‘สวนดุสิตโพล’ กางผลสำรวจคนไทยอยากได้ ส.ส.แบบไหน? ชี้โซเชียลมีเดียมาแรง !

วันที่ 23 กันยายน 2561 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศจำนวน 1,174 คน ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2561 เกี่ยวกับเรื่อง “คนไทยคิดอย่างไร? กับ การหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.” หลังจากที่ คสช.ประกาศคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ ยกเว้นการหาเสียงที่กำหนดห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโซเชียลมีเดีย กลายเป็นประเด็นร้อนที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากการเลือกตั้งอาจมีขึ้นในเดือน ก.พ. ปีหน้า ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องเร่งดำเนินการหาเสียงแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนัก

โดยในประเด็นคำถาม ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบใด จึงจะถูกใจประชาชน พบว่า 41.93% เห็นว่าควรเน้นสิ่งที่ทำได้จริง พูดแล้วทำจริง มีนโยบายทำเพื่อประชาชน 32.29% ลงพื้นที่จัดเวทีปราศรัย 23.27% เคารพกติกาไม่ใส่ร้ายกัน 21.80%

ส่วนคำถามเรื่อง “ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงแบบใด ที่ประชาชนไม่ชอบ โดย 35.92% ไม่ชอบให้มีการคุยโม้ โออวด ทำไม่ได้ตามที่พูดไว้ และอีก 34.24% ไม่ชอบให้ซื้อเสียง ติดสินบน กระทำผิดกฎหมาย อีก 25.84% หาเสียงด้วยวิธีการรบกวนผู้อื่น

กรณีคำถามเรื่องประชาชนคิดอย่างไร กับการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ผ่านทางสื่อโซเชียล โดย 48.15% มองว่าเป็นวิธีการที่ดี ทันสมัย ประหยัด อีก 34.57% มองว่าประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก 25.93% มองว่าควบคุมได้ยาก ตรวจสอบไม่ได้

ส่วนวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.แบบใดที่ถูกใจประชาชนมากที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่ 29.32% เห็นว่าควรตั้งเวทีปราศรัย อีก 26.00% มองว่าสื่อโซเชียลมีเดีย 25.13% เห็นว่าควรเคาะประตูบ้าน

ประเด็นเรื่องประชาชนชอบการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.บนเวทีหรือไม่ ส่วนใหญ่ 61.88% ชอบ และที่เหลืออีก 38.12% ไม่ชอบ

และสุดท้ายเมื่อถามว่า “สื่อ” ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ที่ประชาชนให้ความสนใจ พบว่า 33.85% สนใจสื่อโทรทัศน์ 27.55% ชอบสื่อบุคคล เช่นตัวผู้สมัคร หัวหน้าพรรค และอีก 20.70% สนใจโซเชียลมีเดีย