ประธาน กกต.พร้อมจัดเลือกตั้ง ส.ส. เชื่อไม่ใช้เวลาจัดเลือกตั้งเต็มกรอบ 150 วัน

ประธาน กกต.พร้อมจัดเลือกตั้ง ส.ส.หลังศาล รธน.วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ไม่ขัด รธน. เผยยกร่างระเบียบเกี่ยวข้องคืบหน้าแล้วร้อยละ 90 เชื่อไม่ใช้เวลาจัดเลือกตั้งเต็มกรอบ 150 วัน

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า ขั้นตอนต่อไปประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องนำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ส่วนบทบาทของกกต. ก็จะดำเนินการยกร่างระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ โดยร่างระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างระเบียบกกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทางสำนักงานได้ดำเนินการยกร่างคืบหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าภายใน 1 เดือนนับจากนี้จะแล้วเสร็จ รวมถึงร่างระเบียบที่จะควบคุมกรรมการประจำหน่วยที่จะทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุ คนพิการ และทุพลภาพในการลงคะแนนไม่ให้นำความลับของผู้ใช้สิทธิมาเปิดเผย และการยกร่างคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่มีประมาณ 12 ฉบับ อาทิ คู่มือการปฏิบัติการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. คู่มือการปฏิบัติงานระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งจะใช้ในการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งการออกคู่มือดังกล่าวก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย

นายศุภชัยกล่าวต่อว่า ขณะที่ร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทางสำนักงานก็ได้ยกร่างระเบียบคู่ขนานไปกับการยกร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตามระเบียบที่กกต.ได้ออกและมีผลบังคับใช้แล้ว คือระเบียบว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการเปิดรับสมัครบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดในกลางเดือนมิถุนายน ดังนั้นอยากเชิญชวนผู้ที่มีคุณสมบัติและสนใจที่อยากเข้ามาช่วยตรวจสอบการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมสามารถยื่นใบสมัครได้

ประธาน กกต. กล่าวถึงโรดแมปการเลือกตั้ง ว่าต้องดูว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศและมีผลใช้บังคับเมื่อใด ซึ่งเวลานั้นกกต.ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยกกต.อาจจะใช้เวลาไม่เต็มกรอบเวลาดังกล่าวก็ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะจัดการเลือกตั้งเมื่อใดกกต.ก็มีความพร้อม เราได้มีการเตรียมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ รวมทั้งบุคลากรรองรับไว้แล้วเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นเห็นว่ามีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง ส.ส.โดยขึ้นอยู่กับกฎหมายว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด รวมทั้ง คสช.จะปลดล็อกให้เมื่อใด แต่โดยอำนาจการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะเป็นผู้ดำเนินการ กกต.เป็นเพียงผู้กำกับดูแล

 

ที่มา : มติชนออนไลน์