พรหมินทร์ เสนาธิการตึกไทยคู่ฟ้า เปิดแผนเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาลเพื่อไทย

คอลัมน์ : Politics policy people forum

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนาธิการตึกไทยคู่ฟ้า

เปิดหน้า-เปิดห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ฉายสไลด์ ฉายภาพแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอด 4 เดือนที่รัฐบาลกำลังลงมือทำ

ทั้งเรื่องต่างประเทศ-แลนด์บริดจ์-การท่องเที่ยว-การลงทุน ตอบโต้คำครหาว่ายังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

พร้อมรวบรวมเอกสารชี้ประเด็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าใกล้คำว่า “วิกฤต” หากไม่ลงมือทำอะไร

ส่งสัญญาณวิกฤตเงินฝืด

“นพ.พรหมินทร์” เปิดสไลด์โชว์ว่า ขณะนี้ สถานะเศรษฐกิจเหมือนกบต้ม กบเป็นสัตว์เลือดเย็น เมื่อถูกต้มถึงจุดหนึ่งก็สุกเลย กว่าจะรู้ตัวก็ตายเสียแล้ว

Advertisment

สิ่งที่เกิดขึ้นถ้าแบ่งเรื่องสถานะเศรษฐกิจออกเป็นช่วงใหญ่ ๆ ที่เริ่มทรุดลงมาเรื่อย ๆ 3 ช่วง คือ ก่อนโควิด ช่วงโควิด และหลังโควิด

ซึ่งเศรษฐกิจไทยโตช้าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยแล้ว 7.3% ในปี 1994-1996 (ตัดช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งออกไป) ปี 1999-2007 จีดีพีโตเฉลี่ย 5.2% และปี 2010-2019 จีดีพีโตเฉลี่ย 3.6% โดยตั้งแต่ปี 2014-2019 ก่อนโควิด-19 จีดีพีโตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.0%

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เราตกต่ำเกือบต่ำสุด โดยมีฟิลิปปินส์ ต่ำที่สุด แต่วันนี้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ทะยานขึ้นไปก่อนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว

ขณะที่ประเทศไทยขึ้นช้าสุดในอาเซียน ถ้าวันนี้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ประเมินตัวเลขจีดีพีทั้งปีโตแค่ 1.8% แปลว่ายังไม่ถึงช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งจีดีพีอยู่ที่ 2.2% ดังนั้น ตอนนี้ถือว่า “ยังจมน้ำ”

Advertisment

ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่สำคัญคือ สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี ที่จะทำให้ประเทศอยู่ได้ ซึ่งการลงทุนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเราแย่ลง

โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 2014-2019 สัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 23.6% ต่ำกว่าอินโดนิเซียที่อยู่ที่ 32.5% เวียดนาม 30% เกาหลีใต้ 29.9% มาเลเซีย 24.9% และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 24.7% ซึ่งตัวเลขนี้กำลังบอกว่าประเทศไทยถ้าการลงทุนน้อยกว่าจีดีพี ประเทศจะถอยลง

“ดังนั้น เรื่องดิจิทัลวอลเลต แจกเงิน 1 หมื่นบาท ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ขณะนี้การปล่อยกู้จากธนาคาร ยอดที่เคยขึ้นสูงแล้วตกต่ำลงเรื่อย ๆ ปล่อยกู้ไม่ได้ เพราะมีเรื่องที่สถาบันการเงินเข้มงวดเรื่องการปล่อยกู้ เพราะกังวลเรื่องหนี้สูญ รวมถึงเรื่องการระดมทุนด้วยการออก bond ต่ำลงเช่นกัน จากที่เคยปล่อยได้สูงแต่ขณะนี้ไม่กล้าปล่อยแล้ว”

“ภาษาวิชาการเรียกว่า liquidity crisis คือ เม็ดเงินไม่พอ จึงมีสัญญาณของ SMEs ที่กำลังมีปัญหามาก มีโอกาสสร้างรายได้ แต่ไม่มีเงิน เพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้”

“เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจของเราโตเฉพาะส่วนบน จึงต้องอัดฉีดเงินไปในระบบทั้งระบบ เพราะตอนนี้ขาดสภาพคล่องทั้งระบบ จึงต้องใช้คนเป็นเครื่องจักรในการใช้เงิน ถามว่าวันนี้ยอดการสั่งซื้อของในโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม แค่มียอดความต้องการเพิ่มเขาก็ผลิตของเพิ่มขึ้น และต้องทำให้มี momentum เมื่อ momentum ขึ้นไป เรื่องการลงทุนต่าง ๆ จะตามมา”

“ดังนั้น เรื่องแรกที่ต้องทำคือ จะต้องปั๊มหัวใจ ทำให้คนรอดก่อน” หมอมิ้งกล่าว 

นพ.พรหมินทร์

คาดการณ์ผิด ก็วางแผนผิด

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า เราดูว่ามันวิกฤต เพราะความจริงที่มีการคาดการณ์ไว้ คาดการณ์ผิดตลอด คาดการณ์มักจะดีกว่าความเป็นจริง แต่ข้อมูลการคาดการณ์ 8 ครั้งที่ผ่านมาในรอบ 2 ปี มีการตั้งเป้าและปรับเป้ามาตลอด ความเป็นจริงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ต่างประเทศพ้นเส้นหมดแล้ว ถ้าประมาณการคาดการณ์ผิด เราก็วางแผนผิด

เราเองในฐานะรัฐบาลดูแลใกล้ชิด เข้าใจ และมองในหลายมิติ รวมถึงเรื่องการลงทุน การส่งออก และราคาต่าง ๆ

ปัญหาสำคัญคือหน้าที่ของรัฐบาลต้องทำให้มีการเติบโต มาตรการไม่ใช่มีอันเดียว เรื่องการลงทุนเป็นอีกมิติหนึ่ง หลายคนชอบมองว่าเราจะทำแต่กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรากระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

เราคำนึงถึงแฟกเตอร์ต่าง ๆ แล้ว เราจึงมีมาตรการเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเห็นทุกมูฟ แม้จะมีคนบอกว่ารัฐบาลบอกว่าไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

ปั๊มรายได้ท่องเที่ยว

นพ.พรหมินทร์ Wrap up 4 เดือน รัฐบาลเคลื่อนแผนเศรษฐกิจอะไรแล้วบ้าง ว่า 1.ราคาพลังงานพยายามตรึงให้อยู่ ระยะยาวพยายามปรับโครงสร้าง 2.ควิกวิน มาจากการท่องเที่ยว เราได้ทำทุกวิถีทาง เปิดเรื่องฟรีวีซ่า ขณะนี้เริ่มได้ผลกลับคืนมา ผลที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ยอดของรายได้จากการท่องเที่ยวที่เราตั้งเป้านักท่องเที่ยว 25 ล้านคน ตอนนี้ 28 ล้านคน 3.ขยายสนามบิน สร้างให้ประเทศไทยเป็นแหล่งที่น่าท่องเที่ยว

เวียดนามขอให้ประเทศไทย ร่วมมือการท่องเที่ยว กัมพูชา ที่สนิทกันอยู่แล้ว รวมถึงลาว และใกล้ ๆ คือมาเลเซีย ดังนั้น 5 ประเทศรวมกันในภูมิภาคนี้ ไทยเป็นคนนำในเจรจา เราอาจเป็นนกลุ่มประเทศที่ไม่มีวีซ่าระหว่างกัน ไอเดียนี้ไปแลกเปลี่ยนกับทางสหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปก็ welcome

ทุกประเทศเขาอยากให้เราเป็นผู้นำในการท่องเที่ยว 1 ในประเด็นของการท่องเที่ยวคือการไปมาหาสู่กัน ซึ่งประธานาธิบดีเยอรมนี ที่มาเยือนประเทศไทย เขาพูดเลย เขา support เรื่อง FTA พอ ประเทศเราเป็นประชาธิปไตย และ welcome คนก็อยากคบค้าด้วย เพราะสมมติว่าเขาอยากเชื่อมการลงทุน เขาก็รู้สึกว่าเขามั่นใจ

บุกต่างประเทศ ดึงลงทุน

นพ.พรหมินทร์ ฉายภาพว่า นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ การประชุมต่างประเทศที่เกิดขึ้น เป็นมิติที่เราไปทำการเปิดตัวว่าเราเองในฐานะรัฐบาลใหม่ กลับมาฟื้นในระบบที่เชิญชวนให้มีการลงทุนและน่าลงทุน คนที่จะเข้ามาลงทุนได้ต้องมีความมั่นใจ

สิ่งเหล่านี้รูปธรรมที่เห็น มีการเยี่ยมเยียนจากต่างประเทศ ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาไทยครั้งแรกในรอบ 22 ปี ซึ่งถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเทศที่ให้ความเป็นประชาธิปไตยสูง และเป็นผู้นำของอียู

จากนั้น เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และหวัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน และกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งใช้ไทยเป็นสถานที่ในการเจรจาเรื่องสงครามการค้า เป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทย ค่อย ๆ เป็นประเทศที่น่าสนใจ

เรื่องการเยือนต่างประเทศ ย้อนไปการประชุม UNGA ที่สหรัฐ ไปประชุมที่จีน one belt one road เป็นการประชุมนานาชาติและถือเป็นการเยี่ยมเยียนอย่างเป็นทางการ ได้พบผู้นำของจีน 3 ระดับ คือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นายกฯ หลี่ เฉียง และประธานสภา Beyond ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น

หลังจากนั้นไปประชุม Gulf Cooperation Council (GCC) กลุ่มประเทศอ่าว 6 ประเทศ  นายกฯ ตามไปประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่นอีก นอกจากนั้นเราไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง มาเลเซีย ลาว

หวัง อี้ และเจค ซัลลิแวน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศจีน จัดหาโดย Xinhua)

จีนต้องการแลนด์บริดจ์

สิ่งที่เราได้ฟื้นคืนมาคือ แก้ปัญหาต่าง ๆ และคบค้ากันมากขึ้น เปิดช่องกันมากขึ้น นายกฯ ไปศรีลังกา และ นายกฯ กัมพูชา มาเมืองไทย รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย

“ที่สำคัญคือการเปิดตลาด นายกฯ ประกาศว่าเราเป็นเซลส์แมน แต่ไม่ใช่เซลส์แมนธรรมดา ต้องเชิญชวนและสร้างความมั่นใจ จุดเด่นของประเทศไทยมี 2 เรื่องคือ เรื่องทางภูมิศาสตร์ เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เปิดออกทะเล ทั้งสองข้าง เราเป็น Geopolitics เราเดินนโยบายการต่างประเทศ เป็นผู้ที่สร้างบทบาทสำคัญในการสร้างความสงบ สันติสุข และความมั่งคั่งร่วมกัน เราจะไม่พยายามเป็นศัตรูกับฝ่ายไหนเลย เราไม่เป็นศัตรูกับทั้งสองฝ่าย”

“นึกถึงแลนด์บริดจ์ ผู้นำ 3 คนที่มาล้วนเห็นเรื่องแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราบอกว่าการสร้างเส้นทางคมนาคมใหม่ เพราะปกติแล้วการสัญจรต้องผ่านช่องแคบมะละกา ขณะนี้มีการเติบโตที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เราขอแบ่งส่วนหนึ่งในสามมาใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้”

“ท่าน หวัง อี้ พูดชัดมาก แลนด์บริดจ์เป็นยุทธศาสตร์ที่จีนให้ความสำคัญมาก เพราะเขาจะได้ประโยชน์ในการขนสินค้าไปยังประเทศเขา และเส้นนี้ยังมีความสำคัญ เร่งรัดให้ประเทศไทยสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับรถไฟของเขาที่มาจากจีนถึงลาว เชื่อมต่อให้ไปถึงสิงคโปร์ เป็นการเชื่อมเครือข่ายของการขนส่ง ตัดถนนไปที่ไหน ที่นั่นก็เจริญ เพราะมีการขนถ่ายสินค้า มีการค้าขาย การท่องเที่ยวและการคบค้าสมาคมต่าง ๆ”

“นี่คือโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเร่งรัด คือ รถไฟความเร็วสูง ให้เร็ว เพราะเป็นความต้องการร่วมกันในภูมิภาค พอเสร็จเซตนี้ การลงทุนก็จะเข้ามาในประเทศไทย เพราะการลงทุนประเทศไทยสามารถขายได้ทั้ง 2 ข้าง มีเส้นทางที่เชื่อมต่อ คมนาคมและขนส่ง จากจีนลงมาแล้วไป 2 ข้างก็ได้ ทั้งมหาสมุทรอินเดีย ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก”

“รัฐบาลทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญอยู่แล้ว การไปโรดโชว์ก็เพื่อที่จะไปแจ้งให้ทราบว่ามีโอกาสแบบนี้มีความต้องการแบบนี้ มีใครสนมาลงทุนไหม ใครลงทุนแล้วอยากได้การใช้งานแบบไหนบ้าง เรามีตุ๊กตาใหญ่ ๆ ให้ดู นายกฯ ไป World Economic Forum เจอนักธุรกิจต่าง ๆ 10-20 ราย มีประเทศที่แสดงความสนใจมาลงทุนหลายประเทศ รวมถึงนักลงทุนจีน”

“บอกได้เลยได้รับความสนใจเกินคาด เขาเห็นศักยภาพและให้ความสนใจ มีนักลงทุนจากต่างประเทศ หลายกลุ่มให้ความสนใจ รวมถึงรัฐบาลจีนอยากให้เราไปนำเสนอแผนการนี้ให้ชัด”

บิ๊กเทค-ยักษ์อีวี ปักหมุด

นพ.พรหมินทร์ ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือการลงทุนที่เขาลงมาแล้วจริง ๆ หลายประเทศบางทีไปบอกว่าจะมีการลงทุน แต่นักลงทุนไม่ไปก็มี ประเทศไทยเราต้องประกาศว่าตัวเองกำลังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV เพราะเราเคยเป็น ดีทรอยด์แห่งเอเซียมาแล้ว

หมายความว่าเราเอาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถสันดาปมาแล้ว แต่ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนไปสู่โลก EV เราปรับตัวทัน เราเชิญชวนให้แปรเปลี่ยนจากสันดาปภายใน เป็นรถยนต์ EV แล้วประกาศเลยว่าเราจะส่งเสริม จึงทำให้นักลงทุน 4 ค่ายใหญ่จากจีน และ อีก 2 ค่ายใหญ่กำลังจ่อเข้ามา

“ส่วน Tesla มาขายในเมืองไทยแล้ว แต่สำคัญคืออยากให้เขามาลงทุนในประเทศไทย ที่นายกฯไปเยี่ยมเขา หรือ เขามาเยี่ยมไทยบ่อย ๆ เพราะเขามองไทยเป็นโอกาส การที่มองว่าประเทศไทยเป็น Geopolitics ที่ถูกต้อง จึงทำให้เขามั่นใจลงทุน และเราต้องปรับตัวเองคือ เรื่องพลังงานสะอาด เรื่องแพ็กเกจในการลงทุน”

“นอกจากนี้ value chain ที่สำคัญในการผลิตรถ EV คือ แบตเตอรี่ การผลิตก็จะเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึง semiconductor ซึ่งประเทศไทยเคยเป็นพื้นฐานการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์มาแล้ว จึงต้อง move up value chain”

“ที่ผมกำลังพูด ไม่ได้พูดลอย ๆ มีบริษัทที่เป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว และติดต่อเป็นระยะ และไม่ใช่เล็ก ๆ แล้ว เป็นเบอร์ใหญ่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จของโลก”

ผลิตรถยนต์

ส่วนญี่ปุ่น เขาถืออาเซียนเป็นฐานการผลิตรถ EV ต่อไป กลุ่มโตโยต้า ตัดสินใจด้วยแพ็กเกจของเรา รับปากกับเราชัดเจน ประกาศว่าจะลงทุนอีก 5 หมื่นล้านบาท ในรอบ 5 ข้างหน้า ตามด้วย ฮอนด้า 5 หมื่นล้าน อีซูซุ 3 หมื่นล้าน ตามด้วยมิตซูบิชิ 2 หมื่นล้าน รวม 1.5 แสนล้านบาท นี่คือรูปธรรมที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ เรื่อง data center ผูกพันกับ AI ด้วย มีอีกกลุ่มใหญ่ นายกฯ คุยกับกลุ่ม AWS ซึ่งถือเป็นรายใหญ่มาก Microsoft ก็สนใจลงทุนอยู่แล้ว และจะขยายการลงทุนที่เป็น data center และทุก ๆ การลงทุนจะพูดถึงหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ

Google ประกาศในเว็บไซต์ตัวเองแล้วว่าจะมาลงทุน data center ทีมข้างหลังติดต่อกันตลอดเวลา Apple  ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัล

อีกด้านหนึ่งที่ไม่ลืมคือ หัวเหว่ย ที่ลงทุนอยู่แล้วในประเทศไทยก็จะขยายการลงทุน ไทยไปลงนามสัญญาให้มาลงทุน data center เพิ่มขึ้น และผลิตคนที่เกี่ยวข้องกับ AI ปีละ 1 หมื่นคน ติดต่อกัน 5 ปี

“เราบาลานซ์ทั้ง 2 ค่าย ทุกค่ายเห็นประเทศเราเป็นโอกาสในการสร้างฐานการลงทุน คือการแก้ปัญหาคนที่พูดว่า เวลาการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราจะไม่กระตุ้นเฉพาะที่เห็น เราเปิดประตูการท่องเที่ยว เราเปิดประตูการสร้างงานในอนาคต”

ผุดกฎหมายอำนวยความสะดวก

ด้าน Rule of law ได้มีการเร่งรัดอำนวยความสะดวก ซึ่งได้เร่งรัดให้กติกาต่าง ๆ ล่าสุดมีร่างกฎหมายฉบับหนึ่งจะเสร็จเร็ว ๆ นี้ เป็นกฎหมายที่ทำให้การทำธุรกิจสะดวกขึ้น นอกจากนี้ เราต้องเจรจา FTA ต่อ เพราะหมายถึงว่าผลิตในประเทศไทยจะส่งออกได้ในหลายประเทศขึ้น จุดนี้เราต้องเสริมต่อให้แข็งแรง

ด้านการเกษตร ด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่ไปเจรจา ดึงราคาพืชผลทางการเกษตร เราดูแลครบวงจร ขณะเดียวกันเราหาช่องทางใหม่ ๆ เรื่องวัว ล่าสุดมีการเจรจากับเวียดนาม สามารถส่งออกได้เพิมมากขึ้น เราเป็นคนเจรจาเพื่อให้การค้าขายดีขึ้น นำรายได้มาสู่เกษตรกรที่ดีขึ้น ดีกว่าที่ผ่านมาที่จ่ายชดเชยให้อย่างเดียว เกือบตายแล้วมาหยอดน้ำข้าวต้ม จากนั้น แก้ปัญหาระยะยาว เรื่องปัจจัยที่ดิน นำให้พื้นที่ ส.ป.ก.เปลี่ยนเป็นโฉนดได้อย่างมีเงื่อนไข เพื่อนำไปกู้เงินกับ ธ.ก.ส.ได้ ซึ่งกำลังร่างกฎหมายอยู่ในสภา

การค้าชายแดน

ไม่เพียงแต่เรื่องเหล่านี้ การติดต่อค้าขายชายแดน เรากำลังเจรจาอยู่ ทุกครั้งที่รัฐบาลไปชายแดน มีความคืบหน้าทั้งสิ้น เช่น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ก็จะมีมติบางเรื่องก่อนไปประชุมกับกัมพูชา โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ทับซ้อน เป็นความปรารถนาร่วมของทั้งสองประเทศ ก็คงมีการหารือกันต่อไป รัฐบาลนี้น่าจะมีความสัมพันธ์ดีที่สุดกับประเทศกัมพูชา

“ทั้งหมดนี้ กำลังพูดถึงว่า ถ้าเราสร้างบรรยากาศการลงทุน และเป็นหลักประกันให้เห็นถึงศักยภาพของเรา”  นพ.พรหมินทร์ กล่าว