เปิดประวัติ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ศาล รธน.สั่งพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ศึกดิ์สยามชิดชอบ ลาออกทันที หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี คดีนอมินีบุรีเจริญ

วันที่ 17 มกราคม 2567 สืบเนื่องจาก องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สิ้นสุดลง เฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)

เนื่องจากข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า หุ้นของห้างหุ้นส่วนบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ และนายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ พนักงานห้างหุ้นดังกล่างถืออยู่นั้น แท้จริงยังคงเป็นหุ้นของนายศักดิ์สยาม โดยศาลสั่งให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่

ประวัติ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ชื่อเล่น โอ๋ อายุ 60 ปี เกิดวันที่ 9 พฤศจิกายน 2505 เป็นลูกชายของนาย ชัย ชิดชอบ กับนางละออง ชิดชอบ โดยเป็นน้องชายของนายเนวิน ชิดชอบ และพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ (อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

การทำงาน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เคยรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อมาจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2544 และ 2548 ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ) ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคในคดีทางการเมืองเมื่อปี 2549

ในรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการแต่งตั้งให้ศักดิ์สยาม เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ชวรัตน์ ชาญวีรกูล) ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานยศ นายกองเอก

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 15 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย และในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

อนุทินเผย ศักดิ์สยามแจ้งลาออก มีผล 17 ม.ค.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่าได้รับหนังสือลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งพรรคจะได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ต่อไป

นอกจากนี้ได้รับแจ้งจากนายศักดิ์สยาม ว่าได้ทำหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ด้วย

“การลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าคำพิพากษาของศาลจะไม่มีผลต่อตำแหน่งเลขาธิการพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ท่านยินดีที่จะลาออกด้วย” นายอนุทินกล่าว

ศักดิ์สยาม ลาออก

ศักดิ์สยาม ลาออก

ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน รวย 110 ล้าน

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายราย โดยที่น่าสนใจคือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กรณีพ้นจากตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566

โดยนายศักดิ์สยามแจ้งสถานะโสด แจ้งว่ามีทรัพย์สินทั้งสิ้น 110,236,673 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยแบ่งเป็น เงินฝาก 69,488,973 บาท ที่ดิน 19 แปลง มูลค่า 34,248,450 บาท ยานพาหนะ ประกอบด้วย รถยนต์ TOYOTA Fortuner และรถยนต์ Volkswagen มูลค่ารวม 2,100,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่ามีสิทธิและสัมปทานมูลค่า 240,000 บาท โดยเป็นสัญญาเช่าบ้านที่ จ.บุรีรัมย์ 120,000 บาท และสัญญาเช่าห้องชุดที่กรุงเทพฯ 120,000 บาท ส่วนทรัพย์สินอื่น (มูลค่าตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 4,399,250 บาท

สำหรับทรัพย์สินอื่นที่นายศักดิ์สยามยื่นไว้ อาทิ พระเครื่องเลี่ยมทอง 1 องค์ มูลค่า 1,500,000 บาท งาช้าง 1 คู่ มูลค่า 1,400,000 บาท สร้อยคอทองคำหนัก 10 บาท 1 เส้น สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท 1 เส้น นาฬิกาโรเล็กซ์ 1 เรือน มูลค่า 200,000 บาท แหวนเพชร 1 วง มูลค่า 500,000 บาท และยังมีปืนลูกโม่ ขนาด .38 ยี่ห้อสมิธ 1 กระบอก ปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อล็อก 1 กระบอก และปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อซิกซาวเออร์ 1 กระบอก

นายศักดิ์สยามยังแจ้งอีกว่า มีรายได้ต่อปี 1,682,155 บาท โดยแบ่งเป็น ค่าตอบแทน สส.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 1,379,545 บาท ดอกเบี้ยจากธนาคาร 302,610 บาท โดยมีรายจ่ายต่อปี 840,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว 600,000 บาท และค่าเช่าบ้าน 240,000 บาท