ครม. ห่วงภัยแล้ง ฝนน้อย ร้อนแรงเป็นพิเศษ ไฟเขียว 9 มาตรการรองรับ

ชัย วัชรงค์

ครม.อนุมัติ 9 มาตรการภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ปี’67 ห่วงภาวะเรียกว่า “เอลนีโญ” ฝนน้อย น้ำน้อย สภาพอากาศร้อนแรงเป็นพิเศษ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาพอากาศปี 2567 ว่า

ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในสภาพอากาศที่เรียกว่า “เอลนีโญ” ฝนน้อย น้ำน้อย สภาพอากาศร้อนแรงเป็นพิเศษ ปรากฏการณ์นี้จะสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2567 และตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เราจะผ่านจาก “เอลนีโญ” เข้าสู่ “ลานีญา” แปลว่าฝนจะเยอะขึ้น น้ำจะเยอะขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะเจอกับปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” แต่ปริมาณน้ำต้นทุน ณ ฤดูฝนช่วงเดือน พ.ย. 2566 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณมากเพียงพอที่จะสามารถบริหารจัดการ เพื่อน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรได้อย่างพอเพียง

ครม.ยังมีความเป็นห่วงการทำนาปรังรอบที่ 2 ของเกษตรกรชาวนาภาคกลาง ที่ทำนาบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแจ้งเตือนชาวนา ขอให้งดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 เพราะน้ำที่มีสำรองไว้เพื่อใช้ในฤดูแล้งในช่วงเอลนีโญ พอเพียงต่อการทำนาปรังหนึ่งรอบเท่านั้น ส่วนในภาคอื่น ๆ ปริมาณน้ำสำหรับการเพาะปลูกยังพอเพียง

ด้านนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า  ครม.มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 (9 มาตรการ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 และมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 จำนวน 3 ด้าน 9 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ด้านน้ำต้นทุน (Supply)

มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand)

มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

มาตราการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง)

มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)

ด้านการบริหารจัดการ (Management)

มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง)

มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

มาตรการที่ 9 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)

สำหรับ การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ หรือเสี่ยงภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

(1) การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ (2) การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ (3) การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค (4) การเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และ (5) การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร

การดำเนินการมาตรการและโครงการดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ให้ สทนช.ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน

โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อให้การขับเคลื่อนตามมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานโครงการและความพร้อมของโครงการให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ 5 ประเภทของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์และเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย