ถอดรหัสการเมือง 2567 ทักษิณ พ้นโทษ-สว.ขั้วใหม่-ประชามติ รธน.

การเมืองในปี 2567 ปีมังกรทองยังคงร้อนระอุ แม้ว่ารัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เข้าสู่อำนาจมาแล้วกว่า 4 เดือน

สถานการณ์การเมืองเวลานี้อาจดูเหมือนนิ่ง หลังจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมเสียง 314 เสียงตั้งรัฐบาลผสม แต่จริง ๆ แล้วยัง “ไหลลึก” มีคลื่นใต้น้ำหลายปัจจัยที่ทำให้การเมือง “ไม่ราบรื่น”

อภิปรายงบประมาณ’67

เปิดศักราช 2567 ได้เพียง 3 วัน ไม่มีเวลาให้ “นายกฯ เศรษฐา” ได้หายเหนื่อย เพราะต้องตบเท้าเข้าไปยังอาคารรัฐสภา เพื่อนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 ในวันที่ 3-5 มกราคม แบ่งเป็น วันที่ 3-4 มกราคม เป็นวันอภิปราย และวันที่ 5 มกราคม จะเป็นวันลงมติ

โดยต้องเสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณมาถึงสภา โดยคาดการณ์ว่าจะต้องให้จบทั้งหมดไม่เกินวันที่ 8 เมษายน 2567

ว่ากันตามเสียงในสภา รัฐบาลมี 314 เสียงกำไว้ในกระเป๋า ไม่มีปัญหาในการโหวต แต่สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลหวั่นเกรงคือ การอภิปรายของฝ่ายค้าน “พรรคก้าวไกล” เตรียมขุนพลซักฟอกในงบประมาณที่แหลมคม เช่น งบประมาณกองทัพ

ไม่อาจ “ประมาท” ฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลได้

ลุ้นคดีพิธา-ก้าวไกลในศาล รธน.

เดือนมกราคมจะเป็นเดือนที่พรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล อาจต้องลุ้นเหนื่อย เพราะศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 2 คำร้องสำคัญ ที่อาจทำให้เป็น “จุดเปลี่ยน”

คำร้องแรก เป็นกรณี “พิธา” ถือหุ้นไอทีวี โดยศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น.

หากผิดเรื่องดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ปี 2561 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2566 มาตรา 151 ที่ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า
ไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ไปลงสมัครรับเลือกตั้ง

ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนเลือกตั้ง 20 ปี และกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ให้ศาลสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่ง และผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้รับมาระหว่างดำรงตำแหน่ง

อีกคดีเป็นกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทําของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยศาลนัดลงมติในวันพุธที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. กับนัดฟังคําวินิจฉัย

ทั้งนี้ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้าน ยังทำใจดีสู้เสือว่า “ไม่กังวลว่ากรณีนี้จะไปถึงการยุบพรรคก้าวไกล เพราะคดีนี้เป็นการร้องให้ยุติการกระทำ ไม่สามารถไปไกลถึงเรื่องยุบพรรคได้”

ชุลมุนรัฐธรรมนูญ

ในช่วงเดือนมกราคม 2567 “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ หัวเรือใหญ่ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะชงวาระใหญ่ คือการทำ “ประชามติ” แก้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้อนุมัติ

เป็นการชงการทำประชามติ “ครั้งแรก” จากทั้งหมดที่คณะกรรมการศึกษาฯ มีข้อสรุปให้ทำถึง 3 ครั้ง

โดยการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นภายใน 90-120 วัน โดยคำถามประชามติครั้งแรกมีว่า

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

สมมติว่าการทำประชามติครั้งแรกผ่านไปได้ด้วยดี รัฐบาลก็จะชงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่สภา โดยเป็นการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดช่องให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจะต้องทำประชามติ “ครั้งที่สอง” เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) กำหนดว่า ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับหมวด 15 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีการทำประชามติ

ดังนั้น คำถามครั้งที่ 2 จึงเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 (8) ซึ่งจะมีการสอบถามที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และองค์ประกอบอื่น

สำหรับครั้งที่ 3 จะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้ว

การทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณ 3,200 ล้าน ทำปีละ 1 ครั้ง กว่าจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ก็ปลายรัฐบาลเศรษฐา (ถ้าอยู่ครบ 4 ปี)

ทักษิณ พ้นโทษ

ประเด็นของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งนายกฯ ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ จงรักภักดี และมีอาการป่วย ยอมรับการกระทำผิด และสำนึกในความผิด จะยังเป็นประเด็นร้อนในช่วงต้นปี

ซึ่งต้องจับตาว่า “ทักษิณ” จะได้รับการพิจารณาตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ขอให้ออกมาคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ แม้ว่าขณะนี้ “ทักษิณ” จะถูกคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ มาครบ 120 วันแล้วก็ตาม

“หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตมือขวาของ “ทักษิณ” ตั้งแต่ทำธุรกิจยุคชินคอร์ป จนกระทั่งเข้าสู่การเมืองเป็นเลขาธิการนายกฯ ทักษิณ จนถึงวันนี้ รับตำแหน่งเดิม แต่มีนายกฯ ชื่อ “เศรษฐา” มองคำครหาเรื่องนี้ว่าจะไม่ส่งผลต่อรัฐบาล

“เราเชื่อว่าเราทำทุกอย่างในกรอบกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้ประชาชน เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ถ้าอยู่ในกรอบกฎหมายก็ต้องเป็นเรื่องเฉพาะ”

“ถ้าเราอยู่ในกรอบกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิแบบเดียวกัน ผมว่ามันอยู่ในกรอบกฎหมายหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณากันตรงนั้น ในหลักสำคัญคือ หลักนิติธรรมที่เกิดขึ้นกับประเทศทั้งประเทศ และไม่ควรจะเกิด 2 มาตรฐาน ฉะนั้น อะไรที่ปฏิบัติได้กับทุกคนก็เป็นอย่างนั้น”

ตามกำหนดที่ “ทักษิณ” จะขอรับการพักโทษได้คือ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ดังนั้น หลังได้รับการพักโทษให้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านได้ “ทักษิณ” จะมีบทบาทกับรัฐบาลเพื่อไทยอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามท่าที

ลุ้นเงินกู้ 5 แสนล้าน

นโยบายดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องอาศัยการตรากฎหมาย “กู้เงิน” 5 แสนล้านบาท กำลังรอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่กระทรวงการคลังทำหนังสือถามความเห็นข้อกฎหมาย ว่าการกู้เงินทำได้-ไม่ได้

แม้ก่อนหน้านี้มีเสียงทักท้วงจากฝ่ายคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าทำได้ แต่อาจมีความสุ่มเสี่ยง ทว่าฟากฝั่งทีมกฎหมายประจำรัฐบาลวิเคราะห์ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการ “ประเมินสถานการณ์” หรือวินิจฉัยว่าประเทศวิกฤตหรือไม่วิกฤต มีเพียงหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่รัฐบาลเท่านั้น

จึงคาดการณ์กันว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบคำถามของฝ่ายรัฐบาล และมี “ข้อสังเกต” พ่วงท้ายเท่านั้น แต่ท้ายสุด รัฐบาลจะทำตามหรือไม่ก็ได้

เมื่อได้คำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จะต้องทำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน ขออนุมัติจากบอร์ดดิจิทัลวอลเลตชุดใหญ่ และนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งไปที่สภาผู้แทนราษฎร

ไม่ว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ รับประกันว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลจะคิกออฟทันตามกรอบเดือนพฤษภาคม 2567

แต่ในความเป็นจริงมีโอกาสที่กฎหมายกู้เงินอาจไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ยังไต่เส้นด้าย

จับตาปรับ ครม.

การที่รัฐบาลเพื่อไทยเป็นรัฐบาลผสม ทำให้การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นไปตามการต่อรองทางการเมือง เก้าอี้รัฐมนตรีหลายตำแหน่งจึงดูเหมือน “ผิดฝา-ผิดตัว”

อีกทั้งการแต่งตั้งรัฐมนตรีภายในพรรคเพื่อไทย ก็ยังมีหลายคนที่รอลุ้นเป็นรัฐมนตรีอยู่ในบัญชียาวเป็นหางว่าว ด้วยสไตล์การปรับ ครม.ของพรรคเครือข่ายทักษิณ ตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย มีแนวคล้าย ๆ กันคือ ปรับ ครม.ทุก ๆ 6-8 เดือน เพื่อเกลี่ยเก้าอี้ใหม่ ใครสอบตกถูกเขี่ยพ้นทาง หรือใครที่จะโดนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจจะถูกปรับทิ้ง เพื่อลดความกดดัน

ในจังหวะเดียวกับที่สมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน เริ่มต้นวันที่ 12 ธันวาคม นับต่อไปอีก 120 วัน จะปิดประชุมในช่วงกลางเดือนเมษายน ดังนั้น ฝ่ายค้านที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจะต้องชิงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงต้นเมษายน ถึงวันนั้นอาจเห็นการชิงปรับ ครม.เศรษฐา 1 ก็เป็นได้

สว.ขุมอำนาจชุดใหม่

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่นักเฝ้ามองการเมืองไม่ควรพลาดคือ การเลือก สว.ชุดใหม่ ที่มาแทน 250 สว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะครบวาระวันที่ 11 พฤษภาคม โดยจะมีการคัดเลือกมาจากกลุ่มวิชาชีพแบบเลือกไขว้ 20 กลุ่ม ตั้งแต่ระดับอำเภอ จนถึงระดับประเทศ

แต่ สว.ในฐานะ “สภาสูง” ย่อมหนีความเป็นพรรคการเมืองไม่พ้น ขณะนี้พรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคกำลังเตรียมการส่งคนเพื่อเตรียมการชิงเก้าอี้ สว.แล้ว

เพราะหน้าที่ สว.แม้จะไม่มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ เหมือน 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ทำหน้าที่คัดเลือกองค์กรอิสระ ชี้ขาดการเมือง ใคร-กลุ่มไหน-พรรคไหน ชิงเก้าอี้สภาสูงได้มากที่สุด ย่อมสะเทือนมาถึงสภาล่าง คือสภาผู้แทนราษฎร

การเมืองร้อน 2567 ยังระอุไปทุกอณู