“ประธาน ป.ป.ช.” เร่งสางคดีตามกรอบเวลา 2 ปี หลัง กม.ใหม่มีผลบังคับใช้

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ภายหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้แล้ว คดีค้างเก่าใกล้หมดอายุความ ป.ป.ช.ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะตามกฎหมายใหม่กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขยายเวลาได้อีก 1 ปี ถ้าไม่แล้วเสร็จต้องมีเหตุผล หากไม่ทำถือว่าเจ้าหน้าที่บกพร่อง โดยในปีงบประมาณต่อไป จะมีการระบุชัดเจนว่าคดีไหนเป็นคดีที่สำคัญ โดยได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ 3 กลุ่ม คือ 1.รับเรื่องใหม่ที่ต้องทำด้วยความรวดเร็ว 2.เรื่องที่รับไว้นานและใกล้ขาดอายุความ และ 3.เรื่องที่รับไว้นานแล้ว และทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำแล้วจะเป็นการป้องปรามการทุจริตได้ ทั้งนี้คดีที่ใกล้หมดอายุความส่วนใหญ่ไม่ได้หมดอายุความตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะการทำผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งกฎหมายบางบทโทษน้อย อายุความจะสั้น แต่การกระทำกรรมนั้นอาจมีโทษแรงจำคุก 10 -20 ปี ดังนั้นจึงถือว่ายังไม่หมดอายุความ

พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.มีอำนาจในการส่งข้อเสนอแนะเตือนฝ่ายบริหารเรื่องนโยบายนั้น ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ง่ายนัก เพราะก่อนที่ ป.ป.ช. จะส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล จะต้องศึกษาข้อมูล ต้องมีรายละเอียดเพียงพอ ต้องมีข้อมูลพอสมวร มีข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน และจะต้องมีมติ 2 ใน 3 เพื่อที่จะส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล ไม่ใช่ว่าเราส่งไปแบบไม่มีมูลก็ไม่ได้ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.ด้วยเช่นกัน ว่า ป.ป.ช.ได้ศึกษาอย่างมีคุณภาพและถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ ก็จะมีลักษณะคล้ายกับกรณีที่ ป.ป.ช.เคยส่งคำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว แต่ตามกฎหมายใหม่จะมีความเข้มข้นมากกว่า หากหน่วยงานที่มีหน้าที่ได้รับข้อเสนอแนะแล้วไม่ดำเนินการตามก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ หากคณะรัฐมนตรีได้ข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. ก็อาจจะส่งหน่วยที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ แต่หากหน่วยงานนั้นๆ ทำตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ไม่ได้ก็จะต้องส่งคำชี้แจงกลับมายัง ป.ป.ช.

 

ที่มา : มติชนออนไลน์