คำตัดสินศาลฎีกา ยกฟ้อง “สมชาย-จิ๋ว-2 บิ๊กตร.” “ไม่มีเจตนาให้สูญเสีย”

หมายเหตุ – นายธนสิทธิ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน อ่านคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ อม.2/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อายุ 85 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อายุ 68 ปี อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อายุ 66 ปี อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 รัฐบาลนายสมชายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มพันธมิตรที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ภายหลังมีการสลายการชุมนุมโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามหลักสากล กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 คน โดยจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม ดังนี้

คําฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 ขณะจำเลยทั้ง 4 ดำรงตำแหน่งมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ได้เข้าประชุมสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา โดยนายสมชาย จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ และเรียก พล.ต.อ.พัชรวาท ผบ.ตร.ขณะนั้น จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ ผบช.น.ขณะนั้น จำเลยที่ 4 พร้อมคณะเข้ารับฟังนโยบายของรัฐบาลต่อสถานการณ์ชุมนุม โดยนายสมชาย จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 ต้องดำเนินการให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมให้ได้ ต่อมาได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมโดยยิงและขว้างแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยจำเลยทั้ง 4 เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมของประชาชนที่เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับใช้อำนาจสั่งสลายการชุมนุมโดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสม และไม่ได้ดำเนินการตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมกระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บสาหัส 471 คน เหตุเกิดที่หน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน ถนนพิชัย และถนนสุโขทัย บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณใกล้เคียงท้องที่เขตดุสิต กทม.

โดยโจทก์ขอให้ศาลฎีกาฯพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 มาตรา 70 และ 92 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 295 และ 302

องค์คณะพิเคราะห์พยานหลักฐานของ ป.ป.ช.โจทก์ ที่มีนายสำราญ รอดเพชร แกนนำผู้ชุมนุมวันเกิดเหตุ รวมทั้งผู้ชุมนุม ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีนายสุชาติ ลายน้ำเงิน หนึ่งใน ส.ส.ที่ติดอยู่ในอาคารรัฐสภา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญการเก็บกู้วัตถุระเบิด ประกอบรายงานการทดสอบยิงแก๊สน้ำตาแล้วเห็นว่า กรณีเหตุการณ์ช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จำเลยที่ 1 โดยมติ ครม.ให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดตามและควบคุมเหตุการณ์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว จำเลยที่ 4 ปฏิบัติตามมติ ครม.ในการผลักดันผู้ชุมนุม เพื่อให้ ครม. ส.ส. และ ส.ว. เข้ารับฟังการแถลงนโยบายโดยจำเลยที่ 1 ต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯปี 50 มาตรา 176 ศาลเห็นว่าเป็นคำสั่งให้ปฏิบัติการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมประตูเข้าออกทุกด้านของอาคารรัฐสภา ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่และไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบสันติตามที่แกนนำได้ประกาศไว้ เนื่องจากตามทางนำสืบของเจ้าหน้าที่พบว่า ภายหลังเกิดเหตุในพื้นที่พบระเบิดปิงปองและตามรายงานตามทางข่าวพบว่าผู้ชุมนุมพกอาวุธ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ผลักดัน ผู้ชุมนุมได้ใช้หนังสติ๊กยิงลูกเหล็ก หัวนอต ลูกแก้ว รวมทั้งขว้างปาไม้ ขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ และการปิดล้อมอาคารรัฐสภานำรั้วลวดหนามที่คล้ายกับที่ใช้ในทางการทหารและแผงกั้นเหล็กมาวางไว้ที่กลางถนน อีกทั้งยังนำยางรถยนต์ขวางทางดังกล่าว และราดน้ำมันไว้บนพื้นผิวจราจรด้วย รวมทั้งยังพบอาวุธที่มีดินระเบิดจากสถานที่ผู้ชุมนุมได้เข้าไปในภายหลังด้วย

การชุมนุมนั้นจึงไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รักษาความสงบเรียบร้อยตามที่ได้รับมอบหมายและได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้วเท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น ส่วนเหตุที่ไม่สามารถใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเพื่อผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม รวมทั้งการใช้รถส่องสว่างในช่วงค่ำ เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร โดยมีการติดต่อประสานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ พยานหลักฐานของ ป.ป.ช. โจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สำหรับเหตุการณ์ช่วงบ่ายและช่วงค่ำที่ ป.ป.ช. โจทก์ได้ขอให้ลงโทษนายสมชาย จำเลยที่ 1 พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในส่วน พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งหลังเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า

การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมอาคารรัฐสภา หลังจากช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามผลักดันผู้ชุมนุมไปยังถนนอู่ทองใน โดยเจ้าหน้าที่ใช้รถโมบาย หรือรถเย็นทั่วหล้า ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่น แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม เรียกพรรคพวกมาเพิ่มจนปิดล้อมรัฐสภา ทำให้ ครม. ส.ส. และ ส.ว. ติดอยู่ในอาคารจนจำเลยที่ 1 ต้องปีนกำแพงหนี ซึ่งการปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภาก็ไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามขั้นตอนแผนกรกฎ/48 และจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยการเปิดทางให้ผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภาได้ออกมา

แม้พยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้แก๊สน้ำตายังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งพยานโจทก์ระบุว่า แก๊สน้ำตาที่ผลิตจากจีนมีส่วนประกอบของ RDX ที่จะเป็นอันตรายได้ และการทดสอบก็พบแรงของการยิงแก๊สน้ำตาทำให้เกิดหลุมกว้าง แต่พยานจำเลยระบุว่าแก๊สน้ำตาไม่เป็นอันตราย ซึ่งสาร RDX ที่ผสมในแก๊สน้ำตามีจำนวนน้อย เพื่อให้แก๊สน้ำตาเกิดการฟุ้งกระจาย โดยจะไม่เป็นอันตราย หากไม่ได้ผสมรวมกับสารเคมีอื่นอีก 3 ชนิดที่จะมีฤทธิ์คล้ายระเบิดซีโฟร์ ส่วนที่การทดสอบเกิดหลุมกว้าง เนื่องจากก่อนการทดสอบฝนตกทำให้ดินนิ่ม

แม้เหตุการณ์จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ศาลเห็นว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะรู้ว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ และขณะเกิดเหตุนายสมชาย จำเลยที่ 1, พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ก็ไม่อาจอนุมานได้ว่าแก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้ ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต ดังนั้น นายสมชาย จำเลยที่ 1 และ พล.ต.อ.พัชรวาท จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

องค์คณะฯ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1-4

 

ที่มา : มติชนออนไลน์