“อิทธิพร” ชี้ ชงศาลรธน.วินิจฉัย รมต.ถือหุ้นสัมปทานรัฐขัดรัฐธรรมนูญ ต้องการให้เป็นบรรทัดฐาน “เรืองไกร” สบช่อง ลาก “บิ๊กตู่” ขึ้นเขียง เป็นเจ้าของสื่อ

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวยอมรับว่า กกต.ได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีถือหุ้นสัมปทานรัฐ เข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 170 วรรคสาม แต่ขอที่จะไม่เปิดเผยว่าเป็นการเห็นตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอหรือไม่ และ กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์หรือเสียงข้างมาก

“ในการพิจารณา ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการพิจารณาไปตามเนื้อหา รายละเอียดทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญพึ่งได้ตัดสินไป กกต.ก็คำนึงถึงศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในคำวินิจฉัยนั้นด้วย อันไหนเป็นกรณีเหมือนกัน เราก็ต้องมองไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มองเอาไว้ กรณีไหนคล้ายกันแต่ไม่ใช่โดยแท้ ก็จะถือว่ายังไม่เกี่ยวข้อง และอาจจะเป็นประเด็นที่เราเห็นว่า ยังไม่มีบรรทัดฐานชัดเจน ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า ที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด”

เมื่อถามว่า กรณีนี้ข้อเท็จจริงต่างจาก กรณีการถือครองหุ้นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไปแล้วว่าไม่ผิด และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยชัดเจนใช่หรือไม่ ประธานกกต.กล่าวว่า คงสรุปอย่างนั้นไม่ได้ แต่ละกรณีมีหลายประเด็น บางประเด็นก็เกี่ยวพัน หรือคล้ายกัน ส่วนระยะเวลาการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องตามหลักปฏิบัติโดยปกติ เมื่อผ่านเป็นมติ กกต.แล้ว ทางสำนักงาน กกต.ก็เนินการในขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีดังกล่าวนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบ เมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2561 โดยตามคำร้องระบุว่า ม.ล.ปนัดดา ได้แสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่ามีหุ้นของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. กว่า 6 พันหุ้น แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เหตุผลที่นายเรืองไกรอ้างในการยื่น กกต.ตรวจสอบย้อนหลังเพราะรัฐธรรมนูญ บัญญัติในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ จะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตามมาตรา 160 ประกอบ 187

ส่วนนายสุวิทย์ คำร้องระบุถือหุ้นในบริษัท GPSC หรือบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 9 หมื่นหุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ
ขณะที่นายไพรินทร์ และคู่สมรส ถือหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐโดยถือหุ้นใน บมจ. GPSC 5 หมื่นหุ้น บมจ. IRPC 2.4 แสนหุ้น บมจ ปตท. 5 พันหุ้น บมจ. พีทีที โกลบอล เคมีคอล 6 หมื่นหุ้น บมจ.ไทยออย 4 หมื่นหุ้น บมจ. กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมมท์ 3 แสนหุ้น บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ หมื่นหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง 2.6 หมื่นหุ้น

นพ.ธีระเกียรติ ถือหุ้นสัมปทาน SCG ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000 หุ้น
ขณะที่นายเรืองไกร ในฐานะผู้ยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งมติของ กกต.อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ตนกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ดำเนินการตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ของตนเอง เพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ กับพี่น้องประชาชนแล้ว พบว่า กรณีดังกล่าวอาจมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา และอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติห้ามนายกฯ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ถ้าเป็น ก็มีบทบัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว

ทั้งนี้คำว่า “สื่อมวลชน” มีความหมายเช่นใดนั้น นายกฯ ก็ต้องทราบดีมาก่อนแล้ว เห็นได้จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ก.ย.58 ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …ที่มีความในมาตรา 3 ระบุว่า “สื่อมวลชน” หมายความว่าสื่อกลางที่นำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใด ที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป

“นายกฯ ยังทราบถึงข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญแล้วด้วย ทั้งนี้ ตามความในหนังสือที่ นร 1503/ว(ร)157 ลงวันที่ 5 เม.ย.60 ข้อ 3.2.3 ลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี คือเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ดังนั้นเมื่อนายกฯ รู้กฎหมายอยู่แล้ว แต่ยังเปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์และเว็บไซต์ของตนเองเพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ กับพี่น้องประชาชน ย่อมถือว่าการฝ่าฝืนข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้ว และเข้าข่ายที่จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ดังนั้นในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เวลา 11.00 น. ผมจะไปยื่นเรื่องให้ กกต.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่” นายเรืองไกรกล่าว