ภารกิจค้างท่อ คสช.-กม.ส่อแท้ง ปฏิวัติภาษี-แก้ทุจริต 4 ชั่วโคตร

กฎหมายที่เป็นเครื่องมือการลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง คือหัวใจและเข็มมุ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการอ้างทำรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อน

เข้าโค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หลังประกาศโรดแมปการเลือกตั้งเร็วสุดกุมภาพันธ์ 2562 อย่างช้าไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2562 เวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลใกล้งวดมาทุกขณะ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ-การปฏิรูป ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของ “พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ” กลับไม่มีความคืบหน้ามากนัก บางฉบับเร่งทำคลอดจนมือเป็นระวิงในช่วงโค้งสุดท้าย บางฉบับส่อแววว่าจะต่ออายุไปจนถึงมีรัฐบาลใหม่

กฎหมายผังเมืองใกล้คลอด

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ทั้งนี้ สนช.มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งมีการขยายเวลาการพิจารณามาแล้ว 3 ครั้ง รวม 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 ตุลาคม 2561 แต่เนื่องจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. … มีประเด็นสำคัญซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบและรอบด้าน รวมถึงประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุม สนช.จึงเห็นชอบขยายเวลาครั้งที่ 4 อีก 60 วัน

คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี ประธานคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. … กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ได้พิจารณาตัวร่างกฎหมายไปแล้วเป็นรอบที่ 2 แต่เนื่องจากใน กมธ.มีความเห็นที่แตกต่างกันหลายประเด็น บางมาตราอาจจะต้องลงมติกัน ซึ่งการขอขยายเวลาครั้งที่ 4 จะครบกำหนดในเดือนธันวาคม

“การพิจารณากฎหมายอาจจะดูว่าช้า แต่ยืนยันว่าพิจารณาอยู่ทุกสัปดาห์ ซึ่งกฎหมายเป็นกฎหมายที่สำคัญกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน มีจำนวนมาตราถึง 113 มาตราต้องรับฟังความเห็นกันให้ตกผลึก” คุณหญิงทรงสุดากล่าว

ภาษีที่ดินเลื่อน 9 ครั้ง ลากยาว 2 ปี

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … มีมติรับหลักการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 กมธ.วิสามัญได้ขอต่ออายุการพิจารณามาแล้วเป็นครั้งที่ 9 อีก 60 วัน เมื่อ 20 กันยายน 2561 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล แต่มีการขยายเวลาที่มากที่สุดในฝ่ายนิติบัญญัติชุดนี้

โดย กมธ.ให้เหตุผลการขยายเวลาครั้งที่ 9 ว่า เนื่องจาก กมธ.มีความจำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้รอบคอบ และพิจารณาถึงความพร้อมของหน่วยงานในการจัดทำกฎหมายลำดับรองหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ อันอาจเป็นเหตุให้การพิจารณาของ กมธ.ไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด จึงขอขยายเวลาดังกล่าว

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การคลัง ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้าที่จะมีการขยายเวลาครั้งที่ 9 ว่า อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดยังไม่มีความคืบหน้าและยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเริ่มใช้ได้วันที่ 1 ม.ค. 2562 ตามเป้าหมายเหมือนเดิมหรือไม่

กม.กำกับรัฐวิสาหกิจยื้อ 1 ปี

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … มีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อเช่นกัน ทั้งนี้
ที่ประชุม สนช.ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2560 โดยมีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. … อย่างไรก็ตาม กมธ.ได้ขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 6 ออกไปอีก 60 วัน โดยที่ประชุม สนช.เห็นชอบให้ขยายเวลาตามที่ กมธ.เสนอเมื่อ 20 กันยายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญ กล่าวถึงความคืบหน้าว่า กมธ.ประชุมเร่งรัดทุกสัปดาห์ แต่กฎหมายมีรายละเอียดค่อนข้างมากจึงต้องมีการปรับตัวเนื้อหากันพอสมควร แต่หลักใหญ่ที่เห็นสอดคล้องกัน คือ ให้มีซูเปอร์บอร์ดในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เช่น รูปแบบบรรษัท หรือให้มีคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลเหมือนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแน่นอน อย่างไรก็ตาม การพิจารณากฎหมายฉบับนี้ยังจำเป็นต้องขยายเวลาการพิจารณาเป็นครั้งที่ 7

กม.ผลประโยชน์ทับซ้อน 4 ชั่วโคตรส่อแท้ง

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … หรือกฎหมาย 4 ชั่วโคตรที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการขยายเวลาไปแล้ว 5 ครั้ง โดยที่ประชุม สนช.ได้อนุมัติขยายเวลาเมื่อ 2 สิงหาคม 2561

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวถึงความคืบหน้าว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาในการปรับแก้ตัวร่างกฎหมาย โดยเฉพาะเนื้อหาที่ซ้ำกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากร่างกฎหมายความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมมีการร่างขึ้นก่อน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ป.ป.ช.แต่กลายเป็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.บังคับใช้ก่อน ดังนั้น จึงต้องเคลียร์ว่าเนื้อหาตัวไหนที่ไปอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.จะต้องตัดออก

ด้าน นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ โฆษก กมธ. กล่าวว่า ทาง กมธ.ได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ รับฟังมาแล้ว 4 ภาค ล่าสุดไปลงพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วย

“ส่วนการพิจารณาในเนื้อหาหลายมาตรา กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว แต่ยังมีอีกหลายมาตราที่ยังไม่เห็นพ้องกันจึงต้องแขวนไว้เพื่อฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ยังไม่กล้ารับปากว่ากฎหมายดังกล่าวจะเสร็จทันในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ แต่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายเฉลิมชัยกล่าว

กม.เศรษฐกิจขอต่ออายุเพียบ

ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 โดยที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2560 โดยมีกำหนดเวลา 60 วัน ซึ่งภายหลังมีการขอขยายระยะเวลาการพิจารณามาแล้ว 5 ครั้ง โดยขอขยายเวลาเป็นกรณีพิเศษอีก 60 วัน เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะรัฐมนตรีกรณีการขอแก้ไขเพิ่มเติมขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้

ร่าง พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 สนช.มีมติรับหลักการเมื่อ 26 กรกฎาคม 2561 และให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่ทั้งนี้ กมธ.วิสามัญได้ขอขยายเวลาออกไปเป็นครั้งแรก 30 วัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ

ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่…) พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ซึ่งที่ประชุม สนช.ได้รับหลักการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 โดยมีกรอบการพิจารณา 60 วัน แต่เนื่องจาก กมธ.วิสามัญที่พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความถูกต้องและสมบูรณ์ จึงขอขยายเวลาออกไป 30 วัน

การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 โดยมีการขยายเวลามาแล้ว 3 ครั้ง ทั้งนี้ กมธ.ที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้เหตุผลการขอขยายเวลาครั้งล่าสุดว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีเนื้อหาสาระสำคัญและรายละเอียดหลายประการที่ต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ

นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ประชุมมีมติรับหลักการเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม กมธ.ได้มีการขยายเวลาออกไปแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งในการประชุม สนช.เมื่อ 24 สิงหาคม ที่ประชุมได้มีมติขยายเวลาครั้งที่ 4 ออกไป 60 วัน