เพื่อไทย จัดงบฯในรอบ 13 ปี พุ่งเป้าฟื้นเศรษฐกิจ ดันจีดีพี

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงินรวม 3.48 ล้านล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาจัดงบประมาณใหม่

รื้องบประมาณ 2567 ปรับเปลี่ยนจากเค้าโครงเดิมสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อพุ่งเป้าฟื้นเศรษฐกิจ ดันจีดีพีตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ดังต่อไปนี้

ทุ่มงบฯ ความมั่นคง 3.9 แสนล้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง ได้รับงบฯ 390,149.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณ แบ่งเป็น 9 แผนงาน

1.การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ใช้งบประมาณ 4,357.4 ล้านบาท เพื่อให้ปัญหายาเสพติด มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่เกิน 9.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน

2.การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 5,668.6 ล้านบาท เพื่อเป็นประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน มีเกียรติภูมิ มีอำนาจต่อรอง สร้างอำนาจแบบนุ่มนวลของไทย

3.การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 6,658.4 ล้านบาท มีเป้าหมายเหตุรุนแรงลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2560

4.การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณ 12,695.1 ล้านบาท เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมธำรงรักษาไว้เป็นสถาบันหลักของชาติ สร้างความผูกพันที่ดีระหว่างสถาบันหลักและประชาชน

5.การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง งบประมาณ 19,758.8 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในประเทศ

6.การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ และระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ 21,536.1 ล้านบาท เพื่อลดความสูญเสีย เตรียมพร้อมในการช่วยเหลือ การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติ ให้รับมือได้อย่างทันท่วงที

7.การรักษาความสงบภายในประเทศ 21,615.0 ล้านบาท ใช้เทคโนโลยีและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการจราจร และความรุนแรงในสังคม

8.การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 57,162.1 ล้านบาท

9.การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น 36,625.7 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 204,072.1 ล้านบาท

งบ เพื่อไทย

เสริมเขี้ยวเล็บเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ได้รับการจัดสรรงบฯ 393,517.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

1.การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน 1,916.4 ล้านบาทใช้พลังงานทางเลือก กำกับกลไกตลาดให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม เปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ

2.การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 2,455.5 ล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายสื่อสารหลัก และบรอดแบรนด์ความเร็วสูงทั่วประเทศ พัฒนา Big Data เฝ้าระวังและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่ได้มาตรฐานสากล สร้างความรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สื่อออนไลน์ และทักษะด้านเกมต่อยอดอาชีพในอนาคต

3.การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 3,806.6 ล้านบาท เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 4.8 ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตให้เกิดการขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระบบฐานข้อมูลสามมิติคู่เหมือนดิจิทัลเชิงพื้นที่รองรับเมตาเวิร์ส พัฒนากำลังคนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม

4.การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณ 7,384.1 ล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท

5.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณ 8,089.0 ล้านบาท เพื่อพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

6.การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ 8,744.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความรู้และทักษะ มีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่

7.การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ งบประมาณ 9,433.8 ล้านบาท เพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสื่อสารด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่ทันสมัย

8.การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม 19,270.4 ล้านบาท เร่งขยายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมให้มีสมรรถนะและทักษะสูงขึ้น

9.การสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ 36,997.7 ล้านบาท ยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ

10.การเกษตรสร้างมูลค่า 49,895.6 ล้านบาท ส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 2,472 แปลง และ 475,000 ไร่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมความเข้มแข็งเกษตรกรในรูปแบบต่าง ๆ ส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล

11.การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 181,529.4 ล้านบาท เพื่อให้เป็นประตูการค้า โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกมิติอย่างเป็นระบบ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

12.การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น 21,335.6 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ 42,659.0 ล้านบาท

แผนพัฒนาคน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ได้รับจัดสรรงบฯ จำนวน 561,954.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.1 ของวงเงินงบประมาณ มีแผนงานสำคัญ อาทิ

แผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ งบประมาณ 24,932.7 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และทั่วถึง

แผนการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต งบประมาณ 33,372.8 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีคุณภาพ ครอบครัวเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้

แผนการเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณ 64,670.1 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย ใจ และสติปัญญา เพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ และโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น

ลดความเหลื่อมล้ำ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้รับการจัดสรรงบฯ จำนวน 834,240.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึง เป็นธรรม อาทิ

มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม งบประมาณ 22,867.0 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมให้ประชากรกลุ่มต่าง ๆ อาทิ สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ไม่น้อยกว่า 2,556,723 คน สนับสนุนการพัฒนาและปรับปรุงบ้านมั่นคง 3,900 ครัวเรือน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

แผนการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณ 85,853.3 ล้านบาท สร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

แผนการสร้างหลักประกันทางสังคม งบประมาณ 339,007.2 ล้านบาท ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคให้มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น สนับสนุนและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการลดภาระค่าครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน

ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรงบฯ 131,292.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของวงเงินงบประมาณ อาทิ

แผนการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 868.0 ล้านบาท แก้ไขปัญหาขยะทุกประเภทอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร จัดการคุณภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

แผนการจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ งบประมาณ 1,788.2 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สร้างรัฐบาลดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จัดสรรงบฯ 604,804.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.4 ของวงเงินงบประมาณ อาทิ

แผนรัฐบาลดิจิทัล งบประมาณ 3,029.6 ล้านบาท เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า

แผนการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณ 17,774.2 ล้านบาท เพื่อทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

แผนการพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ งบประมาณ 28,420.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการบริการภาครัฐให้สามารถติดต่อราชการโดยสะดวก รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี ปรับปรุงระบบภาษีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

งบประมาณ 2567 ที่กำหนดโดยพรรคเพื่อไทย จะพิจารณาในสภาตามกรอบ 105 วัน ผ่านการเห็นชอบในชั้นสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในกลางเดือนเมษายน