“มีชัย” เสียงแข็ง ไพรมารีงดไม่ได้ รับปฏิรูปไร้กำหนด จี้กก.11ด้านลงมือทำ

“มีชัย” เสียงแข็ง ไพรมารีงดไม่ได้ ส่อกระทบโรดแมปเลือกตั้งด้วย เพราะต้องใช้เวลา รับปฏิรูปไร้กำหนด จี้กก.11ด้านลงมือทำ

เมื่อ‪เวลา 13.40 น.‬ วันที่ 15 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอให้งดเว้นไพรมารีโหวตตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งแรก ว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมของพรรค ประชาชนต้องมีส่วนร่วม กรธ.ก็ร่างกฎหมายลูกให้มีส่วนร่วมระดับหนึ่ง พอถึงสนช.ก็เพิ่มอีกระดับหนึ่ง มีไพรมารีโหวตด้วย ซึ่งคงต้องรอดูที่นายกฯจะให้พรรคการเมืองร่วมหารือด้วยในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ตามกำหนดการเดิมที่คาดว่า กฎหมายลูกจะประกาศในราชกิจานุเบกษาเดือนมิถุนายน แต่ตอนนี้ คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การหารือจะช้ากว่านี้หรือไม่ ต้องถามนายกฯ

“เมื่อเขียนไพรมารีโหวตแบบนี้ก็ต้องใช้ ซึ่งไม่ได้เข้มข้นต้องลงคะแนนเอิกเริกแบบอเมริกา เพียงแค่เรียกสมาชิกมา 100 คน ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่สามารถทำได้ทีเดียวพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร เพราะพรรคต้องมีคนมาดูด้วย ต้องใช้เวลา การกำหนดวันเลือกตั้งก็ต้องดูเรื่องนี้ด้วย ณ ขณะนี้งดเว้นไม่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ 3 แบบคือ 1. ไม่ขัด ก็ไม่มีอะไร 2.ขัดบางอัน แต่ใช้ได้ และ3.ขัด แล้วใช่ไม่ได้ ก็ต้องร่างใหม่ ถ้าเป็นร่างพ.ร.ป. 2 ฉบับเป็นหน้าที่กรธ.ก่อนส่งให้สนช. หากเป็นคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ก็เป็นหน้าที่คสช.แก้ไข ถ้าไม่ขัดพรรคการเมืองก็เดินหน้าหาสมาชิกไป ถ้าขัดก็ได้สมาชิกเก่าคืน แล้วก็จะเป็นภาระเรื่องไพรมารีโหวต พรรคไหนมีเป็นล้านก็เหนื่อหน่อย ส่วนตัวจึงไม่กังวลใจคำวินิจฉัย ว่าอย่างไรก็อย่างนั้น” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ระบุการปฏิรูปไร้จุดจบ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดในบทหลัก ว่า มีเวลา แต่มีขั้นต้น การปฏิรูปจริงไม่มีวันเสร็จ เมื่อทำส่วนหนึ่งแล้ว ก็จะกระทบอีกส่วนหนึ่งต้องปฏิรูปต่อ หรือปฏิรูปไปแล้วไม่ออกผลก็ต้องทำใหม่ ซึ่งตามแผนปฏิรูปกำหนดเวลาไว้ 5 ปี ตามที่สปช.และสปท.ทำไว้ ส่วนในรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบไว้กว้างๆ แต่ครอบคลุมทุกส่วน เช่น ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ก็กระทบทุกระทรวง มันจึงยากที่จะทำจากหนึ่งถึงร้อย จึงต้องทำหลักๆก่อน ส่วนที่ระบุว่า การปฏิรูปโดยให้ผู้ถกปฏิรูปทำจะมีปัญหานั้น จริง ดังนั้นกฎหมายและแผนการปฏิรูปจึงเจาะจงมากกว่าปกติ ต้องกำหนดให้ชัดหนึ่งสองสามสี่ภายในกี่ปี

นายมีชัย กล่าวว่า อย่างการปกิรูปกฎหมายชุดนายบวรศักดิ์ ที่เห็นว่าควรใช้โทษทางปกครองแทนโทษทางอาญา ก็ลงไปสำรวจข้อมูลเอง เพื่อนำมาแก้กฎหมายแล้วเสนอรัฐบาล เพราะหากไปถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเขาก็จะบอกไม่มีปัญหา คณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน จึงต้องลงมือทำ เหมือนอย่างปฏิรูปตำรวจที่ตนรับผิดชอบ ก็จะทำให้ในส่วนสำคัญ ล่าสุดลงพื้นที่โรงพัก ก็เพิ่งรู้ว่ามีแบ่งเกรดเอบีซีเหมือนกระทรวง เมื่อเอาแผนไปคุยก็พบว่า โรงพักเกรดเอ ไม่เห็นด้วย จึงว่าจะลองคุยกับเกรดดีดูบ้าง

ที่มา:มติชนออนไลน์