนุกรรมการ 2 คณะคือ คณะอนุฯรับฟังความเห็นมีหน้าที่สรุป

ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด โดยประเด็นวันนี้ที่มีการนำเสนอมากคือ ผลกระทบที่จำเป็นต้องแก้ ส่วนใหญ่คือ เรื่องสิทธิของประชาชนของกลุ่มสตรี กลุ่มเรื่องเสรีภาพของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เรื่องการกระจายอำนาจของกลุ่มสันนิบาตและเทศบาล จึงเสนอว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญก็ควรมาแก้ปัญหาประเด็นเหล่านี้ ซึ่งคณะกรรมการมาขอความเห็นว่าควรจะแก้หรือไม่

ADVERTISMENT

“ไม่มีใครเห็นว่าไม่ควรแก้เลย ส่วนจะแก้ไขทั้งฉบับ จะเว้นบางหมวดหรือไม่ หรือที่มาของ สสร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งหลายส่วนกังวลว่ากลุ่มของตัวเองจะไม่ได้เข้ามาเป็น สสร. ถ้า สสร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ควรจะมีที่มาจากโดยอ้อมด้วย จึงไม่ชัดว่า สสร.ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การแต่งตั้งคงไม่พูดกัน แต่โดยอ้อมจะทำอย่างไร น่าจะเป็นโซลูชั่นที่ดี”

นายภูมิธรรม เวชยชัย

ADVERTISMENT

ขณะที่นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องการทำประชามติกี่ครั้งยังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 1-2 ครั้ง ซึ่งยังมีข้อคำนึงถึงข้อกฎหมาย เรากังวลใจว่าหากต้องทำประชามติหลายครั้ง ซึ่งการทำประชามติแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เราก็ไม่อยากให้เสียหายตรงนี้ไปเยอะ

เพราะฉะนั้นบางส่วนก็ทำคำถามร่วม หรือคำถามพ่วง หรือจะแก้ไขอย่างไรจะมีการหารือกันเพื่อประหยัดเงินของพี่น้องประชาชน เพื่อให้บรรลุการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้มากที่สุด แหล่งข่าวจากที่ประชุมเปิดเผยว่า เมื่อมีคำถามหลักแล้ว คือเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ อาจะมีคำถามพ่วงไปด้วยว่า ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ควรมีที่มาอย่างไร