อัพเดตรายชื่อ ใครลาออกจากประชาธิปัตย์บ้าง หลังเฉลิมชัยเป็นหัวหน้า 

เช็กรายชื่อ ใครลาออกจากประชาธิปัตย์บ้าง หลังเฉลิมชัยเป็นหัวหน้า
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 
อัพเดตล่าสุด วันที่ 14 ธันวาคม 2566

อัพเดตรายชื่อ ใครลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หลังมีการประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2566 ตามหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 หลังผลการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค มีอดีต สส. และสมาชิกพรรค ทยอยประกาศลาออก ต่อจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัครหัวหน้าพรรค และขอลาออกจากสมาชิกพรรค ณ ที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566

“ประชาชาติธุรกิจ” รวมรายชื่อและเหตุผลผู้ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ นับตั้งแต่การประกาศรายชื่อกรรมการบริหารชุดใหม่

เปิดรายชื่อ 8 สมาชิกพรรคที่ยื่นใบลาออกแล้ว

ล่าสุดได้มีสมาชิกทยอยประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ดังนี้

1.นายวิบูลย์ ศรีโสภณ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปปัตย์ เผย 3 เหตุผลในหนังสือขอลาออกว่า 1.อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปปัตย์ เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรคและ สส.ในสมาชิกพรรค 2.หัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูด ไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป 3.หัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้ สส.ในพรรคขาดความเคารพ กระด้างกระเดื่องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอด 77-78 ปี 

2.นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เหตุที่ลาออกจากพรรคผ่านเฟซบุ๊กว่า 

“ผม สาธิต ปิตุเตชะ ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 23 ปี วันนี้เป็นวันที่ผมตัดสินใจด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง ระหว่างทางเลือกจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมมีความผูกพันกับอุดมการณ์ทางการเมืองมานาน

หรือต้องลาออกจากพรรค และไปจากบ้านหลังนี้ ตลอดระยะเวลาในการทำงานการเมืองของผม มีเพื่อนต่างพรรคหลายพรรคที่เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการทำงานของผม ชักชวนให้ผมไปร่วมงานกับพรรคต่าง ๆ หลายพรรค และหลายครั้ง

แต่ผมปฏิเสธทุกท่านอย่างแน่วแน่ทุกครั้งไปด้วยเหตุผลที่ว่า ผมเลือกที่จะอยู่ในพรรค ปชป. เป็นเพราะพรรคเป็นสถาบันการเมือง ที่ซึ่งรวมกันของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกัน ในการที่จะพัฒนาชาติบ้านเมือง มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน รักษาสัจวาจา และสัญญาประชาคม

ช่วงเวลาสถานการณ์ของพรรคที่ผ่านมาระยะหลัง พรรคได้มีการเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย แต่อุดมการณ์เริ่มสั่นคลอนจนแปรเปลี่ยนไปมากเกินจนกระทบจุดยืนทางการเมืองของผม

สจฺจํ เว อมตา วาจา (คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย)

เป็นคำพูด หรือสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชน ต่อสาธารณะ ของนักการเมือง เปรียบเหมือนนโยบาย และสัจวาจาที่ต้องรักษา และเป็นพื้นฐานสำคัญของนักการเมืองที่ดี หากไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่เคารพสัจวาจาของตัวเองที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน อย่าว่าแต่เป็นผู้บริหารพรรค เป็นนักการเมืองก็ไม่ได้แล้ว

พรรคการเมืองเป็นที่รวมกันของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เมื่อหมดสิ้นไปแล้วจากอุดมการณ์ และจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน และไม่รักษาสัจวาจา และสัญญาประชาคม หรือสัญญาที่ให้ใว้กับประชาชน ผมก็ไม่เหลือความผูกพันใด ๆ ให้กับพฤติกรรมเช่นนี้อีกต่อไป

ผมจึงขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นับจากวันนี้เป็นต้นไป”

3.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า คิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์……ด้วยรักและผูกพัน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

4.นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์คลิปพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “สจฺจํ เว อมตา วาจา

ขอบพระคุณท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ ที่เป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดีมาโดยตลอด ยังคงรัก ศรัทธา และเป็นกำลังใจให้ท่านหัวหน้าตลอดไป 

25 ปีกับชีวิตนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนพรรค พูดได้เต็มปากว่า เลือดฟ้ามันข้น กรีดมายังไงก็ฟ้าแน่นอน

ตุ๋ยยังคงรักพรรคไม่เสื่อมคลาย แม้วันนี้ต้องตัดสินใจที่ฝืนความรู้สึก ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคที่รักที่สุด แต่จะไม่ไปไหน ยังคงอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองด้วยความหวังดีและห่วงใยตลอดไปค่ะ”

5.นางสาวอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีต สส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย .. ถือเป็นคติพจน์ที่ชาวประชาธิปัตย์ทุกคนยึดมั่นในการปฏิบัติตนทางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคในปี พ.ศ. 2489 ตั้งแต่หัวหน้าพรรคคนที่ 1 จนกระทั่งถึงคนที่ 8

ดิฉันเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535

จวบจนปัจจุบัน 2566 กว่า 31 ปี ด้วยความมั่นคง ไม่หวั่นไหว และเป็นนักการเมือง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดชีวิตการเป็นนักการเมือง ด้วยความภาคภูมิใจในหลักการ..ในอุดมการณ์ที่ซื่อตรง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักเสมอมา แลทุกครั้งก็จะบอกพี่น้องประชาชน มวลสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นของประชาชน..โดยประชาชน ..เพื่อประชาชน

จวบจน..9 ธ.ค. 2566 มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่จะเป็นผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์.. กลับเป็นผู้

“เสียสัตย์” ในสัจวาจาว่าจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

เมื่อผู้นำพรรคยุคนี้..ไม่อาจดำรงคติพจน์แห่งพรรค อุดมการณ์ของพรรค ไม่อาจรักษา สัจวาจาแห่งตนได้

ดิฉันจึงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นับแต่บัดนี้

เพราะละอายใจต่อมวลสมาชิกที่ซื่อตรงต่อพรรค เพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ของพรรค พร้อมขอขอบคุณ พรรคประชาธิปัตย์ มวลสมาชิกพรรค เพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองที่ร่วมกันมั่นคงต่อพรรคมาจนถึงวันนี้ จนกว่าเราจะพบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

6.นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 

“เราจะพูดแต่ความจริง ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงบางอย่าง หรือความจริงอาจจะไม่สบอารมณ์บุคคลบางคน หรือบุคคลบางกลุ่มในสังคมไทย”

ฯพณฯ ท่าน อานันท์ ปันยารชุน

อดีตนายกรัฐมนตรี  

กล่าวในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 4 เมษายน 2534

จากเหตุการณ์วันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา

มีหลายคนถามผมว่าลาออกจาก ปชป.หรือยัง

หรือบางท่านก็ถามว่า ยังอยู่ ปชป.อยู่หรือเปล่า ไม่เห็นช่วงเลือกตั้งหัวหน้าที่ผ่านมา

วันนี้ผมก็ต้องขอออกมาแจ้งให้ทุกท่านทราบนะครับ

เป็นไปตามที่วิเคราะห์ไว้ทุกประการ กับโฉมหน้าหัวหน้าพรรค-กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่

หลังผมรับทราบข้อมูล เห็นความเคลื่อนไหวเบื้องหน้าเบื้องหลังเปรียบดังละครฉากใหญ่ และเป้าหมายทางการเมืองของทุกฝ่ายทุกขั้วอย่างชัดเจน ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง

โดยสรุปว่ายังไม่เห็นแสงสว่างแห่งความเปลี่ยนแปลง หรือฟ้าหลังฝนในเร็ว ๆ นี้

ผมจึงกล้าที่จะลาออกจากสมาชิกพรรคจากบ้านสีฟ้า ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาตลอด 20 ปี ต่อ กกต. ล่วงหน้าก่อน 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2566 ด้วยอาการ #หัวเราะไม่ได้ ร้องไห้ไม่ออก

โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันเลือกหัวหน้าพรรค ในวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะมั่นใจว่าจะไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ เกิดขึ้น

หลังจากนี้ ทุกฝ่ายก็ต้องน้อมรับผลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของพวกเรา จนทำให้พรรคเดินมาไกลถึงขณะนี้ ขอให้ทุกคนโชคดี และพบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ

7.นายวิทเยนทร์ มุตตามระ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ให้เหตุผลการลาออกผ่านเฟซบุ๊กว่า 

“ผมกลับจากต่างประเทศเมื่อวานเย็น ตั้งใจว่าวันพรุ่งนี้จะส่งหนังสือลาออกไปที่นายทะเบียนพรรคประชาธิปัตย์

ผมสมัครเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์เมื่อปี ๒๕๔๙ แบบวอล์กอิน ไม่รู้จักใคร ไม่มีเส้นสาย ด้วยความเชื่อมั่นในอุดมการณ์และความเป็นสถาบันของพรรค ผมเดินเข้าพรรคด้วยความตั้งใจจะทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ได้รับโอกาสจากพรรคให้ทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี ๒๕๕๒-๒๕๕๔ ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแห่งชาติในปี ๒๕๕๒-๒๕๕๓ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์อาสาฯคนไทยช่วยน้ำท่วมในปี ๒๕๕๔ ทั้งหมดเป็นประสบการณ์การเมืองที่มีค่า ภูมิใจ และขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้โอกาส

วันนี้ผมยังยึดมั่นในอุดมการณ์และจะมีชีวิตอยู่อย่างคนมีศักดิ์ศรีและอุดมการณ์ไปตลอดชีวิต และเชื่อเสมอว่าพรรคการเมืองต้องมีอุดมการณ์และจุดยืน หากไร้ซึ่งอุดมการณ์ก็เสมือนร่างที่ไร้จิตวิญญาณ” 

8.นายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ ยื่นหลังสือลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 โดยมีเหตุผลว่า

“ข้าพเจ้านายสุริยพงศ์ ทับทิมแท้ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เลขที่ 6241000658 ได้เข้ามาร่วมงานกับพรรคตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2562 ในฐานะกรรมการทีมเศรษฐกิจ ภายใต้ทีมอเวนเจอร์เศรษฐกิจ ของพรรคประชาธิปัตย์

เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค ข้าพเจ้าจึงประสงค์ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”