“บัวแก้ว” ออกแถลงการณ์โต้ “รายงานสิทธิมนุษยชน2017” ของมะกัน

AP

สืบเนื่องจากวันที่ 21 เมษายน 2018 (ตามเวลาในประเทศไทย) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่เอกสาร “รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2017” (Country Reports on Human Rights Practices for 2017) โดยมีใจความระบุถึงสถานการณ์ในไทยว่า เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในปี 2014 ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยกองกำลังทหาร ภายใต้ชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (NCPO) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองกำลังทหาร ได้เข้าปกครองเป็นรัฐบาลนับตั้งแต่นั้น ทั้งนี้ ในปี 2017 รัฐบาลทหารได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด

นอกจากนี้ รายงานเล่มดังกล่าว ยังระบุถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในไทย ที่น่ากังวลใจอีกด้วย เช่น การใช้กองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐบาล คุกคามหรือใช้กำลังในทางมิชอบ ต่อผู้สงสัยในคดีอาญา, ผู้ถูกคุมขัง, นักโทษ มีการจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจโดยรัฐบาล ทั้งยังมีการใช้อำนาจในทางที่ผิดต่อชนกลุ่มมาเล-มุสลิม ในทางตอนใต้ของประเทศ ได้แก่ จังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และบางส่วนของสงขลา

รวมไปถึงปัญหาเรื้อรัง อาทิ การคอร์รัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และการค้ามนุษย์

กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย จึงได้ออกแถลงการณ์ ความเห็นต่อเอกสารรายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุใจความดังนี้

1. รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี ค.ศ. 2017 เป็นรายงานที่ Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาตามกฎหมาย Foreign Assistance Act 1961 โดยรายงานประจำปีนี้เป็นรายงานฉบับที่ 42 ครอบคลุม 195 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาคทั่วโลก ได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2017 โดยไม่มีการจัดลำดับและไม่ระบุข้อเสนอแนะ

2. ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย เอกสารรายงานฯ ได้กล่าวถึงทั้งความก้าวหน้าและปัญหาท้าทายเช่นเดียวกับรายงานฯ ของประเทศอื่น ๆ โดยปัญหาท้าทายบางเรื่องของไทยเป็นประเด็นที่เคยปรากฏอยู่ในรายงานฉบับก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกัน รายงานฯ ได้ระบุถึงความก้าวหน้าของไทยซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐบาล อาทิ การสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน การแก้ไขกฎหมายเพิ่มบทลงโทษผู้ใช้แรงงานเด็ก การจัดตั้งศูนย์ดูแลเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศในโรงพยาบาลรัฐ และการแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติ เป็นต้น

 3. เอกสารรายงานดังกล่าวเป็นมุมมองของสหรัฐอเมริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว และจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูล สถิติ ข้อห่วงกังวลและกรณีศึกษาที่ไม่เปิดเผยและไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ในพิธีเปิดตัวรายงานดังกล่าวซึ่งนาย John J. Sullivan รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แถลง ก็มิได้มีการกล่าวพาดพิงประเทศไทยในการนำเสนอรายงาน (แม้จะมีการพูดถึงประเทศต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาจำนวน 8 ประเทศ และประเทศตัวอย่างที่มีความคืบหน้า 3 ประเทศ) และในช่วงถาม – ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ก็มิได้มีผู้ใดสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยแต่อย่างใด

4. รัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นการดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสังคมไทย โดยรัฐบาลได้ประกาศให้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว การส่งเสริมความตระหนักรู้ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิบัติสากลภายใต้หลักนิติธรรม