พล.อ.เปรมโมเดล 2019 เดดล็อกรัฐบาลใหม่ “บิ๊กตู่” ลุ้นก๊อกสอง

ความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็น 1 ใน 3 รายชื่อบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง ถอยห่างออกไปทุกที

จากเสียงตบเท้าของแกนนำพรรค-ระดับเสนาบดีในรัฐบาล คสช. ที่เคยกาชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ใส่ไว้เป็น 1 ในบัญชีนายกฯ ของพลังประชารัฐ (พปชร.) เริ่มแผ่วเบาลงทุกขณะ

ยุทธศาสตร์ทหารราบ-เสียงเดินเท้าในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน-กลาง ของสมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-อนุชา นาคาศัย แกนนำพรรค จึงดังขึ้น-ถี่ขึ้นทุกระยะ

เมื่อคณิตศาสตร์การเมืองหลังเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่-กติกาการเลือกตั้ง แบบใหม่ ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก-ชนะแบบเด็ดขาด การจัดรัฐบาลหลังเลือกตั้งโดยยึดแบบ “เปรมโมเดล 2019” จึงเริ่มมีเค้าลางจากสูตร ส.ว.สรรหาโดย คสช. 250 คน

บวกกับ ส.ส. 251 คน (พปชร. 126 + พรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ 125 เสียง) หรือ 2 ใน 3 ของสองสภารวมกัน หรือไม่น้อยกว่า 500 คน จากทั้งหมด 750 คน เพื่อเปิดทาง-เลือกนายกฯคนนอก

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า-นักคณิตศาสตร์การเมืองตัวยง วิเคราะห์ความเป็นไปได้

ทางตัวเลขที่จะทำให้เกิดเดดล็อกเลือก “นายกฯในสภา” จนนำไปสู่การเปิดทาง “นายกฯคนนอก” ว่า พท.และเครือข่าย-พันธมิตรจะต้องได้ 376 จาก 750 เสียง ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก อย่างมากได้ 240 ไม่ถึง 250 เสียง นอกจากกระแสทักษิณแลนด์สไลด์

“เมื่อขั้ว พท.ไม่สามารถรวมได้ถึง 376 เสียง เมื่อ พปชร.ได้เสียงไม่ถึง 100 ปชป.มา 100 เสียง รวมกับพรรคขนาดกลาง-เล็ก รวมกันแล้ว 240 เสียง ต้องไปเลือกนายกฯคนนอกแน่ เพราะคะแนนขั้วฝั่งประชาธิปไตยกับพลังประชารัฐสูสีกัน”

“ดร.สติธร” ชี้ว่า นอกจาก พปชร.จะต้องรวมเสียงจากพรรคอื่นให้ได้ 251 คนแล้ว ยังต้องได้ที่นั่งของพรรค 126 เสียง  เพื่อ “โหวตโน” หรือ “บล็อกโหวต” และคุม 250 ส.ว.ไม่ให้แตกแถว เพื่อทำให้เกิด “เดดล็อก” ไม่สามารถรวมเสียงให้ถึง 376 เสียง เพื่อเลือก “นายกฯในสภา”

“รศ.สุขุม นวลสกุล” นักวิชาการ-นักรัฐศาสตร์ อดีตที่ปรึกษาทางการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ฉายภาพการเกิดของ “เปรมโมเดล 2019” ว่า มีสิทธิ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯนอกบัญชีพรรคการเมือง-นายกฯก๊อกสอง

“พปชร.ทำทะเล่อทะล่าเหมือนที่ทำอยู่ ออฟไซด์มาก ๆ ท่าน (พล.อ.ประยุทธ์) เสียนะ และถ้าท่านยอมไปอยู่ในบัญชีนายกฯ จะโดนคำบีบว่า จะอยู่ในตำแหน่งระหว่างเลือกตั้งเหรอ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเลือกจังหวะสองแทน”

“ถ้าเข้ามาวาระสองก็ไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณใคร แต่ดู ๆ แล้ว ก็ลำบากทั้งสองก๊อก เพียงแต่ก๊อกสองเปลืองตัวน้อยกว่าก๊อกแรก เพราะฝืนธรรมชาติ”

“รศ.สุขุม” มองข้ามชอต-เลวร้ายที่สุด คือ “ก๊อกที่สาม” คือ อำนาจการยุบสภา

“รัฐบาลนี้ถูกวางไว้เป็นรัฐบาลเต็มตัว ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ฉะนั้น ถ้าถึงไม้สุดท้ายขึ้นมา สามารถยุบสภาได้ คนได้เป็น ส.ส.ไม่อยากให้ยุบหรอกนะ”

“รศ.สุขุม” ชี้ความแตกต่างระหว่างก๊อกหนึ่งกับก๊อกสอง คือ ก๊อกสองมีตัวเลขแล้วทำให้ง่ายขึ้นที่จะเปิดทางให้เกิดนายกฯคนนอก แต่ก็จะได้รัฐบาลที่เกิดการ “ต่อรอง” กัน “หนักข้อ” จนอาจจะเกิด “งูเห่า” ขึ้นได้

“ก๊อกหนึ่ง ปชป.ขอสู้เต็มที่ เขาจึงไม่มั่นใจว่าก๊อกหนึ่งจะได้ จึงต้องลุ้นก๊อกสอง เพราะถ้าคะแนนออกมาแล้ว ปชป.ไม่ได้คะแนนเป็นที่สอง แต่กลายเป็นที่สาม อาจจะพูดอะไรกันได้มากขึ้น ง่ายขึ้น เพราะ ปชป.ไม่รับ พท.แน่นอน”

ความแตกต่างระหว่าง “เปรมโมเดล” ในยุคอดีต กับ “เปรมโมเดล 2019” คืออะไร ? รัฐบาล พล.อ.เปรมบริหารงานราบรื่น เพราะ “คีย์แมน” กระทรวงต่าง ๆ

ยังเป็นคนของ พล.อ.เปรม แต่หนนี้มีการวางแผนให้ พท.เป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ต้น ทำให้การบริหารงานทุลักทุเล-เกิดการต่อรองเหมือนในยุคจอมพลถนอม

“สมัย พล.อ.เปรม ก๊อกสองเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่นี่ก๊อกสองวางแผนไว้”


“ถ้า พปชร.ได้เสียงต่ำกว่า 50 กำลังต่อรองก็จะน้อยลงไปเยอะ ถ้าได้ต่ำกว่า ปชป. ก๊อกแรกก็ป่วนเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะลงอยู่กับ พปชร. ก็ต้องแน่ใจว่าคะแนนชนะ ปชป.” รศ.สุขุมทิ้งท้าย