สรุปผล เศรษฐา เยือน ศรีลังกา ตกลงเรื่องอะไร ไทยได้อะไรกลับมาบ้าง

ในปี 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง นำคณะโคจรออกนอกพรหมแดนไทยแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก ไปร่วมประชุม World Economic Forum ที่ ดาวอส สวิสเซอร์แลนด์

ครั้งล่าสุด เป็นแขกเกียรติยศในโอกาสวันเอกราชศรีลังกา ครั้งที่ 76 ตามคำเชิญของ นายรานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ระหว่างวันที่ 3 – 4 ก.พ. 67

โดยพบหารือแบบ Four Eyes กับนายรานิล วิกรมสิงเห (H.E. Mr. Ranil Wickremesinghe) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ณ ห้องทำงานของประธานาธิบดี (President’s Chamber) 

ความร่วมมือ 2 ชาติ

ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ไทยสนับสนุนและแสดงถึงความเชื่อมั่นในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของศรีลังกา บรรลุความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา (Thailand – Sri Lanka Free Trade Agreement)

ด้านการท่องเที่ยว การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างกรุงเทพฯ และโคลัมโบ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 และยินดีต่อการลงนามในความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ  ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเชื่อมโยง การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และการยกเว้นวีซ่า รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพุทธศาสนา ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไทยในฐานะประธานบิมสเทค (พ.ศ. 2566 – 2567) พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในปีนี้ ซึ่งไทยต้องการผลักดันบิมสเทคให้เป็นองค์กรระดับภูมิภาคอย่างเต็มรูปแบบ โดยการลงนามในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลในระดับภูมิภาค

สร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนสนับสนุนโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ จากเขตการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา ซึ่งจะช่วยผลักดันการบรรลุความตกลงการค้าเสรีบิมสเทค สร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

เศรษฐา ทวีสิน

ขณะที่ไทยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนศรีลังกาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งยินดีให้มีบันทึกความเข้าใจระหว่าง IORA และบิมสเทค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งรวมถึงในด้านการค้าการลงทุน ความมั่นคง การเชื่อมโยงทางทะเล และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน

ส่วนฝ่ายศรีลังกาได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ไทยพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการประมงสมัยใหม่ และการพัฒนาด้านพลังงานสะอาด

นอกจากนี้ ไทย – ศรีลังกา ยังลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ 3 ฉบับ

1.ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา

2.ร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่ระหว่างไทยและศรีลังกา ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแทนที่และยกเลิกความตกลงฯ ฉบับที่ลงนามเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2493 โดยจะลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกด้านการค้า การบริการทางอากาศระหว่างทั้งสองประเทศ สิทธิทางการบิน ความปลอดภัย ศุลกากร ฯลฯ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

 

3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ The Gem and Jewellery Research and Training Institute of Sri Lanka เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาอัญมณีและส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งไทยสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและแหล่งอัญมณี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมบุคลการที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย

ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงศักยภาพมหาศาลระหว่างกัน โดยไทยเชื่อว่าการลงนาม FTA จะกระตุ้นการค้าและการลงทุนให้มากขึ้น และการลงนาม MOU อีก 2 ฉบับ ทั้งด้านการบินและการพัฒนาอัญมณี จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว และการขนส่ง ในอนาคต

แลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงขนส่ง

ระหว่างการประชุม Sri Lanka – Thailand Business Forum ผู้นำไทยและศรีลังกาต่างสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นในอนาคต

ด้านการลงทุน ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยโครงการ Landbridge ซึ่งเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และลดระยะเวลาการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยไทยและศรีลังกาสามารถร่วมมือกันในการเสริมสร้างความเชื่อมโยง และโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านโครงการ Landbridge ของไทย และท่าเรือโคลัมโบของศรีลังกา

เสนอรูทท่องเที่ยว อินเดีย-ศรีลังกา-ไทย

ด้านการท่องเที่ยว ไทยยินดีที่การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างกรุงเทพฯ และโคลัมโบ ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 ซึ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ไทยยังเสนอความร่วมมือไตรภาคีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางเรือสามประเทศ ระหว่างอินเดีย ศรีลังกา และไทย รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพุทธศาสนาระหว่างกัน

อีกทั้ง ควรหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น

ด้านการพัฒนา ไทยสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของศรีลังกา โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและการประมง และยินดีที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำเร็จของการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในด้านการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน และโครงการในด้านสวัสดิภาพและถิ่นที่อยู่ของช้างระหว่างกัน

ตีเหล็กตอนร้อน

นายกฯ เศรษฐา เชื่อมั่นการเดินหน้าประเทศของศรีลังกา มั่นใจว่าการที่บริษัทชั้นนำของไทยกว่า 20 แห่งร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ และการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกาสะท้อนถึงความรู้สึกเชื่อมั่นในศักยภาพระหว่างกันเช่นกัน

ในด้านการค้าระหว่างไทยและศรีลังกาเติบโตร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 และส่งออกจากศรีลังกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 และในภาคการผลิต ที่การแปรรูปอาหารทะเลของศรีลังกามีความโดดเด่น ซึ่งศักยภาพความร่วมมือระหว่างบริษัทจากทั้งสองประเทศสามารถเดินหน้าอุตสาหกรรมนี้สู่ตลาดทั่วโลกได้

ในขณะที่ สินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ของไทยเองก็สามารถมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมการบริการที่กำลังเติบโตของศรีลังกา ที่รวมไปถึงการพัฒนาทักษะ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและการโรงแรมระหว่างกัน และในด้านการท่องเที่ยว

ทั้งสองประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นฐานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชน โดยเฉพาะที่การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567

ด้านการลงทุน มีบริษัทไทยจำนวนมากดำเนินธุรกิจในศรีลังกา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิต และพลังงาน ซึ่ง นายกฯ สนับสนุนให้บริษัทอื่นๆ ของไทย ใช้ประโยชน์จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเติบโตของศรีลังกา

และความได้เปรียบทางภาษีในตลาดต่างประเทศ และการเชื่อมโยงทางทะเล ศรีลังกาสามารถเป็นพันธมิตรสำคัญของไทย ที่มีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยโครงการ Landbridge ของไทยที่จะเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และลดเวลาการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

และด้วยสุภาษิตที่ว่า ‘จงตีเหล็กขณะยังร้อน’ นายกฯ พร้อมสนับสนุนธุรกิจจากทั้งสองฝ่ายให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จาก FTA ที่ลงนามในวันนี้ และอวยพรให้งานในวันนี้ประสบความสำเร็จ

ต่อยอดไทย – ศรีลังกา เพื่อประโยชน์คนไทย

หลังเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความ ว่า ได้เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ครั้งที่ 76

“ซึ่งผมได้รับเชิญจากท่าน Ranil Wickremesinghe ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ให้เข้าร่วมในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา ที่สืบเนื่องยาวนานอย่างแน่นแฟ้น และพร้อมจะต่อยอดในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวไทย-ศรีลังกาต่อไปครับ”