เศรษฐา ลั่น ค่าแรงต้องดีกว่านี้ ขอถก คณะกรรมการไตรภาคี ทบทวนมติ

เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา ขอถกคณะกรรมการไตรภาคี ทบทวนมติค่าแรงขั้นต่ำ ลั่นต้องดีกว่านี้ เพราะนายจ้างได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐบาลแล้ว

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการไตรภาคี มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 2-16 บาทว่า ค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้ขึ้นมานานมาก ขึ้นมาน้อยมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน โดยรัฐบาลพยายามทำหลายวิธีที่จะให้ลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร และอีกหลายอย่าง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ของประชาชน รวมไปถึงการแก้ไขหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ

รัฐบาลพยายามทำอยู่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่เรื่องของการเพิ่มรายได้ก็สำคัญ โดยประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก บางจังหวัดขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

นายเศรษฐากล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อที่จะดึงบริษัทใหญ่มาลงทุนในไทย ไปเปิดตลาดค้าขายใหม่ในต่างประเทศ ที่ไทยยังไม่มีสนธิสัญญาทางการค้า สิ่งเหล่านี้รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องขอวิงวอนและขออ้อนวอน ว่าพี่น้องแรงงานคือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลพยายามทำทุกทางเพื่อช่วยเหลือ แต่การขึ้นรายได้ผู้ประกอบการต้องพยายามทำ ไม่ใช่มากดค่าจ้าง แล้วนายจ้างไม่ได้พัฒนากิจการของตัวเอง ผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันนายจ้างก็ได้ประโยชน์จากการลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน และอีกหลายอย่าง ตามมาตรการของรัฐบาล

วันนี้จะยอมให้แรงงานประชาชนคนไทยต่ำติดดินแบบนี้ ในขณะที่ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย เช่น เกาหลีและสิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ เมื่อรัฐบาลพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ก็ควรที่จะทำไปพร้อม ๆ กัน ถ้าทำเพียงฝ่ายเดียวเป็นไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องค่าแรงจะมีโอกาสทบทวนใหม่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขอทบทวนใหม่ เดี๋ยวจะต้องไปพิจารณาดูถึงแนวทางความเหมาะสม เพราะเพิ่งทราบข่าวเรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่การสั่งการ แต่เป็นการพูดคุยร่วมกัน เราต้องพูดถึงองค์รวมของเศรษฐกิจ และการทำธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีการเพิ่มรายได้เปิดตลาดที่มากขึ้น

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว ถึงเวลาต้องคืนให้กับคนที่เป็นกำลังสำคัญในภาคผลิตด้วยหรือเปล่า พอพ้นจากวันหยุดก็จะมีการเรียกคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกคนมีความกังวลหมด ขอให้คิดถึงใจเขาใจเรา

เมื่อถามย้ำว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับการปรับขึ้นมานาน แต่ขณะนี้ปรับเพียงแค่ 2 บาท จะมีการพิจารณาใหม่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ตนก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้คุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรื่องนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาท่องเที่ยว การเปิดด่านสะเดา มีการลงทุนสร้างสะพานไปยังมาเลเซีย สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ

แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงขึ้นแค่ 2-3 บาท ยอมรับว่าตนไม่สบายใจ ถึงอยากใช้เวทีนี้สื่อสาร ไปถึง และขอความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่อย่างนั้นจะติดกับรายได้ต่ำ ต้องคุยทั้งกับไตรภาคี และใน ครม. เพราะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับขึ้นค่าแรงที่เป็นธรรม ควรจะอยู่ที่ตัวเลขเท่าไหร่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ โดยจะต้องฟังเหตุผล ของเขาเหมือนกัน อย่างที่บอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น 2-3 บาท ซื้อไข่ลูกหนึ่งยังไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า ผู้ประกอบการจะอ้างเรื่องผลประกอบการไม่ดี เพราะสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลก็พยายามช่วยอยู่ โดยเฉพาะการลดค่าไฟที่ภาคอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากที่ 4.50 บาทต่อหน่วย ลดมาเหลือ 3.99 ดังนั้น ขอให้คืนกับประชาชนบ้าง ขอย้ำว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าหากมีการปรับเพิ่มขึ้นจำนวนมากอาจจะมีปัญหาเรื่องของการย้ายฐานผลิตออกจากประเทศไทย นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีหรอกครับ อันนี้เป็นวาทกรรม ไม่มีใครย้ายเพราะค่าแรงขึ้นจาก 300 เป็น 400 บาทไม่มีหรอก รัฐบาลยังมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษี มีระบบสาธารณสุขที่ดี สถานศึกษาก็ดี โครงสร้างพื้นฐานและสนามบินก็ดี ท่าเรือน้ำลึกก็มี ที่ตนเดินทางไปต่างประเทศก็ได้เซ็น MOU กับหลายบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ถ้าผู้ประกอบการไม่ช่วยกันก็ไปลำบาก

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ถึง 400 บาทตามนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่าต้องดูตามความเหมาะสม ในจังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง ต้องดูความเหมาะสม ขอย้ำว่าสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้นายจ้างสามารถส่งสินค้าออกไปได้และยังอำนวยความสะดวก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ให้ผู้ประกอบการ

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯจะสื่อสารไปยังผู้ใช้แรงงานอย่างไร เพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ขอให้ผู้ใช้แรงงานดูการกระทำ ว่าตนมีความจริงใจขนาดไหน อย่างไร เราให้ความสำคัญสูงสุด การที่ตนไปพูดที่หอการค้าไทย ขอให้ฟังดูว่าเขาดีใจหรือไม่ที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรม รัฐบาลพยายามสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และเข้ามาอยู่ในประเทศไทยง่ายและปลอดภัยขึ้น ทั้งหมดเพื่อสร้างความมั่นใจ

“วันนี้ผมไม่ได้มาหาเสียง เพราะการหาเสียงจบไปแล้ว แต่เราพูดถึงความเป็นจริงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องได้รับการดูแลควบคู่กันไปด้วย ขออ้อนวอนไปถึงนายจ้างให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.จะพิจารณาอย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องดูว่ามีความจำเป็นว่าจะเสนอเข้ามาหรือไม่ “ถ้าเสนอเข้ามา ผมไม่ยินยอม ไม่เห็นด้วยแน่นอน ผมเชื่อว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำเราดูที่ความเหมาะสม เราเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ หลายประเทศค่าแรงขั้นต่ำเขามากกว่านี้ วันนี้เราชนะสิงคโปร์ในแง่ดึงดูดนักลงทุน บริษัทใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center เป็นนิมิตรใหม่อันดีว่าประเทศเรามีศักยภาพสูง แต่ทำไมจึงไปกดผู้ใช้แรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศ”

เมื่อถามว่านายกฯ รู้สึกเหมือนมีความฉุนเฉียวที่พูดถึงเรื่องนี้ นายเศรษฐากล่าวว่าไม่เกี่ยวกับฉุน การที่เป็นนายกฯ ต้องดูแลประชาชน 60 ล้านคน ไม่ใช่ดูแลแค่มาเอาคะแนนเสียง กับผู้ใช้แรงงานอย่างเดียว แต่นายจ้างและผู้ประกอบการก็ไปรับฟังความเห็นตลอด และพร้อมจะช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว

ต่อมานายเศรษฐาทวีตข้อความบน X ว่า ค่าแรงต้องแฟร์กว่านี้ ต้องขอหารือร่วมกันกับคณะกรรมการไตรภาคีถึงความเหมาะสมให้กับภาคแรงงาน เราต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด ผมไม่ได้จะมาขึ้นค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้จากการเปิดตลาดที่มากขึ้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการหรือนายจ้างก็ได้ประโยชน์กันไปบ้างแล้ว ก็ขอความเห็นใจให้กับกำลังสำคัญอย่างแรงงานในภาคการผลิตด้วย เพราะสุดท้ายหากภาคการผลิตมีกำลังซื้อ เศรษฐกิจภาพรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วยครับ