“วิษณุ” วอนเห็นใจศาล แย้มประชาพิจารณ์ทางออก “บ้านตุลาการ” แนะทุกเพจช่วยกันเปิดรับฟังความเห็น

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคณะทำงานในการแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการว่า เบื้องต้นนายกฯมอบหมายเรื่องนี้ให้นายสุวพันธุ์ เพราะสมัยที่นายสุวพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็มีเรื่องร้องเรียนเหล่านี้เข้ามาด้วยเช่นกัน โดยนายสุวพันธ์ุจะไปพูดคุยหารือเพื่อหาทางออก ซึ่งเป็นการเข้าไปช่วยดูอีกแรงหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องดังกล่าวเจ้าของพื้นที่อย่างกองทัพภาคที่ 3, กอ.รมน. ได้ดูแลอยู่ โดยนายสุวพันธุ์จะลงไปในฐานะส่วนกลาง จะทำให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจมีความถูกต้อง โดยนายสุวพันธุ์ต้องประสานกับผู้ชุมนุม ฝ่ายที่ดูแลสิ่งแวดล้อม แล้วเสนอนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตนยังไม่ได้คุยกับนายสุวพันธุ์ ในเรื่องนี้ หากนายสุวพันธุ์ เห็นว่าจะต้องหาทางออกโดยใช้กฎหมาย ก็คงต้องมาคุยกันอีกที

“วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร คงต้องรอให้นายสุวพันธุ์ ไปพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะมีความชัดเจน แต่ส่วนตัวไม่ห่วงในเรื่องดังกล่าว แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่เชื่อว่าการชุมนุมของชาวเชียงใหม่ที่ไม่เห็นด้วยนั้น ยืนอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจ จึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง และขณะนี้ก็ไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ต่อไปไม่แน่ เพราะผมได้ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าตอนนี้ยังไม่มีการถูกชักนำไปในทางที่ไม่สงบเรียบร้อย และที่เขาชุมนุมก็ชุมนุมกันอย่างเรียบร้อย”

นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวในที่สุดแล้วต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปแก้ไข ซึ่งเมื่อรัฐบาลเข้าไปแก้ไขก็จะต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจของทั้งสามฝ่าย คือ ตุลาการ ประชาชน ฝ่ายที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนข้อตกลงเดิมในการจัดหาที่พักให้แก่อัยการ ซึ่งมีการอนุมัติงบประมาณมาตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา ก็ต้องเห็นใจศาลเช่นกัน ดังนั้น การจะพูดจาที่กระทบกระเทือนศาลคงไม่ได้ ศาลจึงต้องออกไปทางอุเบกขา หมายถึง สุดแท้แต่รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วจะจบตรงที่การใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ทราบ และยังไม่น่าจะถึงขั้นนั้น เพราะคำสั่งตามมาตรา 44 นั้นมีไว้ในทางสร้างสรรค์ เราคงไม่ใช้มาตรา 44 เพื่อทุบตึก รื้อบ้านช่อง หรือทำลายทรัพย์สินของทางราชการ จึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ และตนในฐานที่รับผิดชอบ 17 จังหวัดภาคเหนือ ก็ได้ส่งที่ปรึกษาลงไปดูเพื่อจะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจึงทำให้ได้รู้คำตอบว่า ยังไม่มีสัญญาณที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่า จะถึงขั้นต้องทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การทำประชามติอาจเป็นเรื่องใหญ่ ใช้งบประมาณมาก แต่ประชาพิจารณ์อาจจะทำได้เพราะไม่เป็นการสิ้นเปลืองมาก เช่นเดียวกับที่เพจเฟสบุ๊กไทยคู่ฟ้า เปิดรับฟังความคิดเห็นจากแฟนเพจก็เป็นทางหนึ่งที่จะนำไปประกอบการพิจารณา นอกจากนี้เพจอื่นๆ ก็ยังสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้ เพราะช่วยกันทำมากๆ ก็ถือเป็นเรื่องดี

 

ที่มา : มติชนออนไลน์