นพ.พรหมินทร์ ชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาลเศรษฐา

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

นพ.พรหมินทร์ชี้ความเสี่ยงรัฐบาล คือ เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่โต ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ มั่นใจเงินดิจิทัล 1 หมื่นเป็นไปตามแผน

วันที่ 27 ธันวาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตยังอยู่ในจุดที่มั่นใจที่ว่าจะสำเร็จในปีหน้าหรือไม่ว่า ปีหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลตยังเป็นไปตามแผน เรื่องที่มีข้อสงสัยหรือถกเถียงกัน เราก็ทำให้ยุติชัดเจนไปแล้ว

ขณะนี้นำไปสู่ขั้นตอนนำไปปฏิบัติให้เป็นจริง ซึ่งเราได้ถามไปยังคณะกรรมกฤษฎีกา ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะได้คำตอบกลับมา แล้วเราก็จะปรับและเสนอกฎหมายที่จะต้องกู้เงินเข้าไปในสภา คงจะตามหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และเงินต่าง ๆ ก็คงเป็นตามแผน

เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่ว่ากฤษฎีกาตอบมาอย่างไรก็จะส่งเข้าไปสภา นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำถูกกฎหมาย และกฤษฎีกาคงมีข้อแนะบางประการ อย่างไรก็แล้วแต่ ก่อนจะออกโครงการนี้เราศึกษาข้อกฎหมายต่าง ๆ เมื่อทางไม่ได้ราบเรียบตลอด ยกตัวอย่าง เมื่อสมัยกองทุนหมู่บ้าน เราพูดถึงว่าเดี๋ยวจะหางบฯตรงนั้นตรงนี้ เราก็ไม่มีเงินเหมือนกัน แต่เราก็ใช้วิธีการกู้เงิน นี่คือในอดีต ฉะนั้น เรามีความมุ่งหมายชัดเจน มีปัญหาก็หาวิธีแก้และยึดมั่นในประโยชน์ประชาชน

เมื่อถามว่า ถ้ากฎหมายกู้เงินไม่ผ่านจะต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า เรารับผิดชอบตามสิ่งที่เราทำให้ประชาชน ส่วนความรับผิดชอบสำคัญคือ ความรับผิดชอบประชาชน และเราไม่ได้พยายามทำแหกกฎหมาย เราศึกษากฎหมายจนชัดเจนแล้วเราเดินตาม ไม่น่าจะเกิดปัญหาสะดุดอะไร

เมื่อถามว่า ความรับผิดชอบถึงขั้นไหน นายกฯ ยุบสภาหรือลาออก นพ.พรหมินทร์กล่าวว่าอย่าพึ่งสมมุติเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น เราจะทำไม่ให้มันเกิดขึ้นเลย

เมื่อถามว่าปีหน้ารัฐบาลยังมีความเสี่ยงเรื่องอะไร นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพของภาครัฐยืนยันว่ายังแน่นเหนียว ถ้ามุ่งประโยชน์ของประชาชนเสียงเราดัง แต่ปัจจัยสำคัญคือวันนี้เศรษฐกิจของจีนไม่โตอย่างที่เคยโตมาก่อน ขณะที่ยุโรปก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สหรัฐอเมริกาที่ดูเหมือนดี แต่ก็ยังทรง ๆ นี่คือความเสี่ยง เราต้องช่วยตัวเองเยอะ ฉะนั้น ต้องให้ความสำคัญกับมวลรวมการใช้จ่ายในประเทศ เราจึงมีเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ คือการปรับสร้างรายได้จากศักยภาพของเรา

เมื่อถามว่า 3 เดือนที่ผ่านมามีอะไรที่ยังไม่เข้าเป้า หรือยังไม่ทันใจบ้าง นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า สิ่งที่อยากทำมีเยอะกว่านี้มาก แต่ทำแล้วอาจติดขัดข้อกฎหมาย ติดหน่วยราชการ ความเข้าใจระหว่างคนและปัญหาที่เกิดขึ้นทับถม อย่างเรื่องน้ำท่วมที่เราไม่ได้คาดคิด เรื่องสงครามอิสราเอลที่เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าเราเข้ามาแก้ปัญหา เมื่อเกิดปัญหาก็แก้ไขอย่างเร่งด่วน

นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในรอบ 3 เดือนนี้ คือการกอบกู้เกียรติภูมิประเทศไทยในเวทีโลก ทำให้เราเปิดตลาด และสิ่งที่อ่อนด้อยในช่วงที่ผ่านมา เราสามารถฟื้นความเชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศ น่าจะทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตได้ นอกจากเรื่องการกอบกู้วิกฤตต่าง ๆ เราก็ทำได้เร็ว เพราะเราเป็นรัฐบาลของประชาชน มีความตั้งใจ ท่านอาจจะเห็นว่าเราเป็นพรรคร่วม แต่ที่แท้เราเป็นรัฐบาลของประชาชน